The Prachakorn

แนะนำหนังสือ “หน้าจอ-โลกจริง : สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล”


นงเยาว์ บุญเจริญ

26 พฤศจิกายน 2567
9



ถึงเวลาเพิ่มแสงหน้าจอ หรี่เสียงวิพากษ์ เบาคำวิจารณ์ และขจัดความเข้าใจผิด

“หน้าจอ-โลกจริง : สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล” เป็นหนังสือแปลจากเรื่อง The art of screen time : how your family can balance digital media and real life ของผู้เขียน อันยา คาเมเนตซ์ (Anya Kamenetz) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยี และเป็นคุณแม่ลูกสอง แปลโดย บุณยนุช ชมแป้นหนังสือเล่มนี้จะพาพวกเราไปทำความรู้จักสื่อยุคใหม่ ในมุมมองที่เปิดกว้างแบบไร้อคติ ไม่มีความตื่นตระหนก ผ่านหลักฐานทางวิชาการที่ใช้ในการอ้างอิงและประสบการณ์ตรงจากหลายครอบครัว พร้อมไขข้อสงสัยหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้หน้าจอ เพื่อช่วยหาจุดสมดุลระหว่าง “หน้าจอ-โลกจริง” ที่เหมาะสมของครอบครัวในยุคดิจิทัล ช่วยให้การใช้หน้าจอเกิดบรรยากาศแห่งความสุข ความสนุกสนาน ความไว้วางใจ และการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมถึงการเคารพพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ผู้เขียนชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครอง นักศึกษา รวมถึงนักวิจัยด้านสื่อ ช่วยกันสางปมปัญหาว่าด้วยบทบาทและผลกระทบของ “หน้าจอ” ที่อาจกลายเป็นต้นเหตุของโรคยอดฮิตของเด็กสมัยใหม่ เช่น โรคอ้วน โรคซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับ สมาธิสั้น

หนังสือเล่มนี้ มีเนื้อหาด้านการพัฒนาเด็กเยาวชน และครอบครัว รวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เป็นองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตครอบครัวยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และแวดวงการศึกษา นำไปประกอบเป็นทางเลือกในการตัดสินใจ เพื่อให้มีชีวิตครอบครัวในสังคมยุคดิจิทัลอย่างรู้รอดปลอดภัย โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค

ภาค 1 เด็ก และหน้าจอ

การเลี้ยงลูกยุคดิจิทัลในโลกแห่งความจริง เด็กสมัยใหม่ที่ต้องทันกับเทคโนโลยี AR, VR, AI, MR และ IoT ที่แทรกซึมอยู่รอบตัวทุกหนแห่ง ทำให้โดยเฉลี่ยเด็กสมัยใหม่เริ่มสัมผัสสื่อดิจิทัลครั้งแรกตอนอายุประมาณสี่เดือน ขณะที่ในช่วงทศวรรษ 1970 อายุเฉลี่ยของเด็กที่ได้สัมผัสกับสื่อครั้งแรกคือวัยสี่ขวบดังนั้น การเลี้ยงดูลูกในยุคดิจิทัล อาจไม่ได้มองเพียงการใช้หน้าจอของลูกๆ เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการใช้สื่อดิจิทัลของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย ด้วยคุณลักษณะของอุปกรณ์แบบเคลื่อนที่สามารถพกพาติดตัวได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา หน้าจอสัมผัสและใช้งานง่าย สร้างอิทธิพลต่อการชักนำ สร้างความหมกมุ่นให้เด็ก และ “เร่งเร้า” หรือ “กระตุ้น” สมองที่กำลังพัฒนาอย่างไม่เหมาะสมเด็กที่รับสื่อตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่า พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรจำกัดและควบคุมการใช้งานหน้าจอให้เหมาะสม และสามารถออกแบบกลยุทธ์การใช้หน้าจอที่เหมาะสมกับครอบครัวได้ ด้วยการมองหาภัยอันตรายที่มากับความเสี่ยง เช่น ปัญหาด้านสมาธิ ด้านน้ำหนักตัว การนอนหลับ การเรียนรู้ทางวิชาการและปัญหาด้านสภาวะอารมณ์ จากนั้นสำรวจบทบาทของสื่อต่อความรู้สึกของคนในครอบครัว เพราะหน้าจออาจทำให้หลายบ้านมีความอบอุ่นยิ่งขึ้นจากความสนุกสนาน ความแปลกใหม่ และความตื่นเต้น พ่อแม่จึงต้องรู้จักกำหนดและยอมรับกฎกติกาที่ทำได้จริงและปรับเปลี่ยนอย่างสมเหตุสมผลตามสถานการณ์ สุดท้าย ประเมินและปรับพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ในครอบครัว ด้วยการจำกัดการใช้งานตามเวลา สถานที่ โอกาส และเนื้อหา ตามลำดับความสำคัญหรือประเภทการใช้งาน ควบคู่กับการเคลื่อนไหวร่างกาย ยืดเส้นยืดสายนอกบ้านการมีกิจกรรมและมีส่วนร่วมระหว่างครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ความท้าทายที่ผู้เขียนต้องการให้ค้นหาและปล่อยให้ตัวเองมี “ความสุข” กับการดูหน้าจอกับลูกๆ จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ และสติปัญญา ถักทอสายสัมพันธ์คนไกลบ้านหรือภายในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น เพียงพ่อแม่เลือกที่จะออกแบบในสิ่งที่ต้องการและเพิ่มความใส่ใจ

ภาค 2 อุปกรณ์ของเราเอง: พ่อแม่และหน้าจอ

เพื่อให้แน่ใจว่าลูกตัดสินใจและใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ผ่านหน้าจอได้ถูกต้อง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องปรับบทบาทเป็นนักจัดการสื่อ ที่ไม่ใช่การกำกับควบคุม แต่คอยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อ เป็นเสมือนเพื่อน มีส่วนร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกและเรื่องราวต่าง ๆ กำหนดกติการ่วมกันเพื่อสร้างวินัยและแบ่งเวลาทำกิจกรรมอื่นที่เหมาะสมกับช่วงวัย

“จงสนุกกับการใช้หน้าจอ อย่าใช้มากเกินไปและขอให้ใช้ด้วยกันในครอบครัวให้มาก”


ที่มา: คาเมเนตซ์, อันยา. (2563). หน้าจอ-โลกจริง : สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล. กรุงเทพฯ : บุ๊คสเคป.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th