“...เขา (ลูก) บอกว่า เขา (ครู) บังคับ บังคับเรื่อย ๆ ...”
เสียงสั่นเครือบ่งบอกสรรพอารมณ์เกินจะพรรณนาของ เพ็ญ แม่ของเด็กชายวัย 14 ปีผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวบริเวณหน้าสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา (ข่าวเช้าเวิร์คพอยท์, 2567, ออนไลน์)
เรื่องราวของ “บอล” (นามสมมติ) เกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณ 2 ปีก่อน บอลเป็นนักเรียนชั้นมัธยมกำลังศึกษาที่โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ได้รับการทาบทามจาก “ครูวิชาดนตรี” ให้เรียนพิเศษกับตนเพื่อเพิ่มทักษะและความสามารถทางด้านดนตรี ทั้งขณะเปิดและปิดภาคการศึกษา ทำให้บอลต้องมีโอกาสไปพักค้างอ้างแรมกับครูผู้นี้อยู่บ่อยครั้ง “ร่างกาย” ของบอลวัย 14 ปี เธอมีเพียงแค่สถานะและอำนาจที่สังคมมอบให้เพียงน้อยนิดคือ “นักเรียน” เป็นเครื่องต่อรองของชีวิต กลับกันกายและใจของเธอถูกแต่งแต้มไปด้วยทรมานอารมณ์เพียงเพื่อสนอง “กามตันหา” อันมากล้นและโหดร้ายเกินพรรณนาของครู บอลเผยถึงช่วงเวลาดังกล่าวที่ตนต้องจำยอมเผชิญหน้ากับความระทมทุกข์นานาประการ เพียงเป็นผลเพื่อให้บรรลุความใคร่แก่ครูผู้นั้น ผ่านทางปากและทวารหนักซึ่งเธอประมาณการไว้ว่ามากกว่า 100 ครั้ง ทั้งยังมีการบันทึกคลิป ภาพ และเสียงไว้ในโทรศัพท์ของครูอีกด้วย ลุล่วงถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 บอลตัดสินใจแจ้งเรื่องนี้แก่แม่ผู้เป็นความหวังสุดท้ายของเธอ หลังจากต้องจำทนกับการทารุณกรรมทางร่างกายจากครูของตนเองกว่า 2 ปี
ผลจากการสืบสวนเบื้องต้นจากการตรวจสอบโทรศัพท์และอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการบันทึกภาพอนาจารเด็กและผู้เสียหายรายอื่น ๆ จำนวนไม่น้อยซึ่งสอดคล้องกับบอกเล่าของบอลและปัจจุบันได้ทำการส่งตัวบอลไปยังโรงพยาบาลตำรวจแล้วเพื่อนำผลทางนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบในการพิจารณาคดี
ตัดภาพไปโรงเรียนของบอลพบว่า ได้มีการพูดคุยระหว่างผู้ปกครองของบอลเรียบร้อยแล้ว และทางโรงเรียนแจ้งว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 6-7 เดือน ถือเป็นระยะเวลาอันยาวนานจนทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ผู้ปกครอง อย่างไรก็ตามต้องติดตามและผู้เขียนเป็นกำลังใจโดยเฉพาะสภาพจิตใจของบอลและครอบครัวต่อไป (SANOOK, 2567, ออนไลน์)
มาถึงตรงนี้เรารู้สึกและเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวอันแสนจะทรมานกายและใจของบอลได้บ้าง สำหรับผู้เขียนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโทสะคติได้เข้าครอบงำทั่วทั้งสรรพางค์เรียบร้อยแล้ว แต่ประการหนึ่งที่ได้รับรู้เหนือกว่าอารมณ์แห่งความทุกขเวทนาของบอลครานี้คือ การที่เยาวชนผู้หนึ่งต้องจำยอมเผชิญหน้ากับ ความรุนแรงอันมิพึงปรารถนา นานัปการอันมิอาจดลจิตให้ปลาสนาการภายในพริบตาไปได้ ถึง 2 ปี
การที่ผู้เขียนนิยามและให้ความหมายถึงสิ่งที่บอลได้รับทั้งทางกายและใจของบอลว่าเป็นผลจากความรุนแรงนั้น ผู้เขียนจะขอนำเสนอให้ชัดมากขึ้นผ่านทฤษฎีความรุนแรงของ โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) (1996) ซึ่งได้ชี้ให้เห็นความรุนแรง 3 แบบ (ภาพที่ 1) ประกอบด้วย
ภาพที่ 1 สามเหลี่ยมความรุนแรงของโยฮัล กัลตุง (Galtung, 1996)
โดยผู้เขียนจะใคร่ขอกล่าวในส่วนความรุนแรงทางตรง จากนั้นจึงจะนำเสนอในรูปแบบความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในภายหลัง
ความรุนแรงทางตรง หรือ Direct Violence มีความหมายว่าด้วยความรุนแรงที่จากการกระทำทางกาย อาทิ การยิง ฆาตกรรม และการระเบิด เป็นต้น (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2557, น.47) แน่นอนว่าบอลก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกกระทำความรุนแรงประเภทนี้อย่างตรงไปตรงมากว่า 105 ครั้ง (SANOOK, 2567, ออนไลน์) รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายเพื่อจุดประสงค์ในการสำเร็จความใคร่อย่างซาดิสม์ จนกลายเป็นสาเหตุให้บอลเลือกที่จะเผยความจริงแก่แม่ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลกระทบจากความรุนแรงทางตรงมิได้กระทบเพียงกายภายนอกของบอลเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสุขภาพจิตใจให้บอบช้ำตามไปด้วย
ความรุนแรงประเภทต่อมาคือ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หรือ Structural Violence มีความหมายถึง ความรุนแรงซึ่งมิได้จำกัดความไว้ที่ตัวบุคคลแต่มีอำนาจส่งผลให้ชีวิตเหล่าผู้ใช้ชีวิตในสังคมมีความไม่เสมอกันในทางอำนาจและโอกาสในการใช้ชีวิต (Galtung, 1959, p. 170-171 อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2557, น. 59-62)
ความรุนแรงประเภทนี้ได้สำแดงชัดเจนผ่าน การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบของโรงเรียน ซึ่งแม้ว่าจะได้รับคำยืนยันจากคณะผู้บริหารในการตรวจสอบเพื่อมอบความยุติธรรมแก่นักเรียนและผู้ปกครอง แต่ขณะเดียวกันกลับ ใช้เวลาถึง 6-7 เดือน ในการตรวจสอบ แน่นอนว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมอย่างที่ วิลเลียม แกล็ดสโตน (William Gladstone, 1868) กล่าวว่า
ยังมีแนวโน้มของการจ่าย “ค่าทำขวัญ” เพื่อมุ่งหวังให้จบเรื่องจบราวและครูผู้ก่อเหตุจะสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติแถมยังพยายามโน้มน้าวให้ครอบครัวผู้ถูกกระทำเชื่อว่าการแจ้งตำรวจจะก่อให้เกิดความยุ่งยากเกินความจำเป็น สิ่งใดที่ประนีประนอมได้ก็ควรจะประนีประนอมกันมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมเช่นนี้สะท้อนสภาพจิตที่ไร้อารมณ์ของความเป็นมนุษย์เพราะนอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุแล้วยังเป็น การอนุญาตและมอบความชอบธรรม ให้ผู้ก่อเหตุกระทำการอย่างนั้นต่อไปอีกด้วย
นอกเสียจากประเด็นการใช้ระยะเวลาตรวจสอบยาวนานแล้วอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ การมีพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน เพราะตามคำบอกเล่าของผู้ถูกกระทำกล่าวว่า ห้องเรียนดนตรีไทย และโรงอาหารคือจุดที่ใช้ในการล่วงละเมิดทางเพศมาโดยตลอด สิ่งที่น่าเจ็บแค้นใจเป็นที่สุดคือแม้แต่โรงเรียนยังไม่สามารถปกป้องความรุนแรงให้แก่นักเรียนผู้อยู่ภายใต้ความดูแลของโรงเรียนได้ กลับกันสถานศึกษากลับจำแลงกายแปลงเป็นพื้นที่ปลอดภัยและอำนวยความสะดวกสำหรับครูผู้ก่อเหตุมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตามประเด็นการมีพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนมิใช้ประเด็นใหม่อันพิสดารหรือแปลกประหลาดอะไรมากมาย มิหนำซ้ำยังเป็นประเด็นที่ได้รับการบรรจุไว้ในเอกสารระดับนโยบายสำคัญของแผ่นดินแทบทั้งสิ้น อาทิ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยด้านความมั่นคง (สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2561, น. 10) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ หัวข้อย่อยที่ 2.3 คนทุกช่วงวัยได้รับการศึกษา การดูแลและป้องกันจากภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2560, น. ซ) หรือแม้กระทั่งประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2564, ออนไลน์) – 2567 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2565, ออนไลน์) และเอกสารอื่น ๆ อันมีความเกี่ยวพันกับการส่งเสริมความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งหากทุกท่านได้พินิจปีพ.ศ. จะทราบว่าเรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องใหม่อะไรและยังทับซ้อนระยะเวลาเดียวกับเหตุการณ์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัยของความเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ
ผู้เขียนจึงเกิดคำถามขึ้นว่า “เราจะสามารถบรรลุความมุ่งหมายและหลักการของการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ว่าด้วย ต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ได้อย่างไร ในเมื่อสภาวะปกติและปลอดภัยในสถานศึกษาให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ ยังมิสามารถสร้างได้ หรือที่จริงแล้วเป็นเพียงถ้อยวลีสวยงาม ปลอมแปลงขึ้นให้เปลือกดูงามแต่เพียงเท่านั้นหาได้แยแสต่อสิ่งปลุกเร้าเน่าเหม็นใด ๆ ภายในสถานศึกษาอีกแล้ว”
หากเป็นเช่นนั้นโครงสร้างเหล่านี้มิเพียงแสร้งนิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม แต่กำลังอนุญาติและเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำความรุนแรงเหล่านี้ให้ยังมีชีวิตอยู่ได้ในสถานศึกษาต่อไป ตามที่เพลโตกล่าวว่า
ภาพที่ 2 นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2565)
ภาพที่ 3 นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2566)
สุดท้ายคือ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม หรือ Cultural Violence หมายถึง แนวคิดใด ๆ ก็ตามทั้งความเชื่อทางศาสนา ประเพณี หรือวิทยาศาสตร์ อันมีส่วนในการรับรอง หนุนเสริม ความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง ครอบงำความรุนแรงนั้นให้กลายเป็นเรื่องปกติ เหมาะสม และถูกต้อง (Galtung, 1993, p. 37-79 อ้างถึงใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2557, น. 71-72) โดยในเหตุการณ์นี้ผู้เขียนขอจำแนกความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมออกเป็น 2 ลักษณะสำคัญ ได้แก่ 1. วัฒนธรรมการทำให้ครูกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และ 2. วัฒนธรรมการทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (2563, ออนไลน์) ได้อธิบายถึงวัฒนธรรมการทำครูให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไว้อย่างน่าสนใจว่า เนื่องจากสถานะของครูแต่เดิมในสังคมไทยมิได้หมายถึงครูที่เป็นมนุษย์ แต่หมายถึงครูซึ่งมีสถานะเป็น “ผี” ผู้ให้ความรู้และประสิทธิ์ประสาทวิชาแก่มนุษย์ ดังจะพบเห็นได้ในครูนาฏศิลป์ หรือครูหนังสือ เป็นต้น ส่วนการบูชาครูก็จะเป็นลักษณะเพื่อการบูชาครูที่เป็นผี มิใช่มนุษย์ ส่วนการไหว้ครูมนุษย์เป็นการไหว้ที่มีการประดิษฐ์ในภายหลังช่วงกลางยุคกรุงเทพฯ จึงนำมาสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านครู ให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ควรค่าแก่การละเมิดใด ๆ
หากผู้อ่านถามว่าวัฒนธรรมนี้สัมพันธ์อย่างไรกับเหตุการณ์ข้างต้น ผู้เขียนขอให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมเช่นนี้ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นประหนึ่งเจ้าชีวิตกับทาสสามารถให้คุณและโทษในทางใด ๆ ก็ย่อมได้ ทั้งยังหนุนเสริมสถานะ “ครู” ให้อยู่สูงเสียดฟ้ามิมีมลทินใด ๆ จะมามัวหมองครูผู้การุณย์ผู้นี้ได้ จึงไม่แปลกที่บอลจะเลือกบอกแม่ในวันที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสในวันที่ถูกกระทำมากกว่า 2 ปี เช่นเดียวกันกับแม่ที่เลือกจะเชื่อและไว้วางใจครูด้วยทั้งเหตุข้างต้นและเหตุผลอีกประการคือครูยังคงสถานะเป็น “ตัวแทนคุณงามความดี” ของสังคมอีกด้วย ตามคำที่แม่ได้กล่าวว่า “...ในกรณีนี้แม่ก็ไว้ใจครู เพราะครูน่าศรัทธา...”
ประการที่สองคือวัฒนธรรมการทำให้การล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องปกติ หากดูจากพฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุจะพบว่า การกระทำร่วมกับบอลในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและยังมีการค้นพบวิดิโอของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น ๆ ในโทรศัพท์เละเครื่องมือเทคโนโลยีอีกกว่า 105 คลิป แต่ความน่าอัปยศอดสูมิได้จบเพียงเท่านี้เพราะบุคลากรทางการศึกษาคนอื่น ๆ ก็ต่างแสดงออกด้วยอารมณ์ที่ดาษดื่น ชินชา มิได้รู้สึกรู้สาอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะแน่นอนว่าหากเป็นผู้ที่มีความไหวรู้และมิทนต่อความยุติธรรมคงต้องส่งเสียงหรือความไม่พอใจออกมาทางประสาทสัมผัสใด ๆ บ้าง แต่ก็กลับเงียบและทำตัวปกติราวกับกำลังอนุญาตและเห็นดีเห็นงามกับเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วย
ภาพที่ 4 โครงสร้างความรุนแรง (พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, 2562)
การอยู่รอดของความมิไหวรู้ต่อความรุนแรงในการล่วงละเมิดทางเพศในสังคมไทยมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยฉาบฉวย ไร้รากเหง้า และที่มาที่ไป หากแต่มีที่มาและได้รับความชอบธรรมเป็นอย่างมากจากวัฒนธรรมอำนาจชายเป็นใหญ่ ดังภาพที่ 4 ได้อธิบายโครงสร้างความรุนแรงที่พัฒนาโดย พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ (2562) ได้เสนอถึงการที่วัฒนธรรมประเภทนี้ทำงานผ่านสถาบันหลักทางสังคม ได้แก่ สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สถาบันสาธารณสุข สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สถาบันศาสนา และสถาบันสื่อ
อย่างในสถาบันสื่อ สถาบันเช่นนี้ทำหน้าที่อย่างขะมักเขม้นในการนำเสนอภาพยนตร์ ละคร โดยให้คุณค่ากับการล่วงละเมิดทางเพศและมองว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งปกติพบเห็นได้ทั่วไปในสื่อต่าง ๆ ของไทย อย่างฉากการข่มขืนของพระเอกกับนางเอกในละครหลายเรื่อง แล้วสุดท้ายนางเอกก็เห็นดีเห็นงาม แต่งงาน และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาอย่างมีความสุข
ในกรณีนี้ผู้อ่านอาจจะเห็นเพียงการทำงานของสถาบันเดียว แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงสถาบันทั้งปวงนี้กลับทำงานพร้อมกันและหล่อหลอมอารมณ์แห่งทัศนคติแห่งความชินชาต่อความรุนแรงออกมา หนทางหนึ่งที่เราจะรอดจากความชินชาคือการ “เอ๊ะ” และตั้งคำถามกับสิ่งนั้น ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการตรวจสอบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น ๆ แล้วยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจของรากเหง้าความรุนแรงทางวัฒนธรรมในทางหนึ่งอีกด้วย
ภาพที่ 5 สถิติการล่วงละเมิดทางเพศ ปี 2564-2566 (ไทยรัฐ, 2566)
แน่นอนว่าบอลมิใช่ผลผลิตรายเดียวของความรุนแรงในสังคมแห่งนี้ เพราะเมื่อพิจารณาจากภาพที่ 5 จะเห็นว่าสถิติการล่วงละเมิดทางเพศในประเทศไทยจากข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยถึงระดับที่น่าเป็นห่วง ยิ่งไปกว่านั้นคือกลุ่มผู้ถูกกระทำถูกเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชนถึง 1,097 ราย และสามารถอนุมานได้ว่าในทุก ๆ วันต้องมีเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มอีก 1 ราย ซ้ำร้ายอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนยังเสริมว่า ยังมีการคาดการณ์ถึงจำนวนเยาวชนถูกล่วงละเมิดทางเพศแต่ไม่สามารถออกมาร้องเรียนได้อีกพอสมควร อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงการล่วงละเมิดทางเพศในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุซึ่งก็ยังเป็นประเด็นที่สมควรแก่การติดตามต่อไป
มาถึงตรงนี้ ประโยคและวลีทั้งปวงที่ผู้เขียนที่พยายามอรรถาธิบายทั้งหมดนี้ก็คงมิสามารถทดแทนรสชาติของความเจ็บปวดและความทุกข์ระทมอันแสนสาหัสทั้งทางกายและใจของบอลและผู้ถูกกระทำทั้งหมดได้ แต่ถึงอย่างไรผู้เขียนหวังว่าบทความเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทยโดยใช้เหตุการณ์ของบอลเป็นกรณีศึกษา เรื่องราวและสถิติอันน่าอัปยศอดสูที่ทุกท่านได้อ่านมาถึงตรงนี้เป็นสะท้อนใจผู้เขียนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือ ซ่องจำแลง กันแน่ แล้วเราจะเป็นมนุษย์ร่วมสังคมอย่างไรมิให้สังคมกลายเป็นซ่องที่ถูกจำแลงขึ้น เราจะอยู่ในด้วยความสงบเรียบเฉยและอนุญาติให้ผู้อื่นล่วงละเมิดทางเพศบุคคลอื่นที่มิใช่พี่น้องวงศาคนาญาติของตน หรือจะเป็นผู้ที่โกรธแค้นต่อความอยุติธรรมและลุกขึ้นมาฝันที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ตนอยู่ให้ดีกว่าเดิม ตามคำของเช เกวาราว่า (American University, 2024)
กิตติกรรมประกาศ
โครงการบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ยุค AI รุ่นที่ 6 จัดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
เอกสารอ้างอิง