วัยสูงอายุ เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม โดยจากข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะในปี 2543 มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียงร้อยละ 9.5 ของประชากรทั้งประเทศ และเมื่อคาดการณ์ไปในอนาคต พบว่าปี 2573 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) นั่นคือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2583 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปสูงถึงร้อยละ 31.4 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่า ประเทศไทยอยู่ในระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (Super – aged society) (กองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564: 2) ดังนั้นผู้เขียนจึงให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้สูงอายุและขอนำมาเล่าผ่านบทความสั้น
เมื่อพูดถึงผู้สูงอายุคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า ผู้สูงอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและแน่นอนว่าทุกคนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุทุกคนจะต้องต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย คือ เริ่มจะมีความเสื่อมลงทางด้านร่างกายรวมไปถึงด้านจิตใจของผู้สูงอายุด้วย เช่น เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้วอารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุที่ไวต่อสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายในซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตและปัญหาเรื้อรังอื่นๆ วัยสูงอายุจึงเป็นวัยที่เปราะบางและสมควรได้รับการดูแลอย่างเป็นพิเศษ เช่น จากครอบครัว ลูก หลาน หรือคนใกล้ชิด
ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้สูงอายุถ้าเลือกได้ก็คงจะอยากอาศัยอยู่ในบ้านกับครอบครัวมากกว่าการไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา เพราะการอาศัยอยู่ร่วมกับลูกหลาน ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอบอุ่นสบายใจไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้งจากครอบครัว ในบางครอบครัวเมื่อผู้สูงอายุไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ ลูกหลานจึงได้จ้างคนมาดูแลถึงที่บ้านและเมื่อลูกหลานที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านเลิกงานและกลับมาถึงบ้านแล้วจึงสามารถมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้านได้ จึงทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความสุขและอบอุ่น
ปัญหาที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะต้องพบเจอและทำใจได้ค่อนข้างยาก มีดังนี้ 1) การสูญเสียและพลัดพรากจากบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น คู่ชีวิต เพื่อน สมาชิกในครอบครัว 2) ความรู้สึกเศร้าและกังวลว่าตนเองจะถึงแก่ความตายในอนาคตอันใกล้ 3) ความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตเนื่องจากไม่ได้ทำงาน สภาวะทางการเงินเปลี่ยนแปลงไป การขาดรายได้ การสูญเสียสถานภาพและบทบาททางสังคม 4) การรู้สึกว่าตนเองต้องเป็นภาระ ความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ น้อยใจ กลัวถูกทอดทิ้ง ฟุ้งซ่าน 5) การคิดซ้ำๆ เกี่ยวกับเรื่องในอดีต อยากกลับไปแก้ไขเหตุการณ์บางอย่าง 6) การเก็บตัว ปลีกวิเวก ไม่กล้าเข้าสังคม (บริษัท อายุวัฒน์ เนอร์สซิ่งโฮม, 2563) ปัญหาทั้ง 6 อย่างนี้เป็นปัญหาที่พบเจอได้ทุกเพศทุกวัย เช่น ในวัยกลางคนสามารถพบเจอปัญหาเหล่านี้ได้เหมือนกัน เช่น ปัญหาการสูญเสียและพลัดพรากจากบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัว แต่สำหรับวัยกลางคนนั้นผู้เขียนคิดว่าคนวัยนี้มีภาวะจิตใจที่ค่อนข้างเข้มแข็งมากกว่าผู้สูงอายุ อาจเป็นเพราะว่าช่วงวัยกลางคนเป็นช่วงที่มีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำ เช่น การออกไปทำงานนอกบ้าน การพบปะเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นจึงทำให้ความซึมเศร้าหรือภาวะฟุ้งซ่านเกิดขึ้นได้น้อยลงกว่าผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุนั้นปัญหาทั้ง 6 ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ค่อนข้างจะมีจิตใจที่อ่อนไหวง่ายต่อสิ่งเร้าต่างๆ เมื่อพบเจอปัญหาต่างๆ ในชีวิตก็มักจะมีความวิตกกังวลสูง คิดมาก หรือคิดฟุ้งซ่านค่อนข้างมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน เพราะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุไปแล้วผู้สูงอายุบางคนก็อาจจะอยู่ติดบ้านมากกว่าถึงแม้จะเป็นผู้ที่ยังสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ก็ตาม แต่โอกาสในการไปทำกิจกรรมต่างๆ ในสังคมก็จะลดน้อยลงกว่าตอนช่วงอายุวัยกลางคน ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากเสนอแนะแนวทางการดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้แจ่มใสเพื่อพัฒนาจิตใจของผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตใจที่เข้มแข็งมากขึ้น
ที่มา https://www.freepix.com
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุบางคนอาจมีปัญหาต่างๆ ทางด้านร่างกายและจิตใจตามมา ผู้เขียนจึงคิดว่าสมาชิกในครอบครัวควรจะให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างเป็นพิเศษ เพราะสมาชิกในครอบครัวโดยส่วนใหญ่จะมีความใกล้ชิดและมีความผูกพันธ์ทางด้านจิตใจกับผู้สูงอายุมากกว่าบุคคลภายนอก ซึ่งผู้สูงอายุนั้นต้องการความรัก ความเข้าใจ จากคนในครอบครัว ซึ่งถ้าผู้สูงอายุนั้นมีสุขภาพจิตที่ดีและสมบูรณ์ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุหันมาดูแลเอาใจใส่ด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วย ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าการส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตที่ดีก็จะมีผลดีด้านอื่นๆ ตามมาด้วย
อ้างอิง