The Prachakorn

ผู้สอน Gen Baby Boomer และ Gen X ควรสอนผู้เรียน GenY และ Gen Z อย่างไร?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

01 พฤศจิกายน 2567
142



ผู้เขียนได้เข้าร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านการศึกษาในหัวข้อ “ทักษะสำคัญในการสอนผู้เรียนต่างวัย” ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม จึงอยากแบ่งปันความรู้จากการอบรมครั้งนี้

ก่อนอื่นผู้เขียนขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Gen ต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละ Gen1

กลุ่มที่ 1 Baby Boomer (BB) หรืออีกนัยหนึ่งคือ กลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งได้แก่ กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2489-2507 กลุ่ม BB ถูกมองว่าเป็น "ผู้ที่ทำงานหนัก " มีอุดมคติ มุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และต้องการความเคารพในผลงานของพวกเขา ตัวชี้วัดประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา คือ มีชีวิตเพื่อการทำงาน อดทนให้ความสำคัญกับผลงานแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว มีความทุ่มเทกับการทำงานและองค์กรมาก อัตลักษณ์ของพวกเขามักจะเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับอาชีพของพวกเขา

กลุ่มที่ 2 Gen X คือกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2508-2522 กลุ่มนี้ถูกมองว่าพึ่งพาตนเองได้ดี ไม่ชอบการใช้อิทธิพลหรืออำนาจ ศรัทธาในตัวเอง หลายคนเติบโตมาพร้อมกับพ่อแม่ที่ทำงานหนัก เป็นคนที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (individualistic) พวกเขาให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน พวกเขาเชื่อในการให้คนอื่นประเมินพวกเขาจากความสำเร็จของงานของตัวเอง มากกว่าปริมาณเวลาที่ใช้ไปกับการทำงาน และมักจะตรงไปตรงมาและพูดจาเปิดเผย

กลุ่มที่ 3 Gen Y กลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2523-2538 คนกลุ่มนี้ถูกมองว่ามีความมั่นใจในตัวเอง มองโลกในแง่ดี ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี คนรุ่นนี้เกิดในยุคที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว คุ้นเคยกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือและโซเชียลมีเดีย พวกเขาเชื่อในความต่อเนื่องของการทำงานและชีวิตส่วนตัว แต่ไม่เชื่อในความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว

กลุ่มที่ 4 คือ Gen Z เกิดระหว่างปี 2539-2553   คนกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง พวกเขามีมุมมองที่หลากหลายและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่ 5 Gen Alpha เกิดตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน คนกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยี มีความเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองสูงตั้งแต่เด็ก ชอบตัดสินใจด้วยตัวเอง ชอบการสำรวจและค้นหาสิ่งต่างๆ ชอบการพึ่งพาตนเอง และมีความเป็นปัจเจก พวกเขาเติบโตในโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและมุมมองจากทั่วโลก จึงมีโอกาสเปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และตระหนักถึงความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ2

อาจสรุปได้ว่ากลุ่ม BB เป็นคนที่ทำงานหนัก ให้ความสำคัญกับผลงาน ไม่ค่อยถนัดด้านเทคโนโลยี กลุ่ม Gen X เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ใช้เทคโนโลยีได้ ซึ่งแตกต่างจากกลุ่ม Gen Y และ กลุ่ม Gen Z มักเป็นคนที่มีความคล่องแคล่วด้านเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น1 ในขณะที่ Gen Alpha มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากขึ้นกว่าทุกกลุ่มและชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง

ปัจจุบัน คนกลุ่ม Gen BB และ Gen X คือ ผู้สอน โดยกลุ่ม Gen BB เป็นผู้สอนในช่วงวัยใกล้เกษียณอายุ ในขณะที่คนกลุ่ม GenY Gen Z และเป็นกลุ่มผู้เรียน แล้วผู้สอน Gen BB และ Gen X ควรสอนผู้เรียน GenY Gen Z และ Gen Alpha ได้อย่างไร จึงจะเหมาะสมกับผู้เรียนสองรุ่นนี้

เนื่องจากผู้เรียน GenY Gen Z และ Gen Alpha เป็นคนที่มีความคล่องแคล่วด้านเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ผู้สอน Gen BB และ Gen X หรือกลุ่ม Gen อื่นๆ ควรคำนึงถึงการเรียนการสอนของผู้เรียนสองรุ่นนี้อยู่ด้วยกัน 5 ประการ

(1) การใช้เทคโนโลยี ผู้สอน Gen BB และ Gen X ควรมีโซเชียลมีเดียที่ผู้เรียนใช้ เช่น ไลน์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก เพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้เรียน การใช้ e-textbook และ e-journal ไม่ใช่ให้ผู้เรียนไปยืมหนังสือจากห้องสมุด หรือการใช้ Augmented Reality (AR) คือ การรวบรวมหรือผสานระหว่างสภาพแวดล้อมจริง ณ ขณะนั้น เข้ากับสถานการณ์ที่จำลองขึ้นมา หรือ Virtual Reality (VR) คือ เทคโนโลยีที่สร้างสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมาใหม่ เพื่อดึงให้ผู้ใช้งานออกจากโลกความจริง เช่น การฝึกนักบินด้วย Flight Simulator หรือระบบการฝึกบินจำลอง ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้นักบินสามารถฝึกบินอากาศยาน ได้โดยไม่ต้องอาศัยอากาศยานจริงๆ หรือการใช้หุ่นจำลองเพื่อให้นักศึกษาแพทย์หรือนักศึกษาพยาบาลฝึกการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ใช้ฟื้นคืนชีพให้ผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นกลับมามีชีพจรดั้งเดิมอีกครั้ง (cardiopulmonary resuscitation: CPR) เป็นต้น

(2) การกำกับดูแล (supervision) และการให้ข้อมูลย้อนกลับ (feedback) กรณีให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ การกำกับดูแลและการให้ข้อมูลย้อนกลับของผู้สอนมีขั้นตอนดังนี้ (2.1) คุยกันก่อน คือ ผู้สอนให้ผู้เรียนสรุปขั้นตอนการปฏิบัติงานก่อนลงมือทำจริง เพื่อทำให้ผู้สอนเข้าใจได้ว่าผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติหรือไม่ หากผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใด และวิธีนี้ทำให้ลดความกังวลใจของผู้เรียนก่อนผู้เรียนลงมือปฏิบัติงานจริง (2.2) ลงมือทำจริง หมายถึง ผู้สอนให้ผู้เรียนปฏิบัติงานจริง ผู้สอนสังเกตการปฏิบัติงานของผู้เรียนโดยไม่ต้องสั่งสอนหรือให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้เรียน เพื่อไม่ให้ผู้เรียนเสียหน้าหรืออับอาย ยกเว้นผู้เรียนปฏิบัติงานไม่ถูกต้อง ผู้สอนแจ้งยุติและผู้สอนทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และ (2.3) กลับมาคุยกัน คือ หลังจากผู้เรียนฝึกปฏิบัติแล้ว ผู้สอนให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดด้วยการถามว่า จากการที่ได้ฝึกปฏิบัติติงาน ผู้เรียนทำอะไรลงไปบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทบทวนจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวผู้เรียนเอง ผู้สอนควรชื่นชมเมื่อผู้เรียนทำได้ดี และชี้จุดบกพร่องของผู้เรียน พร้อมอธิบายอย่างเจาะจงและชัดเจนออย่างเป็นรูปธรรมด้วยว่าการฝึกปฏิบัติที่ผู้เรียนทำได้ดีมีลักษณะอย่างไร ในขณะเดียวกันผู้สอนต้องให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการพัฒนาจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องของผู้เรียนด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้สอนให้นักศึกษาแพทย์เย็บแผลที่แขนของผู้ป่วย ขั้นตอนแรกผู้สอนให้ผู้เรียนสรุปขั้นตอนการเย็บแผล เมื่อผู้สอนฟังสิ่งที่ผู้เรียนสรุปแล้ว หากขาดขั้นตอนใดผู้สอนเพิ่มเติมข้อมูลให้ผู้เรียน ขั้นตอนต่อมาคือ ผู้สอนให้ผู้เรียนเย็บแผลและสังเกตวิธีการเย็บแผล หากผู้เรียนปฏิบัติได้ถูกต้อง ผู้สอนให้ผู้เรียนปฏิบัติจนเสร็จสิ้น แต่หากผู้เรียนทำไม่ได้ในขั้นตอนก่อนตัดไหม ผู้สอนแจ้งผู้เรียนว่าในขั้นตอนนี้ผู้สอนเข้ามาช่วยทำ และขั้นตอนสุดท้ายเมื่อผู้เรียนเย็บแผลผู้ป่วยเสร็จเรียบร้อย ผู้สอนและผู้เรียนมาสรุปผลการลงมือปฏิบัติ โดยให้ผู้เรียนสรุปการปฏิบัติงานก่อน จากนั้นผู้สอนจึงให้ข้อมูลย้อนกลับทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างเฉพาะเจาะลงและเป็นรูปธรรม เช่น คุณเย็บแผลได้สวยรอยไหมเรียงเป็นแนวเดียวกัน เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการฝึกปฏิบัติงานในครั้งต่อไป

(3) การเรียนรู้แบบร่วมมือ (collaborative learning) เนื่องจากผู้เรียนกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่นและชอบให้ผู้อื่นฟังตนเอง ผู้สอนควรให้ทำงานกลุ่มหรือทำงานเป็นทีม และผู้สอนควรจัดผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และไม่ให้ผู้เรียนที่สนิทกันอยู่ร่วมกลุ่ม นอกจากนี้ ผู้สอนควรกำหนดจำนวนงานที่มอบหมายให้แต่ละกลุ่มสอดคล้องกับจำนวนของสมาชิกในกลุ่มหรือทีม เช่น 1 กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 4 คน ผู้สอนกำหนดงานได้ดังนี้ ผู้นำกลุ่ม ผู้บันทึกหรือรวบรวมความคิดเห็น ผู้นำเสนอ และผู้จับเวลาในการทำงานกลุ่ม เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมมีบทบาทและหน้าที่ในการทำงานกลุ่มทุกคน และผู้สอนควรจัดทำเกณฑ์คะแนน หรือ rubric score จากนั้นผู้สอนให้ผู้เรียนประเมินกันเอง แล้วนำคะแนนประเมินจากผู้เรียนมาเปรียบเทียบกับผู้สอนว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร พร้อมทั้งผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนอภิปรายผลการประเมินร่วมกัน

(4) การสอนทักษะรอบด้านของผู้เรียน (teaching of non-technical skills) ทักษะทางเทคนิค (technical skills) คือ ทักษะเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน ซึ่งมีความจำเป็นในการประกอบอาชีพของผู้เรียน เช่น นักศึกษาศัลยแพทย์ต้องมีทักษะการซักประวัติและการเย็บแผล แต่ทักษะทางสังคม (non-technical skills) เป็นทักษะเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักปรับตัวเข้ากับบริบทของสังคมเช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะทางเทคนิคที่ช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพต่อไป การฝึกทักษะทางสังคมของผู้เรียนในสองรุ่นนี้ ผู้สอนอาจจัดรายวิชา เช่น ภาวะผู้นำ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ หรือผู้สอนอาจเพิ่ม ทักษะทางสังคมในบางรายวิชา เช่น วิชาสัมมนาระเบียบวิธีวิจัย ผู้สอนอาจมอบหมายงานให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มและนำเสนอเนื้อหาตามหัวข้อที่ผู้สอนกำหนด ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะความเป็นผู้นำ ได้ ผู้สอนควรเน้นการประเมินด้วยการสังเกตพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม การฝึกทักษะดังกล่าวต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์และการประเมินผลที่ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวรวมไว้ในหัวข้อสุดท้ายข้อที่ (5)

(5) การประเมินผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (assessment of learning outcomes) ผู้สอนต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมินทั้งทักษะทางเทคนิคและทักษะทางสังคมให้ชัดเจน การจัดทำ rubric score และผู้สอนแจ้งเกณฑ์การประเมินผลให้ผู้เรียนรับทราบและอภิปรายร่วมกัน ตลอดจนมีการปรับเกณฑ์การประเมินผลจนเป็นที่ยอมรับการประเมินผลได้ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ การประเมินผลของผู้เรียนในกลุ่ม Gen Y Gen Z และ Gen Alpha ผู้สอนควรประเมินความก้าวหน้า (formative assessment) เช่น การสอบย่อย (quiz) พร้อมให้ข้อมูลย้อนกลับ มากกว่าประเมินรวบยอด (summative assessment) เช่น การสอบปลายภาคเรียน เพราะผู้เรียนกลุ่มนี้ต้องการการประเมินผลการเรียนรู้เป็นระยะๆ เพื่อมีโอกาสในการปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง

การเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี การกำกับดูแลและให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างชัดเจน การใช้กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการให้ทำงานกลุ่ม และการประเมินความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้เรียนกลุ่ม Gen Y Gen Z และ ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะช่วยผู้สอนที่อยู่ในรุ่น Gen BB และ Gen X จัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของผู้เรียนกลุ่ม Gen Y Gen Z และ Gen Alpha ได้


เอกสารอ้างอิง

  1. Luc JGY, Antonoff MB, Vaporciyan AA, Yanagawa B. Surgeon teachers and millennial learners: Bridging the generation gap. J Thorac Cardiovasc Surg. 2021;162(1):334-41.
  2. ไทยรัฐ. รู้จัก 9 ลักษณะสำคัญของคน Gen Alpha เพื่อพัฒนารูปแบบ "การเรียนรู้" ที่เหมาะสม กรุงเทพฯ: ไทยรัฐ; 2567 [Available from: https://www.thairath.co.th/news/society/2809026.]

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th