The Prachakorn

Euthanasia หนึ่งทางเลือกสงบของผู้สูงอายุ


นิธิพัฒน์ ประสาทกุล

11 พฤศจิกายน 2567
76



ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังหันมาใช้วิธีการุณยฆาตหรือ Euthanasia กันมากขึ้น ถือเป็นหนึ่งทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุในอนาคต

Euthanasia คืออะไร?

Euthanasia หรือการุณยฆาต อาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูมากนักในปัจจุบัน เนื่องจากประเด็นดังกล่าวยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่และอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทย แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้ยินคำดังกล่าวมากขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันเริ่มมีการส่งเสริมเรื่องนี้กันบ้างแล้ว

การุณยฆาต หรือ Euthanasia มีต้นตอมาจากภาษากรีก ซึ่งประกอบด้วยคำ 2 คำนั่นคือ “Eu” แปลว่า Good และ “Thanatos” ซึ่งแปลว่า Death และเมื่อรวมคำเข้าด้วยกันจะได้ความหมายว่า การตายดี หรือตายอย่างสงบ หากดูในประเทศตะวันตก การการุณยฆาตมีข้อพิจารณาหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ นั่นคือ 1. เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดทรมานแสนสาหัส 2. สิทธิของบุคคลที่ต้องการจบชีวิตลง และ 3. บุคคลที่อยู่ในสภาวะช่วยตนเองไม่ได้ และไร้การรับรู้ทางสมอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการการุณยฆาตนั้นไม่ใช่ว่าใครที่ต้องการแล้วจะสามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขมากมายก่อนที่จะทำการุณยฆาต

Euthanasia มีกี่ประเภท?

Euthanasia นั้นสามารถแบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ 2 ประเภทคือ 1. Active Euthanasia (การการุณยฆาตโดยการกระทำ) เป็นการการุณยฆาตโดยการกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความตายอย่างตั้งใจ เช่น การใช้ยาทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลง โดยการกระทำเช่นนี้มักมีการตัดสินใจและพิจารณาจากแพทย์หรือญาติในการกระทำดังกล่าว และ 2. Passive Euthanasia (การุณยฆาตโดยการไม่กระทำ) คือการยุติการรักษาทางการแพทย์ หรือหยุดการยื้อชีวิตของผู้ป่วยโดยไม่มีการดำเนินการใด ๆ เช่น การหยุดเครื่องช่วยหายใจ หรือหยุดยาที่จำเป็น1

และ Euthanasia นั้นยังสามารถแบ่งออกมาได้อีก 2 ประเภทตามการตัดสินใจได้อีกเช่นกันนั่นคือ

  1. Voluntary Euthanasia (การการุณยฆาตโดยสมัครใจ) เป็นการได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องการจบชีวิตตนเองเพื่อไม่ให้เจอกับความเจ็บปวด
  2. Involuntary Euthanasia (การการุณยฆาตโดยไม่สมัครใจ) ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถแสดงความยินยอมหรือสื่อสารได้ เช่น ผู้ป่วยที่อยู่ในอาการโคม่า

รูปภาพจาก: www.freepik.com

แล้วสถานการณ์ Euthanasia ทั่วโลกตอนนี้เป็นอย่างไร?

    ในปัจจุบันนั้นเริ่มมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการ Euthanasia เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก จากข้อมูลของ Statista แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการการุณยฆาตเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2021 จากปี 2019 โดยเฉพาะในประเทศแคนาดา ที่ถือว่าเป็นประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ จาก 4,480 รายในปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 10,064 รายในปี 2021 รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่อาจจะไม่ได้มากเท่ากับประเทศแคนาดา

ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกนี้ ที่มีกฎหมายและมาตรการที่สนับสนุนการการุณยฆาตอย่างชัดเจน โดยในปัจจุบันนั้นมีเพียง 8 ประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย3

  1. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้มีการการุณยฆาตในประเทศ หลังจากมีการออกกฎหมายในปี 2002 โดยจำเป็นจะต้องมีความยินยอมจากผู้ป่วยและแพทย์จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
  2. ประเทศเบลเยียม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกกฎหมายมาในปี 2002 และในประเทศดังกล่าวไม่มีการจำกัดอายุผู้ป่วย รวมถึงผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หากมีการยืนยันจากแพทย์ว่ามีการทุกข์ทรมานกับร่างกายอย่างหนัก
  3. ประเทศลักเซมเบิร์ก มีการอนุญาตตามกฎหมายในปี 2009 โดยมีหลักเกณฑ์เดียวกับประเทศเนเธอแลนด์และเบลเยียม ผู้ป่วยนั้นจำเป้นต้องมีสติในการขอรับการการุณยฆาต
  4. ประเทศแคนาดา มีกฎหมายที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2016 ภายใต้ชื่อ Medical Assistance in Dying (MAiD) โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องมีโรคร้ายแรงที่มาสามารถรักษาให้หายได้ และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงอย่างมาก
  5. ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ผ่านกฎหมาย End of Life Choice Act ในปี 2020 หลังจากลงประชามติ โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอายุมากกว่า 18 ปีสามารถร้องขอการการุณยฆาตได้
  6. ประเทศโคลัมเบีย ได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2014 และในปี 2018 ได้อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไปสามารถทำการุณฆาตได้ และหากอายุมากกว่า 14 ปี สามารถทำได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้ปกครอง โดยระบุไว้ว่าผู้ที่สามารถทำได้นั้นต้องเป็นผู้ป่วยที่ “ทุกข์ทรมานจากอาการสาหัสหรือภาวะสุขภาพที่ผู้ป่วยพิจารณาว่าเป็นภัยคุกคามต่อศักดิ์ศรีของตนเอง” สามารถทำได้แม้ว่าจะยังไม่ถึงระยะสุดท้ายก็ตาม
  7. ประเทศสเปน ได้มีกฎหมายที่อนุญาตให้ทำการุณยฆาตได้ในปี 2021 ตามเงื่อนไขที่คล้ายคลึงกับประเทศนิวซีแลนด์
  8. ประเทศออสเตรเลีย มีเพียงรัฐวิคตอเรีย และ ออสเตรเลียตะวันตกเท่านั้นที่อนุญาตให้การการุณยฆาตนั้นถูกกฎหมาย ในส่วนของรัฐอื่น ๆ ได้มีการพิจารณาเช่นเดียวกันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2022 แต่ยังไม่สามารถทำได้พื้นที่อื่นๆ ในประเทศ

ประเทศเหล่านี้อนุญาตให้มีการการุณยฆาตได้ แต่เงื่อนไขและข้อพิจารณานั้นแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่หากร้องขอการการุณยฆาตนั้น มักจะมีการพิจารณาจากคณะกรรมการอีกอย่างมาก เพื่อเป็นการทบทวนเงื่อนไขและข้อกำหนดให้แก่ผู้ป่วยที่มีความต้องการ ในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการเปิดกว้างเกี่ยวกับการการุณยฆาต เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การรู้สึกหมดคุณค่าในตัวผู้ป่วย และที่สำคัญที่สุดผู้ป่วยที่ได้รับการการุณยฆาตนั้นจะไม่ทรมานหรือเจ็บปวดต่อไปอีก ซึ่งการการุณยฆาตนั้นเป็นวิธีและทางออกที่สงบที่สุดแก่ผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

ในทวีปเอเชียเราอาจจะไม่ได้เห็นการการุณยฆาตกันมากนั้น เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ขัดกับหลักจริยธรรมและศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบาปบุญคุณโทษ หรือแม้กระทั่งจรรยาบรรณในการแพทย์ ทำให้ประเด็นดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยสักเท่าไร ในญี่ปุ่นผู้สูงอายุโดดเดี่ยวส่วนใหญ่มักจะเลือกวิธีที่คล้ายกัน นั่นคือการฆ่าตัวตายหรือการนำตนเองไปทิ้งในกลางป่าเพื่อตัดภาระให้แก่ลูกหลานหรือแม้กระทั่งตนเอง แต่การกระทำเช่นนี้ไม่ได้ทำผู้สูงอายุนั้นตายอย่างสงบ อีกทั้งยังสร้างแผลในจิตใจให้แก่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งการการุณยฆาตถือเป็นทางออกที่ผู้สูงอายุควรได้รับ และในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อเราจำเป็นต้องแบกรับภาระในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีทางหาย รวมถึงผู้ป่วยนั้นยังได้รับความทรมานในการมีชีวิตอยู่ทุกวัน การุณยฆาตถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้ป่วยได้เช่นกัน

แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะยังดูไกลตัวสำหรับประเทศไทย แต่ประเทศของเรานั้นมีกฎหมายที่รองรับเช่นกันนั่นคือ มาตรา 12 ได้มีเนื้อความระบุไว้ว่า “ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต สามารถแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์ เช่น การใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดความเจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น หากแต่ผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์ พยาบาลตามความเหมาะสมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและอาการต่าง ๆ” โดยบุคคลทั่วไปที่ปัจจุบันยังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ สามารถทำหนังสือแสดงเจตนาในการไม่รับการรักษาได้ทันที เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ  ในอนาคต

หากเราสามารถวางแผนการใช้ชีวิตมาได้ตลอดอายุขัยของเรา การวางแผนในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน


อ้างอิง

  1. Center for Health Ethics. Euthanasia. School of Medicine University of Missouri Retrieved from https://medicine.missouri.edu/centers-institutes-labs/health-ethics/faq/euthanasia
  2. Devika Rao. (2024). In what countries is assisted dying legal or under review?. The Week. Retrived from: https://www.dignityindying.org.uk/assisted-dying/international-examples/
  3. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550. Thai Living Will. สืบค้นจาก: https://www.thailivingwill.in.th/content/พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ-พศ-๒๕๕๐

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th