ทุกวันนี้ เรามักได้ยินว่า คนเป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) หรือว่าอัลไซเมอร์ (Alzheimer) กันบ่อยๆ
แต่รู้ไหมว่า “สมองเสื่อม และอัลไซเมอร์ นั้นต่างกัน”
สมองเสื่อม คือ ภาวะที่สมองผิดปกติอันเกิดจากความเสื่อมของสมอง ซึ่งเกิดได้จากหลายกลุ่มปัจจัย ทำให้สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน อาการสมองเสื่อมประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายๆ อย่างรวมกัน เช่น หลงลืมง่าย คิดเงินไม่ถูก หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย มีพฤติกรรมแปลกๆ ส่วนอัลไซเมอร์ คือโรคชนิดหนึ่งที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มโรคสมองเสื่อม หรือพูดง่ายๆ คือ อัลไซเมอร์เป็นส่วนหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง
หากดูในรายละเอียดของภาวะสมองเสื่อมแล้ว โรคที่นำมาซึ่งภาวะสมองเสื่อม มีกลุ่มอาการ และชนิดของโรคที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้1
อาการและผลกระทบของภาวะสมองเสื่อม
อาการของภาวะสมองเสื่อมนั้น ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบกับความจำระยะสั้นเป็นลำดับแรก เช่น พูดเรื่องซ้ำ ๆ เดิม ๆ และหากมีอาการหลงลืมในระดับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ความสามารถในการใช้ภาษาและความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันลดลง นำไปสูงภาวะพึ่งพิงตามมา นอกจากนี้อาจพบอาการทางจิตที่มักเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด2 ทั้งนี้หากผู้สูงอายุเริ่มมีอาการและไม่ได้เข้าสู่การรักษาจะส่งผลให้สูญเสียความทรงจำระยะยาวได้ และมีภาวะแทรกซ้อน เช่น
ภาวะสมองเสื่อมไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบเฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่จะต้องรับหน้าที่ในการดูแลอย่างใกล้ชิดอีกด้วย อย่างที่เห็นในข่าวบ่อย เช่น ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมเดินหายไปจากบ้าน และหาทางกลับไม่ได้ หรือลูกๆ ต้องลาออกจากงานเพื่อเป็นผู้ดูแลพ่อแม่ที่มีภาวะสมองเสื่อมเต็มเวลา ซึ่งส่งผลต่อการเงินในครอบครัวด้วย รวมทั้งอาการของโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละระยะ ย่อมส่งผลต่อความเครียดของผู้ดูแลด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลในปี 2566 พบว่า มีผู้สูงอายุไทยที่เป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 8 แสนคน โดยเป็นผู้สูงอายุหญิงประมาณ 5 แสนคน และผู้สูงอายุชายเกือบ 3 แสนคน นอกจากนี้ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2583 ผู้สูงอายุไทยที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีถึง 1.4 ล้านคนเลยทีเดียว
ผู้สูงอายุไทยที่มีภาวะสมองเสื่อม | ปี 2566 | ปี 2583 |
ชาย | 2.6 แสนคน | 3.7 แสนคน |
หญิง | 5.3 แสนคน | 10.3 แสนคน |
รวม | 7.9 แสนคน | 1.4 ล้านคน |
ข้อมูล: ผู้เขียนคำนวณโดยใช้ข้อมูลจากอัตราความชุกของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมของ Prince, et.al. (2013)
ผู้เขียนมีโอกาสได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคประชาชนในพื้นที่ตัวอย่างแต่ละภูมิภาค ในประเด็นเกี่ยวกับระบบการดูแลภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษามีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ประชากรทุกกลุ่มวัยในพื้นที่ตัวอย่างแต่ละภูมิภาค ยังมีความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องนักเกี่ยวกับภาวะสมองเสี่อม คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ภาวะสมองเสื่อมคือ ภาวะที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ และมักจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติกับทุกคนเมื่อมีอายุสูงขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ คนในชุมชนส่วนใหญ่ ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า “ยังไม่ค่อยเห็นว่าผู้สูงอายุในชุมชนของตนเป็นโรคสมองเสื่อม ที่เห็นก็เป็นการหลงลืมตามวัยเท่านั้น” เช่น อสม.สูงอายุท่านหนึ่งเล่าว่าแม่ของตนอายุประมาณ 80 กว่าปี มีอาการหลงๆ ลืมๆ บางครั้งก็จำคนในบ้านไม่ได้ เวลาที่ตนเองต้องออกไปทำธุระนอกบ้าน ต้องปิดรั้วบ้านให้มิดชิดและล็อคกุญแจเพื่อป้องกันแม่ออกจากบ้าน เวลาอาบน้ำก็ใช้เวลานาน เข้าไปนั่งเล่นน้ำตนจึงต้องเป็นคนที่ช่วยอาบน้ำให้” ซึ่งจากอาการที่ว่ามานี้ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมได้เช่นกัน แต่เมื่อประชาชนไม่รู้ ก็จะไม่นำไปสู่การคัดกรองและรักษา
นอกจากนี้ เมื่อองค์ความรู้ในเรื่องภาวะสมองเสื่อมยังมีข้อจำกัดในระดับชุมชน จึงทำให้ภาวะสมองเสื่อมถูกจำกัดความรู้ว่า ไม่ได้เป็นโรคภัยที่มีความอันตรายและน่ากลัวเหมือนกับโรคอื่นๆ จึงทำให้หน่วยงานในระดับชุมชนยังไม่เห็นสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ และไม่ได้ถูกหยิบยกให้เป็นปัญหาเร่งด่วนในชุมชน แต่เป็นปัญหารองจากปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น ความดันโลหิต เบาหวาน หัวใจ ดังนั้นจึงทำให้อปท. ยังไม่ได้หยิบยกประเด็นโรคสมองเสื่อมมาดำเนินกิจกรรมแบบจริงจัง อย่างไรก็ตามในทุก อปท. จะมีกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ที่ช่วยชะลอและป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมอยู่บ้าง ด้วยการฝึกการเคลื่อนไหวสลับข้าง เช่น ท่าจีบ L ท่าโป้งก้อย แต่จะเป็นเพียงกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่มาเข้าร่วมโรงเรียน/ชมรมผู้สูงอายุเท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ความรู้ในแบบการสื่อสารสู่มวลชน (mass-reach communication) ที่ควรให้ประชากรทุกกลุ่มวัยและทุกพื้นที่มีความรู้อย่างเท่าทันและรอบด้าน
การเก็บข้อมูลดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า ประชาชนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ว่าเป็นเรื่องปกติของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ไม่เห็นความสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและรักษา ซึ่งหากคนทั่วไปได้รับรู้ว่า โรคสมองเสื่อมคืออะไร มีแนวทางการป้องกันอย่างไร หรือมีอาการเป็นอย่างไรแล้ว จะทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักและสามารถที่จะจัดการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมให้ช้าลง เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต รวมทั้งหากคนในครอบครัวมีอาการแบบใดที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะสมองเสื่อม ก็จะทำให้ผู้นั้นเข้าสู่ระบบการคัดกรอง ส่งต่อ และรักษาได้รวดเร็วขึ้น ข้อค้นพบที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ คนในครอบครัวของผู้ป่วยสมองเสื่อม นับได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุได้ดีที่สุด ที่จะช่วยบุคลากรทางการแพทย์คัดกรองโรคได้เป็นลำดับแรกๆ เลยทีเดียว ซึ่งแนวทางนี้อาจจะช่วยทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้ หรือสามารถที่จะเข้าถึงระบบการรักษาได้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่
อ้างอิง