โครงการศูนย์วิชาการมหาวิทยาลัยแห่งความสุขกับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจความสุขของคนทำงานในมหาวิทยาลัย จำนวน 7,347 คน ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 – 2567 (ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม) ด้วยเครื่องมือ วัดความสุขด้วยตนเอง HAPPINOMETER พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว เช่น รับประทานอาหารพร้อมหน้า หรือออกกำลังกายร่วมกัน และยังมีระดับความเครียดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
ความกดดันในชีวิตประจำวัน ความคาดหวังที่สูง ปัญหาเศรษฐกิจ และสภาพสังคมล้วนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ และหากสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่่องเป็นเวลานาน เช่น การว่างงาน การถูกทำร้ายทางร่างกายหรือจิตใจ ย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ในที่สุด การแก้ปัญหาในบางคนอาจต้องพึ่งยาคลายเครียดเพื่อลดความวิตกกังวลชั่วคราว แต่รู้หรือไม่ว่า “การมีมื้ออาหารร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัวจะช่วยลดความเครียดได้” อย่างน้อยบรรยากาศที่ดีในมื้ออาหารก็เป็นช่วงเวลาของการแสดงความรัก ความผูกพัน การแบ่งปันเรื่องราวทั้งทุกข์และสุขที่เกิดขึ้นระหว่างมื้ออาหาร
ผลการสำรวจของ The American Heart Association จากชาวอเมริกันจำนวน 1,000 คน ในเดือนกันยายน 2565 พบว่า การรับประทานอาหารร่วมกับครอบครัวเป็นวิธีง่าย ๆ ในการจัดการความเครียด และยังระบุต่อไปว่า ชาวอเมริกันที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84.0) ต้องการให้มีมื้ออาหารร่วมกับครอบครัวบ่อยขึ้น เพราะการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีและยังช่วยลดระดับความเครียดได้
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Berta Schnettler และคณะ ทำการศึกษาในกลุ่มครอบครัวคนทำงานชาวชิลี จำนวน 473 คน ในช่วงปี 2562 ชี้ให้เห็นความสำคัญของการรับประทานอาหารร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวว่านอกจากจะช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงานได้ ยังส่งผลเชิงบวกต่อระดับความพึงพอใจในงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ดังนั้นการบริหารจัดการสมดุลชีวิตการทำงาน (work-life balance) ให้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว จะเป็นยาลดความเครียดที่ไม่ต้องรอให้คุณหมอจ่ายยา
อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจด้วย HAPPINOMETER ครั้งนี้ ยังพบอีกว่า คนทำงานในมหาวิทยาลัยที่พักอาศัยอยู่คนเดียวมักมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวน้อย และมีความเครียดสูงมากกว่าร้อยละ 20 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ตอบแบบสำรวจกลุ่มนี้ระบุว่า “การรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนก็สามารถช่วยลดความเครียดและสร้างความสุขได้เช่นกัน” สอดคล้องกับผลสำรวจของ Prof. R.I.M. Dunbar จาก Department of Experimental Psychology, University of Oxford ศึกษาในกลุ่มชาวอังกฤษจำนวน 2,000 คน ในปี 2559 ในโครงการ The big lunch พบว่า การทานอาหารร่วมกันมีผลกระชับความสัมพันธ์ด้านมิตรภาพ และอาจกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) หรือสารแห่งความสุขซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดและความเครียดได้ และเมื่อเปรียบเทียบมื้ออาหารกลางวันและมื้อเย็น พบว่ามื้อเย็นมีประสิทธิภาพในการสร้างความสัมพันธ์ได้ดีกว่า เนื่องจากบทสนทนาในมื้อกลางวันมักเกี่ยวกับงานเป็นส่วนใหญ่ การมีมื้ออาหารร่วมกับเพื่อนจึงนำมาซึ่งความสุขและความพึงพอใจในชีวิต และช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การมีมื้ออาหารร่วมกับครอบครัวไม่เพียงแต่สร้างพลังงานให้กับร่างกาย แต่ยังเป็นการสร้างพลังใจให้ต่อสู้กับความเครียดได้อีกด้วย เมื่อมื้ออาหารกับครอบครัวหรือเพื่อนคือยาลดเครียดที่ไม่ต้องหาซื้อ เพียงแต่ต้องหาช่วงเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะค้นหาต้นตอของความเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดทั่วไปหรือความเครียดเรื้อรัง เพื่อจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นไม่ให้สะสมจนเป็นความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ
อ้างอิง