การอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุเป็นปรากฎการณ์ที่พบเห็นได้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะตามสื่อต่างๆ ที่มักนำเสนอภาพความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการเรียกขานและดูแลราวกับลูกหลาน ในด้านหนึ่งปรากฎการณ์นี้แสดงถึงเทรนด์ "Pet Humanization" และ “Pet Parent” ที่สัตว์เลี้ยงถูกนิยามและปฏิบัติเหมือนมนุษย์ ส่วนผู้เป็นเจ้าของก็สวมบทบาทการเป็นพ่อแม่ที่ต้องดูแลใส่ใจสัตว์เลี้ยงประหนึ่งลูกหรือสมาชิกในครอบครัว ทว่าอีกด้านก็สะท้อนความเปลี่ยวเหงาของสังคมสูงวัย เมื่อสัตว์เลี้ยงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวแทนคนในครอบครัวและเติมเต็มความเป็น "บ้าน" ให้กับผู้สูงอายุ สอดรับกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีแนวโน้มอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวและอยู่ตามลำพังเฉพาะคู่สมรสมากขึ้น1
รูป 1 คุณยายขณะกำลังให้อาหารน้องสามย่าน
ภาพโดย ผู้เขียน
การเข้าสู่สังคมสูงวัยของหลายประเทศทั่วโลกทำให้การดูแลความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุกลายมาเป็นวาระสำคัญ พร้อมคำถามว่าจะทำอย่างไรให้การสูงวัยมีคุณภาพและยั่งยืน โดยไม่ละเลยความต้องการของผู้สูงอายุ ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ “การสูงวัยในถิ่นที่อยู่” (Aging in Place) ที่เป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านหรือชุมชนที่คุ้นเคยจวบจนวาระท้ายได้อย่างปลอดภัย เป็นอิสระ และสะดวกสบาย ไม่ว่าจะมีอายุ รายได้ หรือความสามารถระดับใด2 แนวคิดนี้มิได้พิจารณาเพียงมิติทางกายภาพ เช่น การปรับปรุงที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่ยังสามารถมองไปถึงการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้สูงอายุกับครอบครัว เพื่อนบ้าน และสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน
ในสหรัฐอเมริกา ครัวเรือนที่อยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากหลังการระบาดใหญ่ของ COVID-19 เนื่องจากคนเห็นความสำคัญของสัตว์เลี้ยงในฐานะเพื่อนร่วมชีวิตและผู้สนับสนุนทางอารมณ์ช่วงต้องกักตัวอยู่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ซึ่งสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยในช่วงเวลาอันยากลำบาก3 ด้าน งานวิจัยในแคนาดาชี้ให้เห็นว่าการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุมีความเชื่อมโยงอย่างมากกับการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ เนื่องจากสัตว์เลี้ยงสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุที่เลือกใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านหรือชุมชนที่คุ้นเคย ข้อค้นพบจำนวนมากกล่าวถึงผลเชิงบวกของการอาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุ สรุปได้อย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1) ด้านร่างกาย สัตว์เลี้ยงช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหว เพิ่มกิจกรรมทางกาย และลดการอยู่เฉย 2) ด้านอารมณ์และจิตใจ การสัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงช่วยลดความเครียด คลายความเหงา และเพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ และ 3) ด้านสังคม สัตว์เลี้ยงช่วยสนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมทางสังคม เชื่อมช่องว่างระหว่างวัย เช่น การพูดคุยกับเพื่อนบ้านและทำกิจกรรมกับกลุ่มคนรักสัตว์ที่ประกอบไปด้วยคนหลายช่วงอายุ นอกจากนี้ การมีสัตว์เลี้ยงยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงคุณค่าและเป้าหมายในชีวิตจากการได้ดูแลใครสักคน4 อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นผลเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุจากการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยง เช่น ความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง (เช่น การล้ม ถูกกัด) ความเครียดจากภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล และความเศร้าโศกอย่างรุนแรงเมื่อสูญเสียสัตว์เลี้ยง ถึงกระนั้น ด้วยผลเชิงบวกที่ยังมีอยู่มาก การอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุจึงยังคงได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย5
คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุสามารถเป็นไปภายใต้แนวคิดการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ ควบคู่ไปกับพิจารณาถึงผลเชิงลบที่อาจจะตามมาจากการเลี้ยงสัตว์ของผู้สูงอายุ งานศึกษาของณปภัช สัจนวกุล และคณะ (2564) เสนอว่า การสูงวัยในถิ่นที่อยู่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 มิติ คือ สถานที่ สังคม และสุขภาพ5 เมื่อนำกรอบดังกล่าวมามองบริบทของการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงและผู้สูงอายุในชุมชนของผู้เขียน ซึ่งเป็นชุมชนขนาด 120 หลังคาเรือน ตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร มีผู้สูงอายุและผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุหลายคนเลี้ยงสัตว์ เช่น แมวและสุนัข ทำให้พอจะมองเห็นองค์ประกอบสำคัญพื้นฐานที่ควรคำนึงถึง หากต้องการออกแบบแนวทางการสูงวัยในถิ่นที่อยู่กับสัตว์เลี้ยงให้มีคุณภาพ ดังนี้ (ดูรูป 2 ประกอบ)
รูป 2 องค์ประกอบสำคัญการสูงวัยในถิ่นที่อยู่กับสัตว์เลี้ยง
ที่มา: สังเคราะห์และพัฒนาจาก ณปภัช สัจนวกุล และคณะ (2564)
โดย ผู้เขียน
1) สถานที่ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
2) สังคม บริการทางสังคมที่ออกแบบตามความจำเป็นของพื้นที่ โดยจากประสบการณ์อาศัยอยู่ในครอบครัวและชุมชนที่มีผู้สูงอายุเลี้ยงสัตว์มาหลายปี ผู้เขียนมองว่าควรมีบริการครอบคลุม 4 ด้าน ดังนี้
3) สุขภาพ บริการสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งคนและสัตว์ ได้แก่
โดยสรุปการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุสะท้อนความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ซึ่งก้าวข้ามจากการมองสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตธรรมดา แต่เป็นเพื่อนสนิท สมาชิกในครอบครัว และบุคคลสำคัญ รวมถึงมีบทบาทต่อการสนับสนุนการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ผ่านการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ ทั้งนี้ การสูงวัยในถิ่นที่อยู่กับสัตว์เลี้ยงเป็น “ทางเลือก” หนึ่งของการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุสามารถเลือกวิถีชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองและได้รับการสนับสนุนด้านสถานที่ บริการทางสังคม และสุขภาพตามหลักการ Aging in Place แน่นอนว่าการสูงวัยกับสัตว์เลี้ยงไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุทุกคนและมีข้อท้าทายที่ควรพิจารณา อย่างไรก็ดี เมื่อหันมามองสถานการณ์ในประเทศไทยที่ประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการเติบโตของกระแสเลี้ยงสัตว์แทนลูกและแนวโน้มการอยู่ตามลำพังของผู้สูงอายุ ย่อมมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ชีวิตบั้นปลายกับสัตว์เลี้ยงจะเพิ่มขึ้น คำถามที่ตามมาคือ สังคมไทยจะมีการพัฒนาระบบสนับสนุนและแนวปฏิบัติที่เหมาะสมเพื่อให้การสูงวัยกับสัตว์เลี้ยงดำเนินไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอย่างไรโดยคำนึงถึงบริบทการสูงวัยของทั้งคนและสัตว์
เอกสารอ้างอิง