The Prachakorn

เสียงแห่งความหวังจากมุมเงียบของความรุนแรงในครอบครัว


กชกร พละไกร

02 ธันวาคม 2567
277



“ปัญหาความรุนแรงเหล่านี้สามารถหยุดได้ถ้าเราไม่มองข้ามสัญญาณขอความช่วยเหลือจากบุคคลเหล่านี้จนนำไปสู่การทวีคูณความรุนแรงภายในครอบครัวอนาคต”

ในยุคปัจจุบันการเข้าถึงข่าวสารผ่านทาง Social media บน Facebook, Instagram, Youtube, Twitter หรือบน Google ทำให้การติดตามข่าวสารเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคต่างๆ (Perrin & Anderson,2019) โดยข่าวสารส่วนใหญ่ที่เห็นได้บ่อยคือข่าวความรุนแรงภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การฆ่ากันภายในครอบครัว

จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ประจำปี 2565 มีข้อมูลว่ามูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้สรุปสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากข่าว ที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ พบว่าในปี 2565 มีรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัวถึง 1,131 เหตุการณ์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 3 เท่า (ปี 2564 พบรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัว 372 เหตุการณ์) โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น 347 ข่าวและมียาเสพติดเป็นคัวกระตุ้น 272 ข่าว (รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว,2565) (แผนภูมิ 1)

แผนภูมิ 1 ตัวกระตุ้นที่ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี พ.ศ.2565
(ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565)

ที่มา : รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี พ.ศ.2565

จากรายงานฉบับเดียวกัน พบว่า มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับการฆ่ากันตายในครอบครัวสูงที่สุด มีถึง 534 ข่าว การทำร้ายกัน 323 ข่าว  การฆ่าตัวตาย 155 ข่าว และข่าวความรุนแรงทางเพศของคนในครอบครัว 64 ข่าว (สรุปรายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัว,2565) (แผนภูมิ 2)

แผนภูมิ 2 รายงานข่าวความรุนแรงในครอบครัว ในปี พ.ศ.2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565)

ที่มา : รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ปี พ.ศ.2565

นอกจากนี้ จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวของกองบริหารสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เข้ารับบริการที่ถูกกระทำจากความรุนแรงในครอบครัวโดยจำแนกตามรายอายุและเพศ พบว่าจำนวนทั้งสิ้น 16,890 ราย โดยช่วงอายุที่เข้ารับบริการมากที่สุด คือ อายุ 10 ปีแต่ไม่เกิน 20 ปี จำนวน 6,162 ราย รองลงมาคือ ช่วงอายุ 20 ปีแต่ไม่เกิน 30 ปี จำนวน 3,010ราย และช่วงอายุ 30 ปีแต่ไม่เกิน 40 ปี จำนวน 2,627 ราย ตามลำดับ และพบว่า เพศที่เข้ารับบริการมากที่สุด คือ เพศหญิง จำนวน 15,108 ราย รองลงมา คือ เพศชาย จำนวน 1,760 ราย และเพศทางเลือก จำนวน 22 ราย (แผนภูมิ 3)

แผนภูมิ 3 จำนวนผู้เข้ารับบริการ จำแนกตามรายอายุและเพศของผู้ถูกกระทำ
ที่มา : กองบริการสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2565)

เมื่อแบ่งตามประเภทการกระทำความรุนแรงที่ผู้เข้ารับบริการจำนวนทั้งสิ้น 23,173 ราย ได้พบว่า ประเภทของการกระทำความรุนแรงที่ได้รับมากที่สุด คือ ความรุนแรงทางด้านร่างกาย จำนวน 9,844 ราย ความรุนแรงทางด้านจิตใจ จำนวน 6,831 ราย และความรุนแรงด้านทางเพศ จำนวน 4,860 ราย  

แผนภูมิ 4 ประเภทการกระทำความรุนแรงในครอบครัว

ที่มา : กองบริหารสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2565)


เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com

เมื่อดูจำนวนผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวโดยจำแนกตามสถานะของผู้กระทำจากข้อมูลกองบริหารสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2566) ดังแผนภูมิ 5 ด้านล่างพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ คือ สามี จำนวน 3,578 คิดเป็นร้อยละ 21.18 แฟนจำนวน 3,077 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.22 คนรู้จักจำนวน 1,404 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.31 และญาติจำนวน 1,371 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.1

แผนภูมิ 5 จำนวนผู้กระทำความรุนแรงจำแนกตามสถานะผู้กระทำ

ที่มา : กองบริหารสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2565)

ตาราง : แสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงจำแนกตามปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรง

ปัจจัยกระตุ้น จำนวน ร้อยละ รวม
1. สัมพันธภาพทางครอบครัว     63.85
- นอกใจ 904 6.69
- ทะเลาะวิวาท 5,103 37.8
- การใช้ความรุนแรกงในครอบครัว 2,614 19.36
2. สิ่งกระตุ้น     23.53
- สุรา 1,351 10.01
- สารเสพติด 317 2.35
- สื่อลามก 201 1.49
- สื่อออนไลน์ 796 5.89
- รายได้ 360 2.67
- ยาบ้า 151 1.12
3. ปัญหาทางเศรษฐกิจ 1,344 9.96 9.96
4. ปัญหาสุขภาพกาย 359 2.66 2.66
รวม 13,500 100 100

ที่มา : กองบริการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2565)

จากตารางข้างต้น เป็นการแสดงจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงจำแนกตามปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงสามารถสรุปข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงจำนวนทั้งหมด 13,500 เหตุการณ์ โดยปัจจัยกระตุ้นสามารถมีได้มากกว่า 1 ปัจจัย พบว่า สาเหตุความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากสัมพันธภาพภายในครอบครัว รวมทั้งสิ้น 8,621 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 63.85 ประกอบด้วย การหึงหวง/นอกใจ จำนวน 904 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 6.69 ทะเลาะวิวาทจำนวน 5,103 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 37.8  และความรุนแรงในครอบครัว 2,614 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 19.36 รองลงมาเกิดจากปัจจัยจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 3,176 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 23.53 ได้แก่ สุรา จำนวน 1,351 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 10.01 สารเสพติดจำนวน 317 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 2.35 สื่อลามกจำนวน 201 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 1.49 สื่อออนไลน์จำนวน 796 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 5.89 รายได้จำนวน 360 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 2.67 และยาบ้าจำนวน 151 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 1.12  ปัจจัยที่เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงอันดับต่อมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจจำนวน 1,344 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 9.96 และปัจจัยสุดท้ายที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงคือ ปัญหาสุขภาพกายจำนวน 359 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 2.66  

จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า

ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเริ่มจากการทะเลาะวิวาทเป็นส่วนใหญ่และสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นหลักให้เกิดการทะเลาะวิวาทเกิดมาจากการดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันในครอบครัว แต่ปัจจัยสิ่งกระตุ้นอื่นก็อาจจาะมีผลทำให้เกิดความกดดันและความเครียดจนนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวได้ เช่น ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาด้านสุขภาพ


เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com

ความกลัวมักจะถูกใช้ในการวิเคราะห์ในลักษณะที่คลุมเครือและกว้างโดยที่ไม่ระบุเจาะจง ความกลัวเหล่านั้นอาจจะมีผลมาจากด้านร่างกาย จิตใจ และสถานที่ที่อยู่ที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นสิทธิ์และเสรีภาพของผู้คนที่มีความกลัวเข้าไปพัวพันกับอารมณ์อื่น ๆ ทำให้เสียงขอความช่วยเหลือเหล่านั้นถูกมองข้าม (Pain, 2009; Pain, Panelli, Little & Kindon, 2010) หลายครั้งต่อหลายครั้งที่ผู้ถูกกระทำต้องการความกล้าหาญในการต่อสู่กับความกลัวที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง ความกลัวและความกล้าหาญนั้นเป็นสิ่งที่สมดุลกันเพราะความกล้าหาญเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกกลัว ดังนั้น ทั้งความกลัวและความกล้าหาญนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้เนื่องจากทั้งสองเป็นภาวะทางอารมณ์ร่วมกัน (Koskela 1997; Panelli, Kraack & Little 2005) เมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นภายในครอบครัวผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเงียบเพราะถูกความกลัวครอบงำมากกว่าความกล้าหาญที่จะออกมาปกป้องตนเอง ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่อายที่จะพูดถึงชีวิตคู่ที่พังทลายลงไปเพราะการเลือกคู่ชีวิตที่ผิด ไม่กล้าที่จะพูดปัญหาส่วนตัวให้ใครฟังและเลือกที่จะอยู่กับความหวาดกลัวเพราะไม่มีความกล้ามากพอที่จะเปล่งเสียงขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่กล้าที่จะเปล่งเสียงขอความช่วยเหลือออกมาทางตรงแต่พวกเขายังคงรอคอยการช่วยเหลือจากคนรอบข้างอยู่เสมอเพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องส่วนตัวภายใต้ระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดทางสังคมใหม่ อันดับแรกต้องเริ่มต้นจากการป้องกันตั้งแต่ระยะแรก ๆ เช่น การหึงหวง การบังคับหรือการควบคุมพฤติกรรมของอีกฝ่าย การข่มขู่ รุกราน รวมทั้งกรณีที่มีการกระตุ้นจากสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาความรุนแรงเหล่านี้ต้องมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรเพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือเหล่าเหยื่อที่ถูกกระทำจากความรุนแรง รวมทั้งการพัฒนากลไกให้เข้มแข็งในการคุ้มครองผู้ประสบปัญหาและมีกระบวนการปรับทัศนคติผู้กระทำร่วมด้วย ที่สำคัญคือการปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิด้านร่างกายและจิตใจตั้งแต่ยังเด็กเพราะภรรยาหรือลูกไม่ใช่สมบัติของสามี ผู้กระทำไม่สามารถกระทำอะไรก็ได้โดยไม่เคารพสิทธิของกันและกัน (รายงานความรุนแรงในครอบครัว, 2565)


เอกสารอ้างอิง

  1. รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว สำหรับการรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ประจำปี 2565. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. ปี 2565.
  2. รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว. กองบริหารสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. ข้อมูล ณ วันที่ 12 มกราคม 2565.
  3. Perrin, A. Anderson, M. (2019). Share of U.S. adults using social media, including Facebook, is mostly unchanged since 2018. Washington, D.C.: Pew Research Center. [updated April 10, 2019. Available from: https://www.pewresearch.org/fact-tank/2019/04/10/share-of-u-s-adults-using-social-media-including-facebook-is-mostly-unchanged-since-2018/.
  4. รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2565. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล. ข้อมูล ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2565.
  5. Pain, R. (2014). Seismologies of emotion: Fear and activism during domestic violence. Social & Cultural Geography, 15(2), 127-150.
  6. Pain, R. (2009) Globalized fear: Towards an emotionalgeopolitics. Progress in Human Geography 33(4), 466–486.
  7. Pain, R., Panelli, R., Little, J. and Kindon, S. (2010). Moments in everyday/distant geopolitics: Young people’s fears and hopes, Geoforum, 41(6), 972–982.
  8. Koskela, H. (1997). ‘Bold walk and breakings’: Women’s spatial confidence versus fear of violence. Gender, Place and Culture 4(3), 301–319.
  9. Panelli, R., Kraack, A. & Little, J. (2005). Claiming space and community: Rural women’s strategies for living with, and beyond, fear. Geoforum, 36(4), 495–508.

ภาพประกอบ Freepik.com (Premium License)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th