The Prachakorn

ภูมิรัฐศาสตร์โลกกับกระแสการย้ายถิ่นเข้าไทย


สักกรินทร์ นิยมศิลป์

03 ธันวาคม 2567
42



ภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึง การสร้างพลังอำนาจระหว่างประเทศ โดยอาศัยปัจจัยเชิงภูมิศาสตร์ เช่น ที่ตั้ง อาณาเขต ประชากร วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากร เพื่อต่อรองผลประโยชน์ของขั้วอำนาจต่างๆ ทั้งในรูปแบบความร่วมมือและขัดแย้ง หรือเข้าครอบงำอุดมการณ์ แนวคิดทางการเมือง ความเชื่อ วัฒนธรรม หรือการแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือปิดกั้นเทคโนโลยีกับฝ่ายตรงข้าม โดย World Economic Forum ได้แบ่งความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลายระดับตามความรุนแรง ได้แก่ ความขัดแย้ง ความตึงเครียด วิกฤตการณ์ที่คู่กรณีเตรียมใช้กำลัง และภาวะสงคราม1

การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกครั้งใหญ่ ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ ที่ต้องการขยายบทบาททางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก ควบคู่กับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ต้องการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนตามมาด้วยสงครามการค้าสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการดึงห่วงโซ่อุปทานทางการค้าและการลงทุนของโลกกลับสู่สหรัฐฯ จากนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้เพิ่มการกดดันทางการทหารและเศรษฐกิจกับทั้งรัสเซียและจีน รวมทั้งสนับสนุนยูเครนและอิสราเอลในการทำสงครามเพื่อขยายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง

ในทางตรงกันข้าม รัสเซีย จีน และประเทศกำลังพัฒนาชั้นนำหลายประเทศก็ได้ร่วมมือกันจัดตั้งกลุ่ม BRICS เพื่อเป็นขั้วอำนาจใหม่มาคานอำนาจสหรัฐฯ และยุโรป ท่ามกลางความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้และตะวันตก และละตินอเมริกา ซึ่งมักมีมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง (รูป 1)

รูป 1: แผนที่แสดงดัชนีความขัดแย้งของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ที่มา: https://acleddata.com/conflict-index/ สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกข้างต้น ได้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียตะวันออกเช่นกันที่สำคัญ ได้แก่ (1) การรัฐประหารในเมียนมาใน พ.ศ. 2564 นำไปสู่การต่อต้านและการปราบปรามด้วยความรุนแรง (2) ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอาเซียน (3) การแข่งขันทางด้านทหารและเศรษฐกิจระหว่างจีนและญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อประเทศอาเซียนในการรักษาสมดุลทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (4) โลกต้องเผชิญกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและพลังงานจากภาวะสงครามตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อ (5) สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างประเทศมหาอำนาจ

กระแสการย้ายถิ่นเข้าไทย

รูป 2: ชุมชนชาวจีนใหม่ที่ย่านห้วยขวาง กทม.
ที่มา: https://inzpy.com/properties/passion/chinatown-2/
สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567

ในด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์โลกเป็นแรงผลักดัน (push factors) ให้ผู้ย้ายถิ่นจำนวนหนึ่งเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหนีภัยสงคราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังเช่น ชาวเมียนมาปาเลสไตน์ อิรัก อัฟกานิสถาน ยูเครน หรือเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงานและรายได้ที่ดีกว่าในต่างประเทศ หรือเพื่อขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยนำบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญตามไปด้วยเช่น ชาวญี่ปุ่น และจีน ที่ตามบริษัทแม่ของตนไปยังอาเซียน

ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยก็มีปัจจัยดึงดูด (pull factors) ให้เกิดการย้ายถิ่นเข้าประเทศ ดังนี้ (1) ประเทศไทยมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน มีตลาดแรงงานขนาดใหญ่ และมีค่าจ้างแรงงานสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน (2) ประเทศไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ลี้ภัยจากเพื่อนบ้านมุ่งแสวงหาที่พักพิงในประเทศไทย (3) ภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาคอาเซียน และอยู่กึ่งกลางระหว่างยุโรป เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย ทำให้เป็นประเทศพักพิงชั่วคราว (transit country) สำหรับผู้ย้ายถิ่นจากหลายประเทศ (4) ประเทศไทยมีนโยบายวีซ่าที่หลากหลายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม รวมทั้งผู้เกษียณอายุ และนักท่องเที่ยวระยะยาว (5) ประเทศไทยมีนโยบายที่ยืดหยุ่น ต่อกลุ่มผู้ย้ายถิ่นจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านนิยมเข้ามาทำงานยังประเทศไทยมากกว่าประเทศอื่นๆ

จีน รัสเซีย ต้องการพำนักระยะยาวในไทย

ภูมิรัฐศาสตร์โลกและปัจจัยดึงดูดของประเทศไทย ทำให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นเข้าไทยของผู้คนจากหลายประเทศที่ต้องการแสวงหาที่พักพิงระยะยาว อาทิ ชาวจีน รัสเซีย และอิสราเอล โดยบทความนี้ จะขอกล่าวถึง ผู้ย้ายถิ่นระยะยาวจากประเทศจีนและรัสเซีย ดังนี้

(1) ชาวจีน ภายหลังการระบาดของโควิด-19 และการปิดประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ชาวจีนจำนวนหนึ่งต้องการไปพำนักระยะยาวในต่างประเทศ เนื่องจากต้องการสิทธิเสรีภาพมากขึ้น รวมทั้งต้องการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากสภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยประเทศไทยได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดย The Guardian ประเมินว่า ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2565 มีชาวจีนจำนวนราว 110,000 คน เข้ามาขอวีซ่าระยะยาวเพื่อพำนักในไทย นอกจากนี้ ชาวจีนหลายพันคนยังเข้ามาเป็นสมาชิก Thailand Privilege Card ซึ่งมีราคา900,000-2,000,000 บาท โดยสามารถอาศัยในประเทศไทยได้ 5-20 ปี ซึ่ง The Nation รายงานว่า ในปี 2566 มีสัดส่วนชาวจีนที่เป็นสมาชิกบัตรดังกล่าวมากถึงร้อยละ 45 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 31,231 คนตามด้วยชาวญี่ปุ่น สหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย และไต้หวัน นอกจากนี้ ชาวจีนจำนวนมาก ยังเข้ามาอาศัยและทำธุรกิจที่ย่านห้วยขวาง และพระรามเก้า กรุงเทพฯ รวมทั้ง จ.เชียงใหม่ โดยนิยมส่งลูกเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนานาชาติในไทย (รูป 2)

(2) ชาวรัสเซีย นิยมเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และส่วนหนึ่งก็เข้ามาพำนักระยะยาว และทำธุรกิจในไทย โดยในปี 2566 มีชาวรัสเซียเข้ามาเที่ยวไทยถึง 1.4 ล้านคน โดยเฉพาะที่ จ.ภูเก็ต โดยส่วนหนึ่งต้องการหนีสงครามและการเกณฑ์ทหาร ขณะที่ประเทศไทยมีข้อตกลงยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าท่องเที่ยวให้กับชาวรัสเซีย นอกจากนี้ ชาวรัสเซียจำนวนมากยังขอวีซ่าธุรกิจและการศึกษาเพื่อขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทย สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงก็นิยมซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ภูเก็ตและพัทยา โดยเฉพาะแถบลากูน่า ภูเก็ต ที่มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่มากถึงราวครึ่งหนึ่ง จนเรียกกันทั่วไปว่า “Little Moscow” โดย Bangkok Post ประเมินว่า ในปี 2566 มีชาวรัสเซียพำนักระยะยาวในภูเก็ตราว 9,275 คน โดยส่วนใหญ่เป็นสมาชิก Thailand Privilege Card ชุมชนรัสเซียที่ขยายมากขึ้น ทำให้มีการขยายโบสถ์ของคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจนมีจำนวน 10 แห่งในปัจจุบัน (รูป 3)

นอกจากชาวจีนและรัสเซียแล้ว ชาวยูเครน และอิสราเอลก็หนีภัยสงคราม มาอาศัยในประเทศไทยด้วยจำนวนหนึ่ง เช่น ที่เกาะพงัน คาดว่ามีครอบครัวชาวอิสราเอล มาพักอาศัยราว 400-500 ครอบครัวในปี 2567 โดยครอบครัวส่วนใหญ่อพยพเข้ามาหลังการเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในเดือนตุลาคม 2566

รูป 3: Holy Trinity Orthodox Russian Church จ.ภูเก็ต
ที่มา: https://www.phuket.net/directory/profile/holy-trinity-orthodox-russian-church/
สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567

สรุป

การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลกจะทวีความสำคัญมากขึ้นเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนสมดุลของขั้วอำนาจโลก และการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีน สถานการณ์ดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นจากหลายประเทศเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจึงต้องกำหนดนโยบายการเข้าเมือง และวางแนวทางการจัดการเรื่องการตั้งถิ่นฐานของชาวต่างชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และบูรณาการทางสังคม รวมทั้งป้องกันปัญหาต่างๆ เช่น อาชญากรรม เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง

  1. สรุปคำบรรยายของ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก: นัยต่อประเทศไทย วันที่ 23 กันยายน 2567, ข่าวสภาพัฒน์ 23 กันยายน 2567

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th