ประเทศอินเดียเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนมากสำหรับระบบความเชื่อเชิงวัฒนธรรม ประเพณี เชื่อมโยงกับการปฏิบัติ สำหรับความเป็นหญิงหรือชายในกรณีการทำลายทารกเพศหญิงจากคติว่าด้วยการให้คุณค่าชีวิตมนุษย์เทียบเคียงกับราคาวัตถุ พ่อแม่ฝ่ายหญิงต้องเก็บออมทรัพย์สินเพื่อเป็นสินสอด/สินสมรส ให้ฝ่ายชายที่จะมาทำหน้าที่แทนพ่อแม่ดูแลลูกสาวตลอดไป เงื่อนไขดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อพ่อแม่ที่มีฐานะยากไร้
ความเชื่อและการปฏิบัติในประเทศอินเดีย ที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในเอเชีย สู่การปฏิบัติได้ แม้ว่าจะผิดกฎหมาย เหตุผลคือ การให้คุณค่าความเป็นหญิงเป็นชายต่างกัน เช่น ประเพณีการแต่งงานที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายจ่ายสินสอด เมื่อแต่งงานแล้วผู้หญิงจะเป็นสมบัติของฝ่ายชายที่จะทำหน้าที่ดูแลภรรยาและบุตรตลอดไป การนำไปทิ้งหรือปลิดชีวิตทารกเพศหญิงโดยหมอตำแยเป็นสิ่งที่พ่อแม่หรือครอบครัวต้องจำใจปฏิบัติ เพราะความยากจนที่จะไม่สามรถสะสมทรัพย์สินเพื่อเป็นสินสอดเมื่อลูกสาวถึงวัยที่จะแต่งงาน วิธีกำจัดทารกเพศหญิงแรกเกิดทำได้หลายวิธี หมอตำแยมีส่วนอย่างยิ่ง เช่น การเตรียมภาชนะใส่น้ำเตรียมไว้เพื่อจับทารกเพศหญิงแรกเกิดกดน้ำจนเสียชีวิต หรือการนำทารกไปทิ้งในที่ต่างๆ ที่ห่างไกลจากชุมชน โอกาสรอดชีวิตแทบไม่มี
หลังจากที่รัฐออกกฎหมายลงโทษผู้กระทำผิด มีผลต่อเรื่องนี้มากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ทารกแรกเกิดเพศหญิงมีโอกาสรอดชีวิต รัฐพยายามประชาสัมพันธ์และเพิ่มการบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้น ทั้งในเขตเมืองและชนบทห่างไกล สิ่งที่คาดไม่ถึงคือการกำจัดทารกแรกเกิดเพศหญิงมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะหญิงตั้งครรภ์สนใจการตรวจร่างกายที่ภาครัฐจัดเตรียมให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่เหตุผลที่จะติดตามหรือดูแลการครองครรภ์ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แต่เป็นการใช้บริการสุขภาพรัฐเพียงเพื่อทราบเพศทารกในครรภ์เป็นหลัก ปัญหาที่ตามมาคือ การกำจัดทารกเพศหญิง โดยการทำแท้ง
ทำไมผู้คนในชุมชนที่อาจเป็นเพื่อนบ้าน สมาชิกครอบครัววางเฉย กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเพราะการกำจัดทารกเพศหญิงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ สถิติประชากรแยกตามอายุและเพศในระดับประเทศและระดับภาคเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกำจัดทารกเพศหญิงแรกคลอดยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะบางรัฐ เช่น รัฐราชสถาน รัฐอุตตรประเทศ รัฐหรยาณา1
การกำจัดทารกเพศหญิงแรกเกิดในประเทศจีน2 มีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ต่างเหตุผลจากอินเดีย เพราะจีนไม่มีประเพณีสินสอดที่ฝ่ายหญิงต้องจ่ายฝ่ายชาย แล้วทำไมทารกเพศหญิงไม่มีโอกาสลืมตาดูโลกเหมือนทารกเพศชาย ต้นเหตุเกิดจากนโยบายบุตรคนเดียวของรัฐบาลในปี 2523 (The Fifth National People’s Congress) เนื่องจากผู้นำประเทศต้องการควบคุม จำนวนประชากรของประเทศที่ 1,500 ล้านคน นโยบายดังกล่าวสร้างแรงต่อต้านจากประชาชนทั้งประเทศ เพราะทารกเพศหญิงจะไม่มีโอกาสลืมตาดูโลก เนื่องจากพ่อแม่มีความภาคภูมิใจลูกชายมากกว่า เพราะจะเป็นผู้สืบทอดตระกูลของครอบครัว จะเปรียบเทียบว่าลูกชายเหมาะสมกว่าลูกสาว ไม่มีประเด็นการจ่ายสินสอดเหมือนกรณีของประเทศอินเดีย
รูป: วัฒนธรรมอินเดียที่ฝ่ายหญิงต้องให้ค่าสินสอดฝ่ายชาย
ที่มา: https://www.quora.com/unanswered/What-is-the-present-status-of-female-foeticide-in-India
สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567
รัฐบาลจีนได้ทบทวนทั้งข้อดีข้อเสียของนโยบายดังกล่าว พร้อมเพิ่มมาตรการตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่น จ่ายเงินโบนัสประจำปี เพิ่มวันลาคลอด เพิ่มสวัสดิการสังคมสำหรับครอบครัวที่มีบุตรคนเดียว ไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาล เบี้ยเลี้ยงดูบุตร ไม่เสียค่าเล่าเรียนในระดับอนุบาล อย่างไรก็ตามแรงจูงใจดังกล่าวไม่ได้ผลอย่างที่ภาครัฐคาดหวังเพราะพบหลักฐานการค้าทารกเพศชาย การทอดทิ้งทารกหรือเด็กเพศหญิงในที่สาธารณะเพราะพ่อแม่ต้องการมีบุตรเพศชายเพิ่ม อย่างไรก็ตามภาครัฐพยายามเพิ่มมาตรการแรงจูงใจการมีบุตรให้น้อยลง โดยไม่บังคับใช้นโยบาย ลูกคนเดียว เป็นรูปแบบทั้งประเทศ เช่น ผ่อนปรนให้ผู้หญิงในเขตชนบทสามารถตั้งครรภ์ครั้งที่สองได้ในกรณีที่เว้นระยะการตั้งครรภ์ห่างกัน 4 ปี เนื่องจากประชากรชนบทโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมต้องการขนาดครอบครัวใหญ่เพื่อเป็นแรงงานเพิ่มการผลิต
การปฏิบัติเพื่อลดปัญหากำจัดหรือทำลายทารกเพศหญิง จำเป็นต้องยึดหลักหรือแนวทางเชิงกฎหมายควบคู่กับการทำความเข้าใจกับบริบทความเชื่อและวัฒนธรรม โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะต้องใช้เวลา
เอกสารอ้างอิง