The Prachakorn

กรอบแนวคิดแบบเติบโต: เรียนรู้ พยายาม ไม่ยอมแพ้ของคนทำงาน


พัจนันท์ ศิริรัตน์มงคล

09 ธันวาคม 2567
46



ว่ากันว่า “การมีกรอบแนวคิดแบบเติบโต: Growth Mindset เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้คนทำงานสามารถที่จะผลิตผลงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรได้

“กรอบแนวคิดแบบเติบโต” เป็นกรอบแนวคิดยืดหยุ่น ที่เชื่อว่าความสามารถของทุกคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผ่านความพยายาม ไม่ยอมแพ้ และการเรียนรู้ แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ยากลำบาก เรียกได้ว่า คนเหล่านั้นจะฝ่าฟันเรื่องยากมองอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่ เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวต่อไป

โมเดลมิเตอร์ความสุขกับกรอบแนวคิดแบบเติบโตของคนทำงาน

ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาโมเดลมิเตอร์ความสุข (HAPPINOMETER MODEL) ใช้เป็นรูปแบบและกระบวนการการสร้างเสริมสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Well-being) ของคนทำงาน และองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) โดยใช้เครื่องมือวัดความสุขด้วยตนเองแฮปปีโนมิเตอร์ (HAPPINOMETER Self-Assessment) สำรวจคนทำงานในองค์กรทั่วประเทศเป็นรายปี มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน นอกเหนือจากสร้างเสริมสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว โมเดลมิเตอร์ความสุข ยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกรอบแนวคิดแบบเติบโตของคนทำงาน

ผลสำรวจรายปี 2566 ของคนทำงานจำนวน 19,563 คน จากองค์กร 251 แห่ง พบว่า ภาพรวม กรอบแนวคิดแบบเติบโตของคนทำงาน ด้านการทุ่มเททำงานเพื่อองค์กร ร้อยละ 82.9 ด้านความสนใจที่จะพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต ร้อยละ 79.1 ด้านการทำงานอย่างมีเป้าหมายในทุกๆ วัน ร้อยละ 77.5 ด้านความสนใจแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม ร้อยละ 66.4 และ ด้านการเป็นคน คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับองค์กร ร้อยละ 66.1 (รูป 1)

รูป 1: ร้อยละของกรอบแนวคิดแบบเติบโต
ที่มา: การสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ พ.ศ. 2566
(เดือนตุลาคม 2566-มีนาคม 2567)

กรอบแนวคิดแบบเติบโต …เรียนรู้ พยายาม ไม่ยอมแพ้ของรุ่นคนทำงาน

เมื่อจำแนกคนทำงานด้วยรุ่นคน (Generations) ผลสำรวจประจำปี 2566 แสดงกลุ่มตัวอย่างเป็นคนรุ่น Y (เกิดช่วงปี 2523-2538) มีสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 52.4) ขณะที่คนรุ่น BB (เกิดช่วงปี 2489-2507) มีสัดส่วนน้อยที่สุด (ร้อยละ 2.0) ในเวลาเดียวกัน คนรุ่น X (เกิดช่วงปี 2508-2522) และคนรุ่น Z (เกิดช่วงปี 2539-2553) มีสัดส่วนร้อยละ 26.1 และร้อยละ 19.5 ตามลำดับ

เมื่อเน้นไปที่กรอบแนวคิดแบบเติบโตกับรุ่นคนทำงาน พบว่า คนรุ่น BB เป็นคนทำงานที่มีกรอบแนวคิดแบบเติบโตสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 78.5 รองลงมาเป็นคนรุ่น X ร้อยละ 60.7 คนรุ่น Y ร้อยละ 57.0 และคนรุ่น Z ร้อยละ 53.7 ตามลำดับ

คนรุ่น BB จึงเปรียบเสมือนเป็นเสาหลักขององค์กร ผ่านประสบการณ์และความยากลำบากในการทำงานมานาน ความขยัน อดทน ทุ่มเท ทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ในกรอบระเบียบ วินัยอย่างเข้มงวด จึงมักแตกต่างไปจากคนยุคใหม่อย่างคนรุ่น Y และคนรุ่น Z บริบทการทำงานอย่างรวดเร็วและทำหลายอย่างในคราวเดียวกัน (multitasking skills) สะท้อนความยืดหยุ่นในการปรับตัวของคนรุ่น BB เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงานผลักดันให้ทักษะทางดิจิทัลกลายเป็นทักษะพื้นฐาน ให้คนรุ่น BB อยู่รอดในบริบทการทำงานแบบใหม่ได้1

กรอบแนวคิดแบบเติบโต …เรียนรู้ พยายาม ไม่ยอมแพ้ของรุ่นคนทำงาน ขออย่าเป็นเพียงความใฝ่ฝันขององค์กร ขอให้เป็น “คุณสมบัติของคนทำงาน” ที่หมั่นเรียนรู้ มุ่งพยายาม ไม่ยอมแพ้ ของคนทำงานทุกรุ่นคน

กรอบแนวคิดแบบเติบโต …เรียนรู้ พยายาม ไม่ยอมแพ้ ของคนทำงาน เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการ

การสร้างเสริม “กรอบแนวคิดแบบเติบโต” ของคนทำงานไม่ควรดำเนินการแบบเหมารวมทุกรุ่นคน (one fit for all (gen)) แต่ควรนำเอกลักษณ์ ความโดดเด่นของคนทำงานแต่ละรุ่นคนเป็นฐานในการพัฒนาสำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการด้านการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน

การส่งเสริมและพัฒนากรอบแนวคิดแบบเติบโตของคนทำงานในองค์กรทุกรุ่นคน (generations) นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารจัดการองค์กร


เอกสารอ้างอิง

  1. จุลนี เทียนไทย และคณะ. (2563). การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติ ในอนาคต ของชาวดิจิทัลไทย. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2567, จาก https://khonthai4-0. net/academies_knowledge_detail.php?id=3&sub_category_id=24&content_id=41

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th