The Prachakorn

ห้ามการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์อาหารหวานมันเค็ม ลดการกินอาหารดังกล่าวของเด็กได้จริงหรือ?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

11 ธันวาคม 2567
121



การบริโภคอาหารหวานมันเค็มเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วน เด็กไทยนิยมกินอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการกินเด็กไทยที่มีอายุ 6-18 ปี 2567 จำนวน 4,117 คน พบว่า เด็กไทยมากถึง 9 ใน 10 คน กินขนมขบเคี้ยว (ร้อยละ 92.5) และเครื่องดื่มรสหวาน (ร้อยละ 89.5) ในขณะที่เด็กไทยประมาณ 8 ใน 10 คน กินอาหารกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 79.3) และ 7 ใน 10 คน กินขนมหวาน เช่น ช็อคโกแลต วุ้นเยลลี่ คัสตาร์ต ไอศกรีม (ร้อยละ 72.9)1

เหตุใดเด็กไทยนิยมกินอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม?

สภาพแวดล้อมทางอาหาร เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองจัดหาอาหารความชอบรสชาติของอาหาร สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมการโฆษณาอาหาร ฯลฯ ส่งผลต่อการกินอาหารของเด็ก เป็นปัจจัยสำคัญของการกินอาหารของเด็ก และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยบริโภคอาหารหวานมันเค็ม คือ รูปภาพการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารดังกล่าว เพราะงานวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศยืนยันการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์อาหารฯ มีผลต่อการกินของเด็ก  

ข้อมูลเชิงวิชาการในประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 78.8 ของเด็กไทย อายุ 6-18 ปี พบเห็นการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารหวานมันเค็มมากที่สุด1 ยิ่งไปกว่านั้น ในเด็กกลุ่มนี้ 10 คน มีประมาณ 4 คน ที่พบเห็นรูปภาพการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์อาหารฯ แล้วชอบซื้อ และกินอาหารฯ เพิ่มขึ้น1 ส่วนงานวิจัยของประเทศอังกฤษระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีการ์ตูนและไม่มีการ์ตูน เด็กอายุ 4-8 ปี ชอบและเลือกบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีการ์ตูนมากกว่าไม่มีการ์ตูน2 ในขณะที่การศึกษาของประเทศกัวเตมาลา พบว่าเด็กที่กำลังศึกษาในโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษามีแนวโน้มที่จะชอบรสชาติของขนมขบเคี้ยวในบรรจุภัณฑ์ที่มีการ์ตูนมากกว่าบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการ์ตูน และเด็กมากเกินครึ่ง (ร้อยละ 66) เลือกอาหารที่บรรจุภัณฑ์มีการ์ตูน3 และการ์ตูนส่วนใหญ่มักปรากฏบนบรรจุภัณฑ์อาหารหวานมันเค็ม ดังนั้น การ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์อาหารมีอิทธิพลต่อความชอบและการเลือกอาหารของเด็ก

แล้วจะทำอย่างไรเพื่อช่วยลดความชอบและการเลือกอาหารหวานมันเค็มจากบรรจุภัณฑ์ที่มีการ์ตูน?

ประเทศชิลีมีกฎหมายชื่อ “Law 20.606 on the Nutrient Composition of Food and Its Advertising; Decree” ห้ามมีการ์ตูนและรูปภาพอื่นๆ ที่ดึงดูดเด็ก บนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม ซึ่งบังคับใช้ใน ค.ศ. 2016 (รูป 1)

รูป 1: ห้ามมีการ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์โยเกิร์ต
ที่มา: Corvalan C, Reyes M, Garmendia ML, Uauy R. Structural responses to the obesity and non-communicable diseases epidemic: Update on the Chilean law of food labelling and advertising. Obes Rev. 2019;20(3):367-74

การวิจัยระยะยาวเพื่อติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายห้ามการโฆษณาอาหารหวานมันเค็ม พบว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 4-14 ปี ในประเทศชิลีบริโภคน้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และเกลือลดลงหลังจากมีกฎหมาย4 โดยเด็กบริโภคน้ำตาลลดลงร้อยละ11.8 จากร้อยละ 27.2 ของการบริโภคอาหาร ใน พ.ศ. 2559 เหลือร้อยละ 15.4 ใน พ.ศ. 2562 ส่วนวัยรุ่นบริโภคน้ำตาลลดลงร้อยละ 3 จากร้อยละ 19.5 ใน พ.ศ. 2559 เหลือร้อยละ 14.2 ใน พ.ศ. 2561 และลดการบริโภคโซเดียมลดลง 8.4 มิลลิกรัมจาก 131.3 มิลลิกรัม ลดลงเหลือ 122.9 ในปีเดียวกัน รวมทั้งลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวได้ร้อยละ 1.5 จากร้อยละ 7.6 เหลือเพียงร้อยละ 6.1 ในปีเดียวกัน4 ดังนั้น กฎหมายช่วยลดการบริโภคอาหารหวานมันเค็มของเด็กลงได้

ประเทศไทยควรทำอย่างไร?

การ์ตูนบนบรรจุภัณฑ์อาหารหวานมันเค็มส่งเสริมความชอบการเลือก และการกินอาหารเหล่านี้ของเด็กไทย หนึ่งในการควบคุมการตลาดอาหารฯ ของร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก คือ ห้ามแสดงรูปการ์ตูนบนซองอาหารหรือขนมหรือขวดเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เพื่อลดการพบเห็นและเทคนิคจูงใจของการตลาดอาหารหวานมันเค็ม สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งออกร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ให้เร็วที่สุด


เอกสารอ้างอิง

  1. นงนุช จินดารัตนาภรณ์, สลักจิต ชื่นชม, กษมา ยาโกะ. การติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ในเด็กของประเทศไทย. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2567.
  2. McGale LS, Halford JCG, Harrold JA, Boyland EJ. The Influence of Brand Equity Characters on Children’s Food Preferences and Choices. J Pediatr. 2016;177:33-8.
  3. Letona P, Chacon V, Roberto C, Barnoya J. Effects of licensed characters on children’s taste and snack preferences in Guatemala, a low/middle income country. Int J Obes (Lond). 2014;38(11):1466-9.
  4. Fretes G, Corvalan C, Reyes M, Taillie LS, Economos CD, Wilson NLW, et al. Changes in children’s and adolescents’ dietary intake after the implementation of Chile’s law of food labeling, advertising and sales in schools: a longitudinal study. International Journal of Behavioral Nutrition and Physical Activity. 2023;20(1):40.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th