The Prachakorn

ผมกำลังเตรียมตัวตาย


ปราโมทย์ ประสาทกุล

13 ธันวาคม 2567
54



ศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567

เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสองเดือน ปี 2567 ที่ถือกันว่าเป็นปีมังกรทองก็จะสิ้นสุดลงแล้ว ผมรู้สึกเหมือนว่า เราเพิ่งฉลองวันขึ้นปีใหม่กันมาเมื่อไม่นาน ยังจำภาพโดรนนับร้อยลำแปรอักษรและรูปภาพเต็มท้องฟ้า ปีมะโรงงูใหญ่ที่เคยใหม่ ก็กำลังจะกลับกลายเป็นปีเก่าไปเสียแล้ว ทำไมปีหนึ่งๆ จึงสิ้นสุดไปเร็วนัก โลกหมุนรอบตัวเองเร็วเกินไปแล้วกระมัง

ผมคิดถึง กลอนที่แต่งไว้ขณะขับรถกลับศาลายาเมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หลังจากไปอยู่กับแม่ที่โรงพยาบาลบางปะกง

 “ปีใหม่ใช่จะมีชีวิตใหม่
 เพียงชีพเก่าสั้นไปอีกปีหนึ่ง
 เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้คำนึง
 เพียงเข้าถึงปรมัตถ์สัจธรรม
 ให้เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปเถิด
 กาลบังเกิดใหม่เก่าทุกเช้าค่ำ
 มีสติ สัมปชัญญะเป็นประจำ
 เก่าไฉน ใหม่ฉนำ...ไม่สำคัญ”

เมื่อแม่เข้าไปรักษาอาการเจ็บป่วยที่โรงพยาบาลบางปะกงคราวนั้น แม่มีอายุ 90 ปีแล้ว แม่อยู่ที่โรงพยาบาลนานเกือบเดือนผมขับรถจากศาลายาไปอยู่กับแม่เวลาบ่ายจนค่ำทุกวัน เมื่อแม่ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่บ้านแล้ว แม่กลับมาติดเตียงอยู่ที่บ้านอีก 3 ปีกว่า และเสียชีวิตไปเมื่ออายุ 93 ปี

อายุแม่ 93 ปี น่าจะมีความหมาย

เมื่อเดือนก่อนผมไปร่วมงาน “ชุมนุมญาติลูกหลานคุณตา” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำปี ที่บ้านคลองนา อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา งานนั้นมีการทำบุญเลี้ยงพระและเลี้ยงคน ลูกหลานคุณตามาร่วมชุมนุมกันหลายสิบคน

ในการสนทนากับญาติสนิท ผมได้ข้อคิดจากคุณน้า (ผู้หญิง) คนหนึ่งเกี่ยวกับจำนวนปีของชีวิตที่เหลืออยู่ คุณน้าบอกลูกๆ ของคุณน้าว่า “แม่มีเวลาเหลืออีก 13 ปี” ผมได้ยินเข้าก็ถามคุณน้าว่า “ใครเป็นคนบอกหรือว่าน้าจะมีชีวิตเหลืออยู่อีก 13 ปี พระหรือหมอดูคนไหนเป็นคนบอก” คุณน้าก็อธิบายให้ฟังว่า “คุณพ่อตายเมื่ออายุ 94 ปี คุณแม่ก็ตายอายุ 94 ปี พี่ๆ ก็อายุประมาณ 90 กว่าๆ ตอนนี้น้าอายุ 81 ปีก็เลยคิดว่า เหลือเวลาอีก 13 ปี ก็จะไม่อยู่แล้ว”

หลายปีก่อนผมเคยเขียนไว้ใน “ประชากรและการพัฒนา” ว่าเป้าหมายของผม คือขอมีชีวิตอยู่จนอายุ 80 ปี เท่ากับอายุของพระพุทธเจ้า ถ้าอยู่ได้เกิน 80 ปี ผมก็ได้กำไรชีวิต ตอนนี้ผมอยู่มาได้จนเหลืออีก 3 ปี ก็จะถึง 80 ปี ตามเป้าหมายที่วางไว้เดิมแล้ว เมื่อได้ฟังคุณน้าพูดถึงตัวเลขอายุ 90 กว่าปี ผมก็เกิดความโลภที่จะมีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น ผมจึงจะเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตว่าจะอยู่จนอายุ 93-94 ปี ประมาณอายุเดียวกับญาติฝ่ายแม่หลายๆ คน ถ้าผมจะตายเมื่ออายุเท่ากับแม่คือ 93 ปี ขึ้นปีใหม่ 2568 นี้ ผมก็จะมีชีวิตอยู่ (อย่างมาก) อีกเพียงไม่เกิน 16 ปี กาลเวลาผ่านไปเร็วอย่างนี้ เผลออีกแพล็บเดียว ผมก็จะโบกมืออำลาจากโลกนี้ไปแล้ว

แต่ผมจะไม่ลืมว่าอายุ 93 ปีนี้เป็นตัวเลขสมมุติ ผมอาจตายไปก่อนนั้นก็ได้ อาจตายไปก่อนอายุ 80 หรือ 90 ปี พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ผมก็อาจออกเดินทางไกลโดยไม่ต้องรอให้ถึง 16 ปีข้างหน้าก็ได้

รูป: ใบไม้ที่ร่วงโรย
ที่มา: https://www.freepik.com (Premium)
สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2567

อดีตในความทรงจำ

ตอนนี้ผมพอจะนึกภาพออกแล้วว่าผมน่าจะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้นานที่สุดอีกเพียง 16 ปีเท่านั้น ผมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าทุกวันนี้วันเวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน 16 ปีนี่เป็นเวลาไม่นานเลย จากปีนี้เป็นต้นไปผมจะเริ่มต้นนับถอยหลัง วันรื่นเริงเถลิงศกใหม่แต่ละปีต่อไปนี้จะมีความหมายกับผมมากขึ้น

คนรุ่นผมที่มีอายุขึ้นหลัก 70 นับได้ว่าได้ผ่านโลกมานานพอสมควร ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกและของสังคมไทยในช่วงเวลา 60-70 ปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย จากสังคม “โลว์เทค” มาเป็นสังคม “ไฮเทค” จากสังคม “เยาว์วัย” มาเป็นสังคม “สูงวัย” ได้เห็นความแปรปรวนของภูมิอากาศจากที่เคยได้สัมผัสความหนาวของ “ลมว่าว” ที่เริ่มพัดมาถึงภาคกลางของประเทศราวปลายเดือนตุลาคมของทุกปี มาเป็นความกังวลกับพายุดีเปรสชันและฝนที่ตกกระหน่ำลงมาในช่วงเวลาปลายเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ ในอนาคตอีก 16 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีคงยังคงก้าวหน้าต่อไป สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นไปอีก ดินฟ้าอากาศคงแปรปรวนเอาแน่ไม่ได้ อุณหภูมิโลกคงสูงขึ้นไปอีก

โลกของเรา สังคมไทยของเรา จะเป็นอย่างไรหนอในอีก 16 ปีข้างหน้า แต่เมื่อมาคิดดูอีกที โลกและสังคมไทยคงต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คนเราแต่ละคนก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักร เกิด แก่ เจ็บ และตายไปในที่สุด ผมจะมัวมาคิดกังวลใจกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ทำไม

เมื่อเราคาดประมาณได้ว่า เราจะมีชีวิตอยู่อีกไม่เกิน 16 ปี ทำไมไม่คิดเตรียมตัวที่จะลาจากไปอย่างสวยงามที่สุด

ผมจะต้องเตรียมตัวตาย

ที่จริงผมคิดเรื่องการเตรียมตัวตายมานานแล้ว ผมพยายามย้ำคิดและกล่อมจิตใจของตัวเองให้ไม่กลัวความตาย ผมไม่ตั้งคำถามว่าเมื่อตายแล้วจะไปไหน เพราะรู้คำตอบชัดเจนแล้วว่าเมื่อตายแล้ว เขาก็จะเอาร่างผมไปวัด ร่างของผมจะถูกเผาเป็นเถ้าธุลี ผมเชื่อเหมือนชาวพุทธทิเบตที่ว่าความตายของแต่ละคนเป็นการละทิ้งสังขารร่างซึ่งเป็นเสมือนเครื่องแต่งกายชุดเดิม เพื่อไปสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ชุดใหม่

ผมคิดมานานแล้วเรื่องการเตรียมตัวตาย เมื่อแน่ใจว่าผมจะมีชีวิตอยู่อีกนานไม่เกิน 16 ปี ผมคงต้องเอาจริงเอาจังกับการเตรียมตัวตายเสียที ผมได้เรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวตายจากแหล่งต่างๆ จนพอสรุปได้ว่ามีอยู่ 4 เรื่องที่ผมคงต้องนำมาคิดวางแผนในการเตรียมเดินทางไกลครั้งนี้

  1. ผมจะทำอย่างไรเมื่ออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ใครจะเป็นผู้ดูแล เมื่อผมเจ็บป่วย ผมควรจะไปรับการดูแลรักษาจากสถานพยาบาลใด ผมก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน ว่าผมควรทำอย่างไรในวาระสุดท้ายของชีวิต ที่ผมเตรียมตัวอยู่ในขณะนี้ก็คือรักษาสุขภาพให้ดีที่สุด ดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การพักผ่อนนอนหลับ และการดูแลเรื่องจิตใจและอารมณ์ของตัวเอง ผมพยายามทำตัวให้เป็น “ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี มีพลัง และยังประโยชน์” อยากให้ตัวเองเป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ผมอยากจะหลับไปอย่างสงบแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย
  2. จะทำอย่างไรกับร่างที่หมดลมหายใจแล้ว ผมอยากจะแสดงเจตนาของตนเองว่าต้องการให้จัดการกับร่างที่ไร้วิญญาณของผมอย่างเรียบง่ายที่สุด ผมอยากให้นำร่างของผมไปทำพิธีที่วัดท่าสะอ้าน ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของผม ให้มีการสวดอภิธรรมไม่เกิน 3 คืน เผาร่างของผมแล้วไม่ต้องเก็บเถ้ากระดูกเอาไว้ แจ้งข่าวการตายของผมในวงแคบที่สุด
  3. จะทำอย่างไรกับทรัพย์สินที่มีอยู่ ผมไม่มีทรัพย์สินสมบัติมากมายนัก อสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ไม่กี่รายการก็ได้จัดแบ่งให้ลูกๆ เกือบจะทั้งหมดแล้ว เวลาชีวิตของผมที่เหลืออยู่อีกไม่เกิน 16 ปีนี้ ผมจะต้องจัดการเขียนเป็นพินัยกรรมไว้ให้เรียบร้อย
  4. จะทำอย่างไรกับสิ่งของต่างๆ ที่สำคัญต่อใจของผม สิ่งของหลายอย่างมีความสำคัญทางจิตใจอย่างเช่นภาพถ่ายต่างๆ หนังสือ สมุดบันทึก ของที่ระลึกที่ได้มาในโอกาสต่างๆ ผมคงต้องหาโอกาสกำจัดบางรายการทิ้งไปเสียบ้าง บริจาคและแจกจ่ายให้คนอื่นเสียบ้าง ที่ยังเหลืออยู่ผมคงต้อง “ทำใจ” ว่าใครจะเอาสิ่งของเหล่านั้นไปทำอะไรก็เอาไปเถอะ ผมไม่ห่วง ไม่หวง สิ่งของที่เคยมีความสำคัญต่อใจของผมอีกต่อไปแล้ว

คนไทยควรเตรียมตัวตายตั้งแต่ยังเด็ก

การเตรียมตัวตายใน 4 เรื่องที่ผมได้กล่าวมาข้างต้นนี้ เรื่องแรกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือการเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจของตัวเราก่อนที่จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องมีอายุเพิ่มสูงขึ้น มีการเจ็บป่วย และจะต้องตายไปในที่สุด ดูเหมือนจะมีแต่การเจ็บป่วยเท่านั้นที่คนเราพอจะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราหรือให้เกิดน้อยที่สุดได้ การเกิด การแก่ และการตาย ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การหลีกเลี่ยงการเจ็บไข้คือการดูแลสุขภาพของตัวเราเอง ดูแลเรื่องอาหารการกินอย่างมีวินัย พักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการควบคุมอารมณ์ เรื่องเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดูแลสุขภาพ ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนไทยรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี ตั้งแต่เป็นเด็กตลอดไปจนเป็นผู้สูงอายุ จนกระทั่งตายจากโลกนี้ไปในที่สุด

เราควรสอนให้เด็กๆ และคนรุ่นใหม่ รู้จักการเตรียมตัวแก่และตายตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อพวกเขาจะได้เป็นผู้สูงอายุที่มีพลังสามารถช่วยตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาเป็นภาระให้กับคนอื่น พวกเขาทำได้ถ้าตระหนักรู้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้สูงอายุและจะต้องตายจากโลกนี้ไปในอีก 70-80 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเวลาอีกไม่นานเลย

“ส่วนผมเหลือเวลาอีก 16 ปีเท่านั้น”

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th