The Prachakorn

เมื่อการส่งเสริมการเกิดไม่ตอบโจทย์: แนวทางสร้างสังคมที่พร้อมสำหรับผู้สูงอายุ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

17 ธันวาคม 2567
49



ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร แม้ภาครัฐจะผลักดันนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดการลดหย่อนภาษีสำหรับครอบครัวที่มีบุตร และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร แต่มาตรการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในปัจจุบันหรืออนาคต

ในปี 2565 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุถึง 13 ล้านคนแล้วและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคนในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า โจทย์สำคัญของประเทศไทยคือ เราจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและการคลังของประเทศมากเกินไป ด้วยโจทย์เช่นนี้ ประเทศไทยควรหันมาเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการวางแผนด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

ที่อยู่อาศัยในวัยเกษียณ

การจัดการที่อยู่อาศัยให้มีคุณภาพ เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เช่น มีความมั่นคงปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว เอื้อต่อสุขภาพทางกาย ปกป้องผู้อยู่อาศัยจากการบาดเจ็บ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีพื้นที่สีเขียว และสามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ และบริการต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย

รูปแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ที่อยู่อาศัยทั่วไป เช่น บ้านส่วนตัวโดยทั่วไป
  2. ที่อยู่อาศัยที่ออกแบบเฉพาะ คือ ที่อยู่อาศัยที่จัดไว้เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ และมีบริการดูแล     ส่วนบุคคลแบบไม่เต็มเวลา เช่น หมู่บ้าน/ชุมชนวัยเกษียณ และที่พักอาศัยที่มีบริการการดูแล
  3. ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ คือ สถานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง เช่น สถานบริบาลผู้สูงอายุ และบ้านพักคนชรา

กรอบข้อเสนอแนะของแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ ได้เสนอเกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยเดิม ที่อยู่อาศัยใหม่ และสถานบริบาลโดยมุ่งเน้นการดำเนินการใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การอยู่ร่วมกันหลายรุ่นวัย การเข้าถึงและคุณภาพของที่อยู่อาศัย การจัดระบบบริการทางสังคม กลุ่มผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้ต่ำและผู้ที่ยากจน และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทั้งทางกายภาพและสังคม

แนวทางวางแผนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ

แนวทางในการเตรียมความพร้อมในด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ควรผลักดัน “การสูงวัยในที่เดิม” เป็นแนวทางหลักในการดำเนินนโยบาย คือ สนับสนุนผู้สูงอายุได้อยู่ในบ้านหรือชุมชนของตนเองได้นานที่สุด ซึ่งแนวทางนี้เหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังดูแลตัวเองได้ ต้องการการพึ่งพิงต่ำ หรือผู้สูงอายุที่มีคนให้การดูแลได้อย่างใกล้ชิด โดยรัฐสามารถสนับสนุนได้ด้วยการช่วยปรับปรุง/ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเดิมสำหรับครัวเรือนผู้สูงอายุ ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้สูงอายุที่รวมการซ่อมบ้านผู้สูงอายุ โดยให้สิทธิกับผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน มีที่อยู่อาศัยที่ชำรุดและไม่ปลอดภัย เป็นการช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ในบ้านเดิมได้อย่างมีสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น

แนวทางต่อมาในการวางแผนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ คือ การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับผู้สูงอายุ โดยอาจให้เป็นที่อยู่อาศัยที่อยู่ร่วมกันหลายช่วงวัย หรือ อาจเป็นที่อยู่อาศัยที่มีเฉพาะผู้สูงอายุ โดยมีบริการการดูแลความเป็นอยู่และสุขภาพของส่วนกลาง แนวทางนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยถึงปานกลาง แนวทางการอยู่อาศัยแบบนี้ มีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่มีลูกหลาน และอยากอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนกับผู้อื่น และมีระบบช่วยดูแลสุขภาพในเบื้องต้น การพัฒนาโครงการประเภทนี้จึงควรคำนึงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และที่สำคัญคือต้องสามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้สูงอายุทุกระดับรายได้

แนวทางสุดท้าย คือ สถานบริบาลผู้สูงอายุ หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งในปัจจุบันอาจยังเป็นทางเลือกสุดท้ายของผู้สูงอายุหลายคน แต่ในอนาคตอาจเป็นที่ต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้สูงอายุเริ่มพึ่งพาตนเองไม่ได้ และอาจไม่มีผู้ช่วยดูแล ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานบริบาลผู้สูงอายุราว 700 - 800 แห่ง โดยยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองในภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งในอนาคตคาดการณ์ว่า ประเทศไทยอาจต้องการสถานดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2,000 แห่ง ดังนั้นรัฐควรพิจารณาลงทุนสร้างสถานบริบาลผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีและการสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการแข่งขันที่จะช่วยยกระดับคุณภาพบริการและทำให้ราคาเข้าถึงได้มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้อย่างเป็นรูปธรรมและตรงจุด ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีที่พักอาศัยที่เหมาะสม แต่ยังช่วยลดภาระของครอบครัวในการดูแล และสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นปัจจุบันว่าพวกเขาจะมีทางเลือกในการดูแลตัวเองเมื่อถึงช่วงท้ายของชีวิต

รูป: ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย
ที่มา: https://www.freepik.com (Premium)
สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2567

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th