การสูญเสียเป็นประสบการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักเผชิญกับการจากลาคนที่รักมากขึ้นเมื่อช่วงชีวิตล่วงเลยไป การเผชิญกับความสูญเสียของผู้สูงอายุไม่เพียงเพิ่มความเสี่ยงในการแยกตัวทางจากสังคมทั้งระยะสั้นและระยาว แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดหรือเร่งให้เกิดอาการเจ็บป่วยใหม่ๆ จากความวิตกกังวลและความซึมเศร้าอย่างต่อเนื่องจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร1 งานวิจัยในประเทศแคนาดาชี้ให้เห็นว่า การสูญเสียสัตว์เลี้ยงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามลำพังกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งกิจกรรมทางกาย สุขภาวะทางอารมณ์ และการมีส่วนร่วมในสังคมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งร้อยละ 30 รู้สึกว่า ความโศกเศร้าจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยงเป็นความโศกเศร้าที่ไม่ได้รับการยอมรับ (Disenfranchised Grief) และขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้างในการแสดงออก เช่น ถูกมองว่าการร้องไห้และการแสดงความเสียใจต่อการจากไปของสัตว์เลี้ยงของผู้สูงอายุเป็นเรื่องเกินจำเป็น การแนะนำให้รีบหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ และการพูดถึงผลเชิงบวกของการสูญเสียที่ทำให้ผู้สูงอายุเป็นอิสระจากภาระการดูแลสัตว์เลี้ยง แม้ผู้พูดจะมีเจตนาให้ผู้สูงอายุก้าวผ่านความโศกเศร้าได้ แต่สำหรับผู้สูงอายุที่มองสัตว์เลี้ยงเสมือนบุคคลสำคัญหนึ่งในชีวิต สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการลดทอนคุณค่าของสัตว์เลี้ยงที่ตายไป2
รูป 1 คุณป้าขณะร่วมพิธีศพของเลดี้
ภาพโดย ผู้เขียน
Melanie Donohue นักสังคมสงเคราะห์ทางคลินิกผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาและจิตบำบัดสำหรับผู้สูงอายุมองว่า การจัดการความโศกเศร้าของผู้สูงอายุที่สูญเสียสัตว์เลี้ยงจำเป็นต้องเข้าใจบทบาทของสัตว์เลี้ยงในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เนื่องจากการดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นกระบวนการสร้างความหมายและจุดมุ่งหมายในชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ครั้งหนึ่งอาจเคยสูญเสียเป้าหมายการดำเนินชีวิตไปแล้วหลังการเกษียณ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการช่วยเหลือผู้สูงอายุรับมือความโศกเศร้าดังกล่าวคือ ระบบสนับสนุนการดูแลทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการสูญเสีย โดยครอบคลุม 5 เรื่องดังนี้3
ในหนังสือชื่อ “The Pet Loss Companion: Healing Advice from Family Therapists Who Lead Pet Loss Groups” โดย Ken Dolan-Del Vecchio และ Nancy Saxton-Lopez นักบำบัดด้านครอบครัว กล่าวถึง บทบาทของครอบครัวและเครือข่ายทางสังคมที่มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการก้าวผ่านความสูญเสียจากการตายของสัตว์เลี้ยง เช่นเดียวกับการทำพิธีไว้อาลัยและการจดจำรำลึกอย่างการจัดพิธีศพให้สัตว์เลี้ยงโดยมีคนในครอบครัวและเพื่อนเข้าร่วมงาน การจัดทำของที่ระลึก การเก็บรักษาสิ่งหลงเหลือจากสัตว์เลี้ยง การสร้างหลุมศพ/อนุสรณ์สถาน และการแบ่งปันเรื่องเล่าชีวิตหลังความตายของสัตว์เลี้ยงกับเครือข่ายทางสังคม กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงเป็นการรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงหลังความตาย แต่ยังเป็นการสร้างพื้นที่ให้การแสดงความโศกเศร้าอาลัยต่อการตายของสัตว์เลี้ยงถูกมองเห็น ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุกล้ายอมรับกับความสูญเสียและก้าวผ่านความโศกเศร้าได้ดีขึ้น4
นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้เขียน การวางแผนสุขภาพล่วงหน้าและการทำ Living Will สำหรับสัตว์เลี้ยงยังเป็นอีกทางเลือกของการดูแลใจผู้สูงอายุจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง เนื่องจากทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสทบทวนความสัมพันธ์และความทรงจำที่มีร่วมกับสัตว์เลี้ยงเพื่อเลือกแนวทางการดูแลวาระท้ายที่เหมาะสมกับความต้องการของทั้งคนและสัตว์ รวมถึงวางแผนเพื่อการจากลาหากเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ผู้สูงอายุต้องจากไปก่อน การทำ Living Will สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่สัตว์เลี้ยงยังมีสุขภาพดี เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้สูงอายุลดความกังวลว่าสัตว์จะไม่ได้รับการดูแลหากตนเองไม่อยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นแนวทางให้ดูแลคนใหม่สามารถเข้าใจและดูแลสัตว์เลี้ยงได้ตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นเจ้าของเดิม ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายจากไปก่อน เมื่อวันแห่งการสูญเสียมาถึงก็จะเป็นเพียงวาระที่มีแต่ความเสียใจ แต่ไม่มีความรู้สึกเสียดาย หรือความรู้สึกผิดติดค้างในใจ5
โดยสรุป การจัดการความโศกเศร้าของผู้สูงอายุเมื่อสูญเสียสัตว์เลี้ยง ควรเป็นการฟื้นฟูสุขภาวะทางกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณที่ดำเนินควบคู่กัน ผ่านระบบการสนับสนุนตั้งแต่ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการสูญเสีย ขณะเดียวกัน เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุสามารถแสดงออกถึงโศกเศร้าความอาลัยต่อสัตว์เลี้ยงที่จากไปได้อย่างเปิดเผย เพื่อเป็นการลดผลกระทบทางลบของความโศกเศร้าที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการจัดการความโศกเศร้าจากการสูญเสียสัตว์เลี้ยง คือ การส่งเสริมแนวคิด death empathy หรือความเข้าอกเข้าใจต่อการสูญเสียที่ครอบคลุมถึงทุกชีวิต รวมถึงการมองสัตว์เลี้ยงในฐานะ "ชีวิตที่มีความหมาย" ที่สามารถได้รับการแสดงความโศกเศร้าได้ มากกว่าการเป็นสิ่งที่สามารถสูญเสียได้ แนวทางนี้ไม่เพียงช่วยบรรเทาความโศกเศร้าของผู้สูญเสียสัตว์เลี้ยงในระยะยาว แต่ยังเป็นการยกระดับคุณค่าและความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงในสังคม ที่ทั้งคนและสัตว์ต่างก็เผชิญกับความท้าทายจากการสูงวัยไปพร้อมกัน
เอกสารอ้างอิง