The Prachakorn

บางมิติในการขับเคลื่อน smart city โดย อปท.


นนทวัชร์ แสงลออ

16 ธันวาคม 2567
98



“ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลที่ก่อให้เกิดความโปร่งใสได้ แต่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำเป็นต้องกำหนดวิธีการที่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดบางประการ เพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ (smart city) ให้ได้ดั่งหวัง”


“เมืองอัจฉริยะ: smart city” คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน มีมิติที่สำคัญ 7 ด้านคือ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (smart mobility) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living) พลเมืองอัจฉริยะ (smart people) พลังงานอัจฉริยะ (smart energy) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart governance)1

ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

การเปลี่ยนแปลงสภาพบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความท้าทายต่อการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดแนวทางและเครื่องมือในการบริหารจัดการเมืองในทุกมิติให้เป็นเมืองอัจฉริยะ สามารถสรุปปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ดังนี้2

  1. ความเป็นเมือง (urbanization) หลายพื้นที่ในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากความเป็นชนบทมีความเป็นเมืองมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มเติบโตมากในพื้นที่เมือง การออกแบบเมืองไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ท้องถิ่นโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาเมืองโตเดี่ยว
  2. การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชน อันเป็นผลมาจากการเติบโตของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ผ่านการใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงทรัพยากร องค์ความรู้ เข้าถึงการสื่อสารได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเท่าเทียมกัน แต่จำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ทางดิจิทัล (digital awareness) เพื่อลดผลกระทบจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศโดยมิจฉาชีพให้มากขึ้น
  3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดต่าง ๆ กำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความมั่งคั่งให้กับประชาชนทุกกลุ่ม แต่การดำเนินการดังกล่าว ยังไม่บรรลุผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากนัก จำเป็นต้องแสดงความตั้งใจ มุ่งมั่น และมีการขับเคลื่อนนโยบายอย่างแท้จริง
  4. การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลจำนวนมากเข้าด้วยกัน สามารถถ่ายโอนและเก็บรักษา ข้อมูลที่หลากหลายได้ในปริมาณมหาศาล ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจำเป็นต้องเชื่อมโยงข้อมูลจากหลากหลายแหล่งให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายบนฐานของข้อมูลที่แม่นยำ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้มากที่สุด
  5. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีในภาครัฐ หรือรัฐบาลดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่การดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อจำกัดบางประการที่จำเป็นต้องวางแผนให้ลดอุปสรรคให้ได้มากที่สุด

มุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

David, Bangozzi and Warshaw (1989) ได้นำเสนอแบบจำลองการยอมรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Technology Acceptance Model: TAM) ที่อธิบายถึงปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความตั้งใจแสดงพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (intention to use) และการใช้ระบบจริง (actual system use) ประกอบด้วย การรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีสารสนเทศ (perceived usefulness) การรับรู้ว่าเป็นระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน (perceived ease of use) โดยมีปัจจัยที่เกิดก่อน (antecedents) ประกอบด้วย กระบวนการของอิทธิพลจากสังคม (social influence process) เช่น บรรทัดฐานของบุคคลที่อยู่โดยรอบแสดงพฤติกรรม (subjective norm) ประสบการณ์ (experience) ความสมัครใจ (voluntariness) ภาพลักษณ์ (image) ตลอดจนกระบวนการใช้ปัญญา (cognitive instrumental process) เช่น ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงาน (job relevance) คุณภาพของผลลัพธ์ (output quality) ผลลัพธ์ที่สามารถแสดงให้เห็นก่อนได้ (results demonstrability)3

เมื่อปี 2565 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ดำเนินโครงการ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”4 ในรูปแบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research – PAR) โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เครื่องมือประเมินภาวะความมีชีวิตชีวา (Active aging) สำหรับผู้สูงอายุไทยแบบออนไลน์ เพื่อให้ทราบสถานการณ์ผู้สูงอายุในพื้นที่ สำหรับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการและการจัดบริการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน โดยนำข้อมูลที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บนำมาจัดทำแผนภาพให้เข้าใจง่ายในลักษณะอินโฟกราฟิก (Infographic) และแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งเป็นการทำ Data Visualization ใน 3 พื้นที่ คือ เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย จังหวัดนครปฐม

รูป : ตัวอย่างการนำเสนอผลจาก dashboard ของระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน
ที่มา : สุรียพ์พร พันพึ่ง, ศุทธิดา ชวนวัน, วิภาพร จารุเรืองไพศาล, กาญจนา เทียนลาย, นนทวัชร์ แสงลออ. (2567). การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม. รายงานการวิจัย, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งสามพื้นที่มีการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยี (perceived usefulness) ต่อแบบประเมินความมีชีวิตชีวา และระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านเป็นอย่างมาก สามารถชี้ให้เห็นมิติของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังไม่มีประสิทธิภาพมากนัก สามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายและแผนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้ในอนาคต เมื่อพิจารณาจากมิติการรับรู้ว่าเป็นระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน (perceived ease of use) พบว่า จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงผลการตอบแบบประเมินออนไลน์ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระดับบุคคลสู่ระดับพื้นที่ได้ สามารถปรับปรุงข้อมูลดิบที่พบความผิดพลาดได้ง่าย เมื่อเกิดปัญหาในการใช้ระบบงาน ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ดูแลระบบที่รวดเร็ว

ด้านปัจจัยที่เกิดก่อน (antecedents) จากกระบวนการของอิทธิพลจากสังคม (social influence process) มีผลต่อการรับรู้ถึงประโยชน์ที่ได้รับจากเทคโนโลยีสารสนเทศ (perceived usefulness) การรับรู้ว่าเป็นระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน (perceived ease of use) โดยเฉพาะประสบการณ์ (experience) ความสมัครใจ (voluntariness) และภาพลักษณ์ (image) มีผลต่อการดำเนินงานในการสำรวจข้อมูลจากแบบประเมินออนไลน์เป็นอย่างมาก แม้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จะมีความสมัครใจในการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูล แต่ประสบการณ์แต่ละท่านที่แตกต่างกันมีผลต่อความรวดเร็วและความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ  นอกจากนั้น ความถี่ในการเกิดอาชญกรรมโดยมิจฉาชีพ ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลจำเป็นต้องอาศัยเทคนิคหลากหลายรูปแบบในการขออนุญาตเข้าถึงกลุ่มตัวอย่าง เช่น การลงพื้นที่พร้อมกันหลายท่านต่อครัวเรือน การลงพื้นที่พร้อมบุคลากรหรือพาหนะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างประสบการณ์ในการดำเนินงานวิจัยในชุมชนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น

ด้านกระบวนการใช้ปัญญา (cognitive instrumental process) เช่น ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงาน (job relevance) คุณภาพของผลลัพธ์ (output quality) ผลลัพธ์ที่สามารถแสดงให้เห็นก่อนได้ (results demonstrability) พบว่า แบบประเมินความมีชีวิตชีวา และระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้านให้ข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ข้อมูลที่ได้รับหรือคุณภาพของผลลัพธ์ อาจไม่สามารถชี้เฉพาะความผิดปกติหรือปัญหาของผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจนตามการประเมินของหน่วยงานภายนอก แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ชี้เป้าให้เห็นประชาชนในพื้นที่ที่มีภาวะเปราะบางหรือมีปัญหาบางประการ ให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นสัญญาณถึงความผิดปกติล่วงหน้าที่อาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ สามารถนำเสนอบริการหรือความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (smart city) แต่จำเป็นต้องลดอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้นจากความยากต่อการใช้งาน การนำเทคโนโลยีหรือออกแบบระบบที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ พื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับมอบหมายความรับผิดชอบ การเสริมสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล การสร้างความไว้วางใจของเจ้าของข้อมูล การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ การบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ และขีดความสามารถในการให้บริการของผู้พัฒนาระบบ

ก้าวเดินหนึ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ

ข้อค้นพบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบการตัดสินใจบนฐานของข้อมูลโดยใช้ประเมินภาวะความมีชีวิตชีวา (Active aging) สำหรับผู้สูงอายุไทยแบบออนไลน์ จนพัฒนาระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน พบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่เล็งเห็นประโยชน์ของการนำแบบประเมินความมีชีวิตชีวาไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ เนื่องจากแสดงให้เห็นรายละเอียดขององค์ประกอบของความมีชีวิตชีวาที่มีความครอบคลุมประเด็นสำคัญ สะดวกต่อการประเมินความมีชีวิตชีวาด้วยตนเอง และสามารถรู้ผลการประเมินได้ทันที เมื่อดำเนินการประเมินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตที่ผู้จัดทำได้พัฒนาไว้ให้แล้ว นอกจากนั้น ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวม สามารถนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบาย/ โครงการ/ กิจกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ได้ ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลเชิงลึกการกำหนดแผนการทำงานในระยะยาวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ได้อีกด้วย

ด้านระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน เป็นเครื่องมือที่คณะผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น PowerBI โดยนำข้อมูลทางด้านประชากรจากสำนักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย มาแปลงเป็นประชากรกลางปีของพื้นที่ โดยระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุนี้ เป็นการนำเสนอโครงสร้างอายุและเพศของประชากรในรูปแบบของพีระมิดประชากร ผสานกับการระบุพิกัดที่พักของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ ที่รวมทั้งข้อมูลผู้สูงอายุเปราะบางที่มีภาวะติดเตียง อยู่ตามลำพังคนเดียว ผู้สูงอายุที่ต้องการการกายภาพบำบัด และมีภาวะหลง ๆ ลืม ๆ ผลจากการผสานข้อมูลดังกล่าว ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ได้ทราบสถานการณ์ทางประชากรในพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเอง รวมถึงจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทำให้สามารถรวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มที่มีความต้องการเป็นพิเศษ และให้ความช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

สุภาษิตจีนกล่าวว่า “การเดินทางพันลี้เริ่มต้นด้วยก้าวแรก” หากต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเริ่มก้าวเดินบนเส้นทางที่อาจมีขวากหนามนานับประการ แต่ก็ไม่ยากเกินไป หากมีปณิธานที่แน่วแน่ ลงมือทำอย่างมุ่งมั่น ด้วยการสนับสนุนจากเครือข่ายที่เชี่ยวชาญ สักวันหนึ่งเมืองอัจฉริยะในฝันจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง


อ้างอิง

  1. สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (2564). การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ. เข้าถึงได้จาก https://www.depa.or.th/th/smart-city-plan/smart-city-office
  2. คณิตา ราษฎ์นุ้ย และเบญจวรรณ ไวยวุฒินันท์. (2563). แนวทางการดำเนินโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City). เข้าถึงได้จาก https://www.dla.go.th/upload/templateOrganize/menu/2022/4/1650269069347.pdf
  3. สิริพร ฑิตะลำพูน, ณัฏฐ์วัฒน์ ธนพรรณสิน และธีระวัฒน์ จันทึก. (2560). การยอมรับเทคโนโลยีโดยแบบจำลองแทมม์. วารสารการสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 5(1), หน้า 64-75.
  4. สุรียพ์พร พันพึ่ง, ศุทธิดา ชวนวัน, วิภาพร จารุเรืองไพศาล, กาญจนา เทียนลาย, นนทวัชร์ แสงลออ. (2567). การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้านโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลเมืองกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ จังหวัดนครปฐม. รายงานการวิจัย, สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th