The Prachakorn

อยู่ถึง 100 ปี: ความลับของบลูโซน ซีรีย์ในเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)


ศุทธิดา ชวนวัน

19 ธันวาคม 2567
30



บลูโซน (Blue Zone) หรือพื้นที่ที่ถูกกล่าวขานว่ามีศตวรรษิกชนคนร้อยปีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอันดับต้นๆ ของโลก ได้ถูกหยิบยกมาเล่าอีกครั้งในรูปแบบของซีรีย์ในเน็ตฟลิกซ์ ออกอากาศในปี 2566 เรื่อง “Live to 100: Secrets of the Blue Zones” ผ่านการดำเนินเรื่องโดย แดน บุทเนอร์ (Dan Buettner) นักสำรวจ นักเขียน และนักวิจัยชาวอเมริกัน ที่ใช้เวลากว่าสองทศวรรษเพื่อค้นคว้าและศึกษาเคล็ดลับของการมีอายุยืนยาวรวมถึงพื้นที่ที่เรียกว่า บลูโซน หรือพื้นที่สีน้ำเงิน ซึ่งประกอบด้วย 5 แห่งในโลก ได้แก่ เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี เมืองโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองอิคาเรีย ประเทศกรีซ และเมืองนิโคยา ประเทศคอสตาริกา

บุทเนอร์ เป็นที่รู้จักดีจากงานเขียนที่ชื่อว่า The Blue Zones: Lessons for Living Longer From the People Who’ve Lived the Longest หรือชื่อภาษาไทยว่า “ขอบฟ้าแห่งอายุร้อยปี: บทเรียนเพื่อชีวิตยืนยาวจากคนที่มีอายุยืนยาวที่สุด” หลังจากนั้นบุทเนอร์ได้นำเรื่องราวของพื้นที่สีน้ำเงินมาบอกเล่าในรูปแบบของสารคดีซีรีย์ เพื่อนำเสนอลีลาชีวิต (life-style) ของศตวรรษิกชนในพื้นที่ที่ถูกค้นพบว่ามีคนอายุเกินร้อยอยู่เป็นจำนวนมากในโลก รวมถึงเคล็ดลับที่ทำให้มีชีวิตอยู่ยาวนานเกินกว่าอายุคาดเฉลี่ย การไขความลับของการมีอายุยืนยาว ไม่ใช่การศึกษาเพื่อหลีกเลี่ยงความตายแต่เป็นความพยายามที่จะเรียนรู้ว่าเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรในบั้นปลายชีวิต

ซีรีย์เรื่องนี้ออกอากาศทั้งหมด 4 ตอน จากข้อมูลในสารคดีเรื่องนี้1 พื้นที่สีน้ำเงินทั้งห้าแห่งมีองค์ประกอบบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ การรับประทานอาหารจากพืช การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ และการให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับการมีอายุยืนยาวและการมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตามในท้ายเรื่องของซีรีย์เรื่องนี้ บุทเนอร์ ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้ามีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศที่เราอยู่อาจจะเป็นพื้นที่สีน้ำเงินได้ แทนที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิดของประชากรในประเทศ ควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมแทน

สิงคโปร์ Blue Zone 2.0

สิงคโปร์ เป็นภูมิภาคใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรก ที่ถูกเพิ่มเข้าไปในเขตพื้นที่สีน้ำเงิน และได้รับสมญานามว่าเป็น “พื้นที่สีน้ำเงินแห่งอนาคต” พื้นที่นี้แตกต่างจากพื้นที่สีน้ำเงินในพื้นที่อื่น คือ เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการกิน หรือสภาพแวดล้อมเป็นจุดเริ่มต้น แต่สิงคโปร์เป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นทั้งหมด มีความเป็นเมืองสูง ประชากรมีความหนาแน่น มีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 5.8 ล้านคน และไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของประเทศสิงคโปร์นี้คือ ประชากรมีอายุคาดเฉลี่ยสูงมาก (อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 83 ปี เป็นชาย 81 ปี และเป็นหญิง 85 ปี 2) และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากด้วย

เนื้อหาของซีรีย์เรื่องนี้ได้เน้นให้เห็นความโดดเด่นของพื้นที่นี้ว่า ประชากรในสิงคโปร์อายุยืนยาวอันเนื่องมาจากการมีนโยบายที่ก้าวหน้า ที่เน้นไปยังเรื่อง “คนคือทรัพยากรธรรมชาติ” และสิงคโปร์ยังเน้นกระตุ้น “ให้คนลงมือปฏิบัติ” สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการคือ พยายามให้คนช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด ในอดีตเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมด้านอาหารของสิงคโปร์ไม่ดีต่อสุขภาพมากนัก มีอาหารขยะ อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง แต่รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มที่จะเปลี่ยนสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น สนับสนุนให้ประชากรทานข้าวกล้อง ด้วยการทำให้ข้าวกล้องมีราคาถูก เพื่อให้ผู้คนหารับประทานได้ง่ายขึ้นจนเป็นที่นิยม และยังรณรงค์ให้ร้านค้าเสนอรายการอาหารเพื่อสุขภาพควบคู่ไปด้วย เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ต้องการทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนให้ผู้คนใช้ทางเดินเท้า และการขนส่งคมนาคมที่สะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูก มากกว่าการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ ดังนั้นไม่ว่าคนสิงคโปร์จะอยู่ตรงไหน แค่เดินเท้า หรือขี่จักรยานไปประมาณ 10-15 นาที ก็จะสามารถเดินทางไปยังที่ใดก็ได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ที่น่าสนใจคือ ระหว่างทางเดินนั้น จะเดินผ่านสวนสาธารณะสักแห่งหนึ่งในทั้งหมด 350 แห่ง รวมถึงการได้เห็นผู้คนออกมาออกกำลังกาย ทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของสิงคโปร์เห็นคุณค่าของคนมากกว่ารถยนต์ รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายที่เรียกว่า Proximity Housing Grant ซึ่งสนับสนุนให้ครอบครัวอยู่ใกล้กัน ซึ่งหากลูกๆ อาศัยอยู่ใกล้พ่อแม่สูงอายุแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าพ่อแม่จะไม่ป่วยบ่อย ดังเช่นข้อมูลในสหรัฐอเมริกาที่ซีรีย์นี้ได้กล่าวว่า หากผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราในบั้นปลายชีวิตแล้ว อายุคาดเฉลี่ยจะลดลงไปอีก 2-6 ปี แนวคิดนี้ไม่ได้บังคับให้พ่อแม่อยู่กับลูก แต่ให้แรงบันดาลใจให้อยู่ใกล้ๆ กัน นอกจากดีต่อครอบครัวแล้ว ยังดีต่ออายุขัยอีกด้วย

ในช่วงท้ายของซีรีย์เรื่องนี้ ได้แนะนำได้อย่างน่าสนใจว่า การที่ประเทศอื่นจะนำแนวคิดของสิงคโปร์ไปใช้นั้น อย่างแรกคือ การมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน ที่สำคัญถัดมาคือ การมีกลุ่มคนที่ทุ่มเทให้กับแนวคิดการมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี มีสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยใช้แนวคิดที่ว่า เราจะช่วยลดต้นทุนดูแลสุขภาพได้ เป้าหมายก็ไม่น่าไกลเกินเอื้อม

และนี่เป็นส่วนหนึ่งของซีรีย์ที่สะท้อนลีลาชีวิตและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกที่ได้รับสมญานามว่า “พื้นที่สีน้ำเงิน” เพื่อให้พวกเราได้เรียนรู้และนำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาคนให้สูงวัยในถิ่นที่อยู่ และสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี

รูป: ความเป็นเมืองของประเทศสิงคโปร์
ที่มา: Netflix


เอกสารอ้างอิง

  1. Netflix. Live to 100: Secrets of the Blue Zones. https://www.netflix.com/ search?q=live%20to%20&jbv=81214929. เข้าถึงเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2567
  2. Population Reference Bureau. The 2023 World Population Data Sheet. United States: Washington, DC. https://2023-wpds.prb.org/. เข้าถึงเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th