The Prachakorn

โรคมะเร็งสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย


วิภาพร จารุเรืองไพศาล

23 ธันวาคม 2567
145



มะเร็ง เป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเซลล์ร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้ ทำให้ลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายผ่านระบบเลือดหรือระบบน้ำเหลือง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ อายุ บุหรี่ แสงแดดและแสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) รังสีในธรรมชาติ หรือเอ็กซเรย์ รังสีนิวเคลียร์ แก๊ซเรดอน สารเคมี เชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิด การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน ประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง แอลกอฮอล์ และวิถีการเนินชีวิตบางอย่าง เช่น การกินอาหารไขมันสูง อย่างไรก็ตาม การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นมะเร็ง ในขณะเดียวกันผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็สามารถเกิดมะเร็งได้เช่นเดียวกัน1

โรคมะเร็งป้องกันได้ เริ่มต้นที่ตนเอง จากการปฏิบัติตนตามข้อแนะนำ กินอาหารที่มีประโยชน์สะอาดถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรตรวจสุขภาพหรือตรวจคัดกรองมะเร็งเป็นประจำทุกปี หากตรวจพบรอยโรคเร็ว จะสามารถป้องกัน ไม่ให้โรคลุกลามหรือรักษาให้หายขาดได้

การรักษามะเร็งตามหลักสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยคือ การรักษามะเร็งแบบวิธีผสมผสานของ ศัลยกรรม (ผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้าง) รังสีรักษา, เคมีบำบัด, การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน และการรักษาโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย จะเห็นว่าการรักษามะเร็งแต่ละชนิด หรือการรักษามะเร็งแต่ละกลุ่ม มีความแตกต่างกันแม้แต่การผสมผสานวิธีการรักษามะเร็ง แต่ละวิธีก็ไม่เหมือนกัน2

สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทยติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี สาเหตุการตายจากข้อมูลมรณบัตรในปี 2565 พบว่า สาเหตุการตายที่สำคัญ ได้แก่ มะเร็งทุกชนิด, โรคหลอดเลือดในสมอง, ปอดอักเสบ, โรคหัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุจากการคมนาคมขนส่งทางบก3 มะเร็งเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัยและเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดมะเร็งก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วยข้อมูลอัตราตายจากโรคมะเร็งแสดงให้เห็นแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น โดยอัตราตายจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งหลอดคอ หลอดลมใหญ่และปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย ในขณะที่โรคมะเร็งที่พบเฉพาะในผู้หญิง พบอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมของผู้หญิงเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 9.9 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 14.2 ในปี 2565

ตาราง อัตราตายจากโรคมะเร็งของประชากรต่อประชากรแสนคน
จำแนกตามเพศ และชนิดของมะเร็ง พ.ศ. 2556 – 2565

ที่มา: รายงานสถิติสาธารณสุข 2560, 2565 กระทรวงสาธารณสุข


เอกสารอ้างอิง

  1. ศูนย์มะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชหารุณย์. มะเร็ง รู้เร็วรักษาได้. https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/cancer สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567
  2. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. การรักษามะเร็งตามหลักสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทย. www.nci.go.th สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2567
  3. กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข. (2565). สถิติสาธารณสุขพ.ศ. 2565. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข. https://spd.moph.go.th/wp- content/uploads/2023/11/Hstatistic65.pdf สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th