โครงสร้างทางอายุของประชากรในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงเป็นประชากรสูงวัยเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และปัจจุบันก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ กว่า 1 ใน 5 ของประชากรไทยเป็นประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อัตราการเพิ่มประชากรสูงอายุ รวดเร็วกว่าประชากรในวัยเด็ก (อายุ 0-14 ปี) และวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) โดยคาดการณ์ว่าภายใน 10-15 ปีข้างหน้ากว่า 1 ใน 3 ของประชากรไทยเป็นประชากรสูงอายุ
การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ ไม่เพียงเป็นบทบาทของรัฐในการส่งเสริมและสนับสนุน หัวใจสำคัญคือ ประชากรไทยทุกคนต้องตระหนักถึงประเด็นท้าทายต่างๆ ในบริบทสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและสังคม สิ่งที่ต้องเตรียมก่อนที่จะก้าวสู่วัยสูงอายุเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ เป็นที่พึ่งให้กับคนอื่น ไม่ใช่ภาระของสังคม ซึ่งต้องเตรียมทั้งการพัฒนาคุณภาพตนเองและความพร้อมในทุกมิติ ด้านความรู้ เศรษฐกิจ สุขภาพการอยู่อาศัย และสภาพแวดล้อม
หนังสือ “พลังชีวิต: ข้อคิดเพื่อคนทุกวัย” จัดทำโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาวิทยาลัยประชากรศาสตร์ ครบรอบ 57 ปี เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เริ่มด้วยหลักวิชาการ ชี้ให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมใน 7 มิติให้กับตนเองและครอบครัว และหลักคิดเพื่อช่วยแก้ไขนิสัย ปรับความคิด ทัศนคติ เพื่อให้สามารถก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความสุขการฝึกปล่อยวาง และวิธีการรับมือกับบทบาทของผู้สูงอายุในสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์
หลักคิดให้ใจเป็นสุขสำหรับผู้สูงอายุ: แก้ไขนิสัย ปรับความคิดและทัศนคติเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข ปั้นปลายชีวิตจะได้พบกับความสงบสุข สิ่งสำคัญในการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต คือทัศนคติและวิธีคิดที่ถูกต้อง รวมถึงอุปนิสัยบางอย่างที่ควรต้องลดและเลิก
หลักคิดให้ใจเป็นสุขสำหรับผู้ดูแล: ทัศนคติและวิธีรับมือกับภาระที่หนักอึ้งของผู้ดูแล
งานดูแลผู้สูงอายุหรือคนป่วย ถ้าเป็นลูกหลานถือว่าเป็นการทดแทนพระคุณ หรือถ้าเป็นลูกจ้างถือเป็นอาชีพ เป็นงานที่ต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ อาศัยความอดทนควบคู่ไปกับความมีเมตตา ให้อภัยและมีทัศนคติที่ดี
ที่มา: วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2566). พลังชีวิต: ข้อคิดเพื่อคนทุกวัย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.