The Prachakorn

“ภัยออนไลน์” ภัยเงียบที่มากับวิถีชีวิตยุคดิจิทัล


กัญญา อภิพรชัยสกุล

26 กันยายน 2566
337



ท่ามกลางความเจริญทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนทำได้ง่ายขึ้นและสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย  แต่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้นนั้น เหมือนเป็นดาบสองคม มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกช่วยทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็น การสั่งอาหาร การสั่งซื้อสินค้า การทำงาน รวมไปถึงการเรียนการสอน สามารถทำบนแพลตฟร์อมออนไลน์ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีด้านบวกก็ต้องคำนึงถึงด้านลบด้วย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ง่ายขึ้นนั้น ทำให้ภัยเงียบที่แอบซ่อนมากับการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยได้อย่างที่ไม่ทันได้ตั้งตัว หรือไม่ทันได้ตระหนักถึงอันตรายด้วยเช่นกัน นั่นคือ “ภัยออนไลน์” เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มมิจฉาชีพ ฉวยโอกาส หลอกลวง ข้อมูลส่วนตัวของเราไปได้ง่ายๆ หรือบางครั้ง เราเองก็อาจกลายเป็นผู้กระทำผิดโดยไม่รู้ตัวก็ได้

ข้อมูลจากศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า เพียงแค่ระยะเวลา ประมาณ 17 เดือน มีคดีออนไลน์ต่างๆ หรือคดีอาชญกรรมทางเทคโนโลยี  มากถึง 308,807 คดี โดยเป็นคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยทำคนเดียวหรือทำแบบไม่เป็นขบวนการมากที่สุด จำนวน 122,045 คดี และพบว่า มีมูลค่าความเสียหายถึง 42,827,845,210 บาท นับเป็นมูลค่าความเสียหายมหาศาลเลยทีเดียว ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไป เป็นชีวิตวิถีใหม่ที่เกี่ยวโยงกับการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เช่น การสั่งอาหารออนไลน์ สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตให้เข้ากับโลกเสมือนที่เรียกว่า โลกไซเบอร์ รวมไปถึงการมีแพลตฟอร์มในการให้บริการต่างๆ ดังนั้นประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะ และความฉลาดทางดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล

ผู้กำหนดนโยบายหรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้เท่าทันต่อการใช้โซเซียลมีเดีย (social media) ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ ในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ การพิจารณาไตร่ตรองถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล การประมวลผลข่าวสาร การแยกแยะข่าวและไม่หลงเชื่อไปกับข่าวปลอม เพื่อให้สามารถดูแลปกป้องตัวเอง ปกป้องข้อมูลส่วนตัว ลดความเสี่ยงจาก “ภัยออนไลน์” ทั้งของตัวเองและสังคมลงได้

 

ภาพปก freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th