The Prachakorn

เครื่องแบบนักเรียน: ความเท่าเทียมบนความเหลื่อมล้ำ…?


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

17 ธันวาคม 2563
1,878



ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนคงต้องได้ยินประเด็นการพูดถึง หรืออภิปรายถึงข้อดีและข้อเสีย เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับ กับสิทธิเสรีภาพของนักเรียนไทยในเรื่องการแต่งกายด้วยเครื่องแบบชุดนักเรียนในการเข้าเรียนหนังสือ หนึ่งในประเด็นที่มีการอภิปรายกันมาก น่าจะเป็นในเรื่องชุดนักเรียนกับการลดความเหลื่อมล้ำ ว่าที่ผ่านมามันเป็นเช่นนั้น หรือ เป็นในทางตรงกันข้าม…

บทความสั้นนี้ ถูกเขียนขึ้นโดยมีที่มาจากข้อคำถามข้างต้น แต่ผู้เขียนต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าเมื่อผู้อ่านอ่านจบก็คงจะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนแบบฟันธงได้อยู่ดีว่า “ใช่” หรือว่า “ไม่”

ผู้เขียนขอเอาข้อมูลการสำรวจระดับประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาลองวิเคราะห์แบบเร็ว ๆ เพื่อดูว่าปัจจุบันครอบครัวต้องแบกภาระในเรื่องค่าชุดนักเรียน เครื่องแบบต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด และเมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายเสื้อผ้าไปรเวท  (ที่ไม่ใช่ชุดเครื่องแบบนักเรียน) ภาระค่าใช้จ่ายเหล่านั้น มีความแตกต่างกันหรือสามารถสะท้อนประเด็นในเรื่องความเท่าเทียมและเหลื่อมล้ำ ของภาระค่าใช้จ่ายที่มีต่อตัวนักเรียนและครัวเรือนอย่างไรบ้าง

ชุดข้อมูลที่ลองนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562  ซึ่งมีข้อคำถามชุดหนึ่ง เกี่ยวกับสถานภาพการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องของสมาชิกในครัวเรือนแต่ละคน โดยเลือกมาเฉพาะสมาชิกครัวเรือน หรือบุคคลที่กำลังเรียนอยู่ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเอาข้อมูลค่าใช้จ่ายเครื่องแบบ หรือชุดนักเรียน/ชุดนักศึกษา (ทุกประเภทที่กำหนด) ซึ่งเป็นข้อมูลระดับบุคคล มาลองวิเคราะห์ดู จากข้อมูลนี้ ในภาพรวมของนักเรียน นักศึกษาไทยในทุกระดับชั้น เราพบว่า ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาตลอดปีการศึกษา เฉลี่ยต่อคน  อยู่ที่ ประมาณพันบาทนิด ๆ (รูป 1) ซึ่งถ้าลองจำแนกดูตามระดับชั้นการศึกษา จะพบว่าค่าใช้จ่ายเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาเฉลี่ยต่อคนนี้ มีระดับที่สูงขึ้นตามระดับชั้นการศึกษาที่สูงขึ้น (ระดับอนุบาลก่อนชั้นประถมอยู่ที่ประมาณ 700 บาท และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เป็นเกือบประมาณ 1,400 บาท ในระดับชั้นมัธยมตอนปลายและสูงกว่ามัธยมตอนปลาย หรือระดับมหาวิทยาลัย) เมื่อดูค่าตัวเลขนี้เพียงอย่างเดียว เราคงยังไม่เห็นภาพว่าค่าใช้จ่ายนี้มันแพงหรือมันถูก มันเท่าเทียมหรือเหลื่อมล้ำ

 
ที่มา ประมวลโดยผู้เขียนจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
หมายเหตุ ครอบคลุมเฉพาะ สมาชิกครัวเรือนที่มีสมาชิกกำลังเรียนหนังสือ ทั้งในสถานศึกษารัฐบาลและเอกชน วิเคราะห์โดยถ่วงน้ำหนักข้อมูลด้วยค่าถ่วงน้ำหนักระดับครัวเรือน

ขั้นต่อไปเราจึงลองนำข้อมูลอีกส่วนจากการสำรวจเดียวกัน ซึ่งมีชุดข้อคำถามเกี่ยวกับรายจ่ายของครัวเรือน ในหมวดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และรองเท้า (ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ รวมค่าชุดเครื่องแบบของสมาชิกครัวเรือนที่เป็นนักเรียนแล้ว) มาลองวิเคราะห์เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาดู ทั้งในภาพรวม และเมื่อจำแนกตามระดับเศรษฐานะของครัวเรือน (ในที่นี้ ระดับเศรษฐานะของครัวเรือน หรือ household quintiles  พิจารณาจากระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือนเฉลี่ยต่อหัวสมาชิก โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 20% เท่าๆ กัน จากครัวเรือน 20% จนที่สุด ถึง 20% รวยที่สุด) ที่น่าสนใจ คือเราพบว่า ในภาพรวมค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องแบบของสมาชิกครัวเรือนที่กำลังเรียนหนังสือ โดยเฉลี่ย คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายหมวดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าเฉลี่ยต่อหัวสมาชิกในครัวเรือน (จากรูป 2  คือ 1,028 บาท เทียบกับ 1,944 บาทต่อปี ซึ่งคิดแล้ว แม้จะดูเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงแต่ก็น่าจะสมเหตุสมผล เมื่อลองนึกภาพว่าใน 7 วันของ 1 สัปดาห์ ในช่วงเปิดเทอมนักเรียนนักศึกษาต้องใส่ชุดเครื่องแบบมากถึง 5 วัน อีก 2 วันได้ใส่ชุดเสื้อผ้าและรองเท้าประเภทอื่น ๆ รวมถึงชุดนอนในเวลากลางคืน)
แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ เมื่อจำแนกดูตามระดับฐานะของครัวเรือน เราพบว่าค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาแม้จะมีความแตกต่างกันระหว่างครัวเรือนที่มีฐานะไม่ดีกับครัวเรือนที่มีฐานะดี แต่ความแตกต่างนั้นนับว่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับความแตกต่างของค่าใช้จ่ายหมวดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไปของครัวเรือน ยกตัวอย่างเช่น ในครัวเรือนฐานะ 20% จนที่สุด  ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 744 บาท ขณะที่ในครัวเรือนฐานะ 20% รวยที่สุด อยู่ที่ 1,699 บาท แตกต่างเพียงกัน 2 เท่านิด ๆ แต่เมื่อดูค่าใช้จ่ายหมวดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไประหว่างครัวเรือนสองกลุ่มนี้ กลับพบว่ามีความแตกต่างกันมากถึง เกือบ 12 เท่า (591 บาทกับ 7,062 บาท ตามลำดับ)


ที่มา ประมวลโดยผู้เขียนจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ข้อสังเกต ในระดับเศรษฐานะ 20% ยากจนที่สุด รายจ่ายค่าเครื่องแบบ พบว่าสูงกว่าค่าเสื้อผ้าและรองเท้าของครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน อาจเป็นไปได้ว่า สมาชิกครัวเรือนคนอื่นที่ไม่ได้กำลังศึกษา ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าและรองเท้า  

เมื่อเราลองนำข้อมูลสองชุดนี้มาวิเคราะห์ลึกซึ้งขึ้นไปอีก (ผู้เขียนขออภัยที่เนื้อหาบทความนี้ ดูจะติดเรท วิชาการมากเกินไปนิด) โดยวิเคราะห์การกระจายตัวของค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนนี้ เปรียบเทียบกับระดับสถานะของครัวเรือน ด้วยค่าดัชนีการกระจุกตัว หรือ concentration index (ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการคำนวณค่า Gini Coefficient ที่ใช้วัดความเท่าเทียมของการกระจายรายได้) เราก็พบว่า ดัชนีการกระจุกตัวของค่าใช้จ่ายเครื่องแบบ ชุดนักเรียนชุดนักศึกษามีค่าเท่ากับ 0.156  ขณะที่ของค่าใช้จ่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไปของครัวเรือน (เฉลี่ยต่อสมาชิก) มีค่าเท่ากับ 0.457 (รูป 3)  ซึ่งหมายความว่าค่าใช้จ่ายเครื่องแบบชุดนักเรียนชุดนักศึกษาค่อนข้างมี “ความเท่าเทียมกัน” เมื่อเปรียบเทียบกับระดับฐานะของครัวเรือน มากกว่าค่าใช้จ่ายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไป ถึงเกือบ 3 เท่า (หลักการของค่าดัชนีการกระจุกตัว คือ เมื่อเข้าใกล้ 0 ยิ่งเท่าเทียม เข้าใกล้ 1 ยิ่งแตกต่างเหลื่อมล้ำ)

ที่มา ประมวลโดยผู้เขียนจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

มาถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมผู้เขียนถึงเอาค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาของสมาชิกครัวเรือนที่กำลังเรียนเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไปของครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน คำอธิบายก็คือ ผู้เขียนอยากลองเปรียบเทียบว่า หากนักเรียนนักศึกษาไม่ใส่ชุดเครื่องแบบ แต่เลือกใส่ชุดทั่วไปที่ใส่ในวันปกติหรือวันหยุดไปเรียนหนังสือ (ซึ่งมีแนวโน้มขึ้นอยู่กับฐานะทางบ้านของตนเอง – ในการวิเคราะห์แบบเร็ว ๆ ในครั้งนี้ก็เลยลองใช้ ระดับรายจ่ายเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไปของครัวเรือนเฉลี่ยต่อคน มาเป็นตัวแทน หรือ proxy)   ความแตกต่างเหลื่อมล้ำของค่าใช้จ่ายในเรื่องเสื้อผ้าที่ใส่ไปเรียนหนังสือ ระหว่างครัวเรือนที่มีฐานะดีกับฐานะไม่ดีนั้นจะเพิ่มขึ้นหรือไม่

จากข้อมูลที่พบและแสดงไปในเนื้อหาก่อนหน้า ทำให้พอจะสรุป (แบบเร็ว ๆ) ได้ว่า ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบชุดนักเรียนนั้นมีความเท่าเทียมกัน “มากกว่า”  ระหว่างครัวเรือนฐานะดีกับครัวเรือนฐานะไม่ดี เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้า ในกรณีที่นักเรียนหรือผู้เรียน เลือกแต่งกายไปรเวท ในชีวิตทั่วไปมาเรียน ซึ่งพบว่า ระดับค่าใช้จ่ายแบบหลังนี้ จะแตกต่างกันระหว่างครัวเรือนฐานะดีกับฐานะไม่ดีหลายเท่าตัว ซึ่งยืนยันด้วยค่าดัชนีการกระจุกตัวของค่าใช้จ่ายที่สูงด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองย้อนกลับไปดูตัวเลขที่แสดงในรูป 2 อีกครั้ง ซึ่งเราเห็นไปแล้วว่าค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษานั้น แม้จะแตกต่างแต่ก็แตกต่างกันไม่มากระหว่างครัวเรือนในทุกระดับเศรษฐานะ (ซึ่งน่าจะสะท้อนความเท่าเทียมกัน) แต่อยากให้ลองพิเคราะห์อีกทีสักนิดหนึ่ง ในกราฟแท่งที่แสดงค่าใช้จ่ายของครัวเรือน 20% จนที่สุด ท่านจะเห็นว่า แม้ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาในครัวเรือนยากจนกลุ่มนี้จะต่ำที่สุด (744 บาทต่อคนต่อปี) เมื่อเทียบกับครัวเรือนกลุ่มอื่น แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายในเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าของครัวเรือน (เฉลี่ยต่อสมาชิก 1 คน) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียง 591 บาท ซึ่งหมายความว่า ในครัวเรือนยากจนกลุ่มนี้ ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษายังเป็นภาระที่หนักหนา กว่าค่าใช้จ่ายหมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและรองเท้าทั่วไปของครัวเรือน ในครัวเรือนกลุ่มนี้ที่มีสมาชิกบางคนกำลังเรียนหนังสือ อาจจะต้องมีสมาชิกบางคนที่ถูกลดค่าใช้จ่ายในเรื่องเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายและรองเท้าเพื่อเอามาชดเชยเป็นค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษาสำหรับสมาชิกที่เรียนหนังสือและต้องใส่เครื่องแบบ

บทสรุปของบทความนี้ อ้างอิงตามตัวเลขที่วิเคราะห์ออกมา เราคงพอจะกล่าวได้ว่า เครื่องแบบนักเรียนนักศึกษา นั้นทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระดับหนึ่งในด้านภาระค่าใช้จ่ายระหว่างผู้เรียนฐานะดีและฐานะไม่ดี แต่คงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลงได้ ตราบใดที่ค่าใช้จ่ายเครื่องแบบการศึกษายังคงเป็นภาระที่หนักอึ้งเกินกำลังสำหรับครัวเรือนที่มีฐานะยากจน (แม้เราจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านเครื่องแบบการศึกษาที่ดำเนินการมาหลายปีแล้วก็ตาม)...

(หมายเหตุ ผู้เขียนขอขอบพระคุณข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลที่วิเคราะห์และนำเสนอในบทความนี้ เป็นการประมวลผลและตีความตามความเห็นของผู้เขียน และอาจไม่ใช่ความคิดเห็นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

 

 

 

 

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th