งานถอดเทป เป็นอาชีพที่มีมานานแล้วและยังคงได้รับความนิยมถึงปัจจุบันนี้ มีหน้าที่ถอดเสียงจากเทปและอุปกรณ์อัดเสียงต่าง ๆ เพื่อนำเนื้อหาจากเสียงออกมาเป็นรูปแบบของตัวหนังสือเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การถอดเทปเสียงสัมภาษณ์จากการอัดเสียงในโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปทำรายงาน จะได้รับมอบหมายงานมาในรูปแบบของไฟล์เสียงหรือไฟล์วีดีโอเพื่อนำเสียงจากในไฟล์นั้น ๆ ไปแปลงออกเป็นตัวหนังสือในรูปแบบของไฟล์ Microsoft Word หรือโปรแกรมอื่น ๆ ด้วยการคัดลอกข้อความจากไฟล์เสียงและส่งมอบแก่ผู้ว่าจ้าง
งานถอดเทปเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหลายสาขาวิชา เท่าที่ทราบก็จะเป็นด้านนักข่าวที่มีการบันทึกข้อมูลข่าวสารเพื่อสะดวกง่ายในการสรุปและในการเผยแพร่ ตลอดจนงานเลขานุการคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ต้องสรุปรายงานการประชุมของแต่ละหน่วยงานนั้น ๆ แต่สำหรับเราได้ถอดเทปในด้านงานวิจัย คงต้องบอกว่าไม่ง่ายเลย อย่าคิดว่า 60 นาทีที่ถอดจะเสร็จภายใน 60 นาที อาจจะต้องลากยาวกว่านั้น และมีหลายปัจจัยที่จะทำให้งานนั้นเสร็จลงได้ และที่สำคัญที่สุด คือ ความอดทนของผู้ถอด แต่อย่างไรก็ตาม งานถอดเทปเป็นสิ่งที่ผู้เขียนรัก คงมีมุมหนึ่งที่เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า รักและประทับใจ.. ในงานถอดเทป จากการที่บอกว่า คนไทยอ่านหนังสือน้อยไม่ผ่านเกณฑ์1 แต่งานถอดเทปเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการฟัง และทำให้มีความรู้ได้มากขึ้น ที่นอกเหนือจากการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นเสมือนว่าเราฟังและสะสมความรู้นั้น ๆ ได้
การทำงานที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นการถอดความจากเทปคาสเซ็ท เทปม้วนแรกที่ได้รับจากเพื่อนๆ ความยาว 80 นาที เขาถามมาว่า “ถอดเทปไหม ให้นาทีละ 10 บาท” เรามาคำนวณได้เยอะอยู่นะตั้ง 800 บาท จึงรับปาก แต่...โอ.!!!.พระเจ้า...เกือบไม่รอดกว่าจะสำเร็จลงได้ และในความเข้าใจแรกที่รับงานถอดเทปนี้ คิดว่าคงใช้เวลาในการฟังจากเทปและพิมพ์เสร็จคงใช้เวลา 80 นาที แต่ความเป็นจริงไม่ใช่เลย ในงานแรก 80 นาที จำได้ว่าเราใช้เวลาเกือบอาทิตย์ที่จะทำให้งานนั้นเสร็จเรียบร้อยลงไปได้ การถอดเทปนับว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูงอีกงานหนึ่งเดียว จะต้องฝึกฟัง และพิมพ์ไปด้วย และถ้าไม่ได้ก็ต้องวนเทปหลายๆ รอบเพื่อจับใจความให้ได้ การถอดเทปขึ้นอยู่หลายปัจจัย เช่น ความชัดเจนของเสียง ความยากง่ายของเนื้อหาที่ถอด และที่สำคัญคือการมีสมาธิในการพิมพ์และฟัง หลังจากงานแรกเสร็จไป เราก็รับงานต่อมาเรื่อยๆ งานที่ 2 3 4 ก็ตามมาตลอด และบอกได้เลยว่าเกิน 50% เป็นผลงานการถอดเทปของเราที่ได้ทำให้กับโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่ทำในสถาบันฯ และเริ่มชอบงานถอดเทปโดยที่ว่าให้ความรู้กับผู้ถอดมากมาย
ขอขอบพระคุณทีมงานวิจัยทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้ ที่ได้ไว้วางใจมอบหมายให้ถอดเทปงานวิจัยประทับใจมากที่สุดชิ้นนี้ แม้จะได้เป็นระยะนานถึง 13-14 ปีมาแล้วก็ตาม (พ.ศ. 2550 - 2564) เรายังคงจำและระลึกถึงงานถอดเทปชิ้นนี้ได้ดี เป็นการถอดเทปสัมภาษณ์ของผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 100 ปี และแต่ละท่านอยู่มาถึง 5 แผ่นดิน ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 6 7 8 จนถึงรัชกาลที่ 9 มีหลายมุมมองมากผู้เขียนรู้สึกชอบและประทับใจ รู้สึกสนุกและย้อนภาพ เมื่อแต่ละท่านให้สัมภาษณ์ย้อนอดีตเมื่อ 100 ปีของประเทศไทยที่ผ่านมา รู้สึกชอบมาก เทป “คนห้าแผ่นดิน” ได้บอกว่า ขณะนี้เราอยู่กับรัชกาลใด มีสังคมหรือวิถีชีวิตเป็นอย่างไร ผู้เขียนก็ได้ค้นคว้าอ่านเพิ่มเติมเช่นกัน
ที่มา: ปราโมทย์ ประสาทกุล, ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และ สุภาณี ปลื้มเจริญ. (2550). คนห้าแผ่นดิน: ประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564. สืบค้นจาก https://www.naiin.com/product/detail/3953 และ http://www.ms.ipsr.mahidol.ac.th/books_stock/index.php
ลองย้อนเวลากลับไปยังพ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีที่ผู้เขียนถอดเทปชิ้นนี้ ตอนนั้นอายุได้ 44 ปี และมาเปรียบเทียบกับช่วงอายุ 44 ปีของ “คนห้าแผ่นดิน” ซึ่งตรงกับช่วงของรัชกาลที่ 8 มากันดูว่า ช่วง 44 ปีของผู้เขียนกับช่วงอายุ 44 ปี ของ “คนห้าแผ่นดิน” ซึ่งถ้านับระยะห่างก็ประมาณ 61 ปี (ตั้งแต่พ.ศ. 2489 ถึง พ.ศ. 2550) จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร
อายุ 44 ปี ของผู้เขียน อยู่ในรัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2550)2 |
อายุ 44 ปี “คนห้าแผ่นดิน” อยู่ในรัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477-2489)2 |
ในยุคนี้เป็นระบบประชาธิปไตย |
ในยุคสมัยนั้นเป็นระบบประชาธิปไตย |
ภาพโดย: นายกรัฐมนตรีของไทย 29 คน เปิดทำเนียบผู้นำรัฐบาล. เข้าถึงเมื่อ 3 พฤษภาคม 2565. สืบค้นจาก https://hilight.kapook.com/view/1074346
เมื่ออายุ 44 ปี ของ “คนห้าแผ่นดิน” ตรงกับรัชกาลที่ 8 บ้านเมืองมีความลำบากมาก และเกิดการเปลี่ยนผ่านมากมาย เนื่องจากบ้านเมืองเพิ่งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่กี่ปี การปกครองที่ยาวนานของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และการเป็นอยู่ไปทางตะวันตก และ “คนห้าแผนดิน” ได้รับรู้ถึงความโศกเศร้า3 อาดูรของปวงชนชาวไทย เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 มีอายุ 20 พรรษา ครองราชย์ประมาณ 12 ปี
เมื่ออายุ 44 ปีของคนถอดเทป ความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเมื่อสมัย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นปีที่ 226 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นปีที่ 62 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยในปีนั้นได้เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา บ้านเมืองเรามีการเปลี่ยนผ่านนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง และอีก 9 ปีต่อมา จบจนสิ้นแผ่นดินของ “คนห้าแผ่นดิน” คนไทยได้พบกับความสูญเสียอันใหญ่หลวง ในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อของแผ่นดินท่านเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 29 และ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีสืบต่อมา และนายกรัฐมนตรีของเรายังเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจนถึงปัจจุบัน
ภาพบรรยากาศของการถวายพระเพลิง ของรัชกาลที่ 9
วันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ณ ท้องสนามหลวง
ถ่ายโดย ผู้เขียน
ผู้เขียนอยากจะบอก “คนห้าแผ่นดิน” ว่า สิ่งที่ท่านได้พบเห็นเมื่อ 100 กว่าปีนั้น แต่ละรัชกาลที่ได้สร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองนั้น ณ ตอนนี้ผู้เขียนในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็น “คนสองแผ่นดิน” บ้านเมืองของเราเจริญขึ้นมาก แม้แต่คนสองแผ่นดินเองยังตามไม่ทันเหตุการณ์บ้านเมือง ถนนหนทางการสาธารณูปโภคต่าง ๆ เท่าเทียมกับนานาประเทศ บางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีอาจจะไม่มีอีกแล้ว เช่น โทรศัพท์บ้านก็จะน้อยลง โทรเลขไม่ใช้กันต่อไป ฯลฯ แต่สิ่งที่ “คนสองแผ่นดิน” พบและไม่เปลี่ยนไปในโลกปัจจุบันนี้เลย นอกจากความเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์ของบ้านเมืองแล้ว คือ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของ “คนห้าแผ่นดิน” ความเชื่อนี้ตกทอดมาถึงผู้ถอดเทป โดยเฉพาะหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืดไม่ว่าจะวัดพะโค หรือว่าวัดช้างไห้ ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไหร่จะขึ้นไปขอพรท่านที่วัดช้างไห้เกือบทุกปี และลูกขออาราธนาให้สิ่งศักดิ์สิทธินี้จนดลบันดาลให้ประเทศไทยและประชาชนชาวโลก ผ่านพ้นวิกฤติทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะโรคระบาดโควิด-19 ไปได้ด้วยเทอญ....สาธุ
นี่.... คือ สิ่งเล็ก ๆ ที่ประทับใจจากงานถอดเทปของผู้เขียน งานที่ไม่ได้ให้แค่ค่าขนม แต่ให้สาระและความอิ่มใจ แบบไม่รู้ตัว
อ้างอิง
ประทีป นัยนา