The Prachakorn

เครื่องดนตรี


วรชัย ทองไทย

15 เมษายน 2561
8,200



เครื่องดนตรีเป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นหรือที่ดัดแปลง เพื่อทำให้เกิดเสียงดนตรี เครื่องดนตรีเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมมนุษย์ เริ่มแรกเครื่องดนตรีจะใช้ในพิธีกรรม เช่น กลองใช้ในพิธีทางศาสนา แตรใช้เป็นสัญญาณเพื่อบอกถึงความสำเร็จในการล่าสัตว์ ต่อมาจึงถูกนำมาใช้เพื่อการบันเทิง  

เครื่องดนตรีมีหลายรูปแบบ และทำจากวัสดุทุกชนิด เครื่องดนตรีสมัยแรกทำจากวัสดุที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่น เปลือกหอย หรือจากส่วนต่างๆ ของพืช จึงมีเพียงเสียงเดียว ต่อมาได้มีการดัดแปลงหรือสร้างขึ้นใหม่ ทำให้สามารถเล่นได้หลายเสียง

แต่ละวัฒนธรรมจะพัฒนาเครื่องดนตรีของตนเองขึ้นมาอย่างเป็นเอกเทศ แต่การติดต่อค้าขายได้ทำให้เครื่องดนตรีแพร่หลายข้ามวัฒนธรรม โดยผู้รับอาจจะนำเอาไปใช้เล่นโดยตรง หรือดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมของตน การสร้างเครื่องดนตรีเลียนแบบนั้น ต้องใช้วัสดุหาได้ในท้องถิ่น ทำให้มีการพัฒนาเครื่องดนตรีกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยกลาง จนถึงจุดสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีผลทำให้เครื่องดนตรีหลายชนิด เช่น ไวโอลิน มีรูปทรงที่ยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

ระหว่างปี ค.ศ. 1750 – 1900 อันเป็นยุคทองของวงดุริยางค์ (orchestra) และอุปรากร (opera) ได้มีการพัฒนาเครื่่องดนตรีขึ้นอีกหลายชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับความประสงค์ของผู้ประพันธ์เพลง และความต้องการของผู้ฟัง เช่น ไวโอลิน วิโอลา เซลโล ฮาร์ป ทรัมเป็ต ทรอมโบน ทูบา แซกโซโฟน ฟลูต โอโบ คลาริเน็ต บาสซุูน กีตาร์ กลองชุด ฯลฯ

การใช้ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในศริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์คือ กีตาร์ไฟฟ้า และออร์แกนไฟฟ้า โดยในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็มีการสร้างเครื่องซินธิไซเซอร์ (synthesizer) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเสียงจำลอง

การจัดกลุ่มเครื่องดนตรีทำได้หลายระบบ โดยอาจแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ (รูปร่าง สี วัสดุที่ใช้ ฯลฯ) ตามการเล่น ตามช่วงเสียง หรือตามกลุ่มในวงดุริยางค์ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรม แต่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายจะแบ่งออกเป็น 5 ตระกูลคือ

  • เครื่องเป่าทองเหลือง เช่น ฮอร์น ทรอมโบน ทรัมเป็ต คอร์เนต ทูบา ฯลฯ
  • เครื่องสาย เช่น ไวโอลิน วิโอลา เซลโล ฮาร์ป กีตาร์ ลูท แมนโดลิน แบนโจ ฯลฯ
  • เครื่องเป่าลมไม้ เช่น ฟลูต ขลุ่ย รีคอร์เดอร์  โอโบ บาสซุูน คลาริเน็ต ฯลฯ
  • เครื่องตี เช่น กลอง ทิมปานี ฉาบ ฆ้อง ระนาด ฯลฯ
  • เครื่องคีย์บอร์ด เช่น แอคคอร์เดียน ฮาร์ปซิคอร์ด เปียโน ออร์แกน ฯลฯ

ที่มา: https://abrsmexams.wordpress.com/2016/04/15/musical-instrument/
สืบค้นเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

สำหรับเครื่องดนตรีไทยจะแบ่งตามอากัปกิริยาของการบรรเลง (ดีด สี ตี และเป่า) โดยแบ่งออกเป็น 4 ตระกูลคือ     

  • เครื่องดีด เช่น จะเข้ กระจับปี่ ซึง พิณเพียะ พิณน้ำเต้า ไหซอง ฯลฯ
  • เครื่องสี เช่น ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย สะล้อ รือบับ ฯลฯ
  • เครื่องตี เช่น กลอง ฆ้อง ฉิ่ง ระนาด ตะโพน โปงลาง อังกะลุง กรับ บัณเฑาะว์ ฯลฯ
  • เครื่องเป่า เช่น ปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน ปี่ชวา ปี่มอญ ขลุ่ย แคน โหวด ฯลฯ
     

ที่มา:  https://judebautista.files.wordpress.com/2015/08/thai-musical-instruments.jpg
สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2561

การเล่นดนตรีมีประโยชน์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ เพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน คลายเครียด มีสมาธิ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจิตใจและหน่วยความจำ เพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานของอวัยวะของร่างกาย (มือกับตา) พัฒนาทักษะการฟัง การอ่าน และการทำความเข้าใจ สร้างความเชื่อมั่น พัฒนาทักษะการร่วมงานกลุ่ม เพิ่มทักษะการแสดงและกล้าแสดงออก ส่งเสริมความสุขของตัวเองและคนรอบข้าง    

งานวิจัยที่บอกว่า การเล่นดนตรีจะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจนั้น เป็นผลงานที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สหราชอาณาจักร (British Medical Journal) เมื่อปี ค.ศ. 2005 ซึ่งพบว่า การได้เล่นดิดเจอริดู (Didgeridoo) อันเป็นเครื่องดนตรีลมไม้ของชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย จะช่วยลดอาการนอนกรนและโรคหยุดหายใจเวลานอนหลับได้ ด้วยการทำให้กล้ามเนื้อส่วนบนของระบบทางเดินหายใจแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจเปิดอยู่ตลอดเวลาในขณะนอนหลับ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เล่นได้เรียนรู้เทคนิคการเล่นที่เรียกว่า การหายใจหมุนเวียน (circular breathing) แล้วเท่านั้น

การหายใจหมุนเวียนเป็นการหายใจเข้าทางจมูก โดยลมบางส่วนนำไปเก็บไว้ในกระพุ้งแก้ม ในขณะเดียวกันก็จะเป่าลมที่เก็บไว้ในกระพุ้งแก้มออกทางริมฝีปาก พร้อมกับการหายใจออก ทำให้การหายใจเข้าออกเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

เครื่องดนตรีไทยคือ ปี่และขลุ่ย ก็มีวิธีเป่าที่ติดต่อกันยาวนานโดยไม่หยุดหายใจเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เสียงปี่หรือขลุ่ยดังยาวนานติดต่อกันตลอด โดยเรียกการเป่าเช่นนี้ว่า "ระบายลม" ซึ่งเป็นการเป่าด้วยลมจากกระพุ้งแก้ม

เนื่องจากดิดเจอริดู มีลักษณะเป็นท่อกลวงทึบไม่มีรู มีความยาวระหว่าง 1-3 เมตร ส่วนใหญ่จะยาวราว 1.2 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซ็นติเมตร จึงสามารถทำขึ้นใช้เองได้ โดยใช้ท่อพีวีซี (สามารถสืบค้นวิธีทำและวิธีเล่น ได้จากอินเทอร์เน็ต) ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคนอนกรนหรือโรคหยุดหายใจเวลานอนหลับ จึงน่าที่จะหัดเล่นดิดเจอริดู เพื่อรักษาโรคดังกล่าว

ในปีที่แล้ว รางวัลอีกโนเบล สาขาสันติภาพได้มอบให้กับนักวิจัยชาวสวิส แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และอเมริกัน (Milo Puhan, Alex Suarez, Christian Lo Cascio, Alfred Zahn, Markus Heitz และ Otto Braendli) ที่ได้สาธิตให้เห็นว่า การเล่นดิดเจอริดูอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีรักษาโรคหยุดหายใจเวลานอนหลับและโรคนอนกรนที่ได้ผล

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำ แล้วจึงได้คิด


คำสำคัญคือ เครื่องดนตรี เครื่องเป่าทองเหลือง เครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องตี เครื่องคีย์บอร์ด เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องเป่า ดิดเจอริดู Didgerido



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th