ปัจจุบันสังคมโลกได้กลายเป็นสังคมบริโภคไปแล้ว ดังจะเห็นได้จากการบริโภคอาหารและเครื่องใช้ของคนเราแต่ละคน ที่มากเกินความจำเป็น จนทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น อันก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม และส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่โลกเผชิญอยู่
ลัทธิบริโภคนิยมเป็นผลมาจากการสนับสนุนของระบบทุนนิยมสุดโต่ง ที่โหมการโฆษณาชวนเชื่อจนทำให้คนส่วนมากเชื่อว่า “บริโภคมาก มีความสุขมาก”
การหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ เป็นสัญชาติญานของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สิ่งที่ตรงข้ามกับความทุกข์ก็คือความสุข ความสุขจึงเป็นสัญชาติญานของมนุษย์เช่นกัน
ระบบทุนนิยมสุดโต่งจึงใช้จุดอ่อนของมนุษย์ที่อยากมีความสุข ด้วยการบิดเบือนความหมายของความสุขที่แท้จริง อันมีผลทำให้ลัทธิบริโภคนิยมระบาดไปทั่วโลก
วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ต้องรู้ว่าความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร
พุทธศาสนามีจุดหมายที่จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข ด้วยการเน้นที่การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล จึงมีคำสอนเกี่ยวกับความสุขมากมาย ตั้งแต่ที่ปฏิบัติได้ ไปจนถึงอภิปรัชญา ในที่นี้กล่าวเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมสุดโต่ง คือ สุข 2 และความสุข 5 ขั้น
สุข 2 มีความหมาย 2 อย่าง โดยความหมายแรกกล่าวถึงทางที่ทำให้เกิดความสุข ส่วนความหมายหลังกล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความสุข
ในความหมายแรก สุข 2 ได้แก่ กายิกสุข คือ ความสุขทางกาย และเจตสิกสุขคือ ความสุขทางใจ
ในความหมายหลัง สุข 2 ได้แก่ สามิสสุข คือ ความสุขที่อาศัยเหยื่อล่อ หรือความสุขที่เกิดจากวัตถุ และนิรามิสสุขคือ ความสุขไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ หรือความสุขเพราะใจสงบ เนื่องจากได้รู้แจ้งตามความเป็นจริง
โดยทั้งสองความหมายมีความสัมพันธ์กัน คือ ความสุขทางกาย เป็นความสุขที่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ อันเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา ส่วนความสุขทางใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อ จึงไม่ต้องแสวงหา และเราสามารถสร้างขึ้นมาได้เอง
ในสังคมตะวันตกที่ยึดถือวิทยาศาสตร์เป็นที่ตั้ง จะให้ความหมายของกายิกสุข (pleasure) ว่า เป็นความสุขทางกาย อันเกิดมาจากสิ่งภายนอกที่ชอบใจ มากระทบกับร่างกายของเราทางอวัยวะสัมผัส 5 อย่าง ได้แก่ ภาพสวยงามที่มองเห็นทางตา เสียงไพเราะที่ได้ยินทางหู กลิ่นหอมที่รับรู้ทางจมูก รสอร่อยที่รับรู้ทางลิ้น และความเย็น ความนิ่ม ความละเอียดที่สัมผัสได้ทางผิวหนัง
คนเราเมื่อเกิดกายิกสุขก็จะมีความหรรษา เพลิดเพลิน สนุก ร่าเริง และถ้าได้รับกายิกสุขอย่างเต็มที่ ก็จะแสดงอาการลิงโลด (ดังรูป)
รูป คนแสดงกายิกสุข
ที่มา: https://wonderfest.org/pleasure-vs-happiness-nov-2/
สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2566
เนื่องจากกายิกสุขต้องอาศัยวัตถุจากภายนอกมากระตุ้นความรู้สึกสุข จึงเป็นความสุขที่สั้น ไม่ยืนยาว เพราะเมื่อสิ่งที่เสพหมดไป ความสุขก็จะหายไปด้วย ทำให้ต้องแสวงหามาเพิ่มเติม และในปริมาณที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความชินชากับสิ่งกระตุ้นเดิมๆ
กายิกสุขจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้น การบริโภคที่มากขึ้นนี้ นอกจากจะทำให้รายได้จากการขายสินค้าและบริการมากขึ้นแล้ว ยังมีผลให้ต้นทุนลดลงจากการประหยัดของการผลิตขนานใหญ่อีกด้วย
สำหรับความสุข 5 ขั้น เป็นการแบ่งความสุขตามลำดับจากล่างไปหาสูง คือ
ขั้นที่ 1 กายิกสุข เป็นความสุขจากการเสพวัตถุ หรือสิ่งบำรุงบำเรอภายนอกที่นำมาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย อันเป็นความสุขสามัญที่ทุกคนในโลกปรารถนา
ขั้นที่ 2 ความสุขจากการให้ด้วยศรัทธา เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาขึ้น มีคุณธรรม เช่น มีเมตตากรุณา มีศรัทธา เมื่อให้ด้วยศรัทธาก็จะมีความสุขที่แท้จริงจากการให้
ขั้นที่ 3 ความสุขอันเกิดจากการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่หลงอยู่ในโลกสมมุติ หรือไม่อยู่ด้วยความหวังสุขจากสิ่งสมมุติที่ไม่ยั่งยืน
ขั้นที่ 4 ความสุขจากความสามารถปรุงแต่ง โดยใช้ “ธรรมสมาธิ 5” ได้แก่
1 ปราโมทย์ คือ ความชื่นบานใจ ร่าเริงสดใส
2 ปีติ คือ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ
3 ปัสสัทธิ คือ ความสงบเย็นกายใจ ความผ่อนคลายรื่นสบาย
4 สุข คือ ความรื่นใจไร้ความข้องขัด
5 สมาธิ คือ ความสงบอยู่ตัวมั่นสนิทของจิตใจ ไม่มีสิ่งรบกวนเร้าระคาย
ขั้นที่ 5 ความสุขเหนือการปรุงแต่ง คือ อยู่ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิต
จะเห็นได้ว่า กายิกสุขเป็นเพียงความสุขขั้นพื้นฐานเท่านั้น มนุษย์เราสามารถพัฒนาตนเองให้พบความสุขที่สูงขึ้น อันเป็นความสุขที่ถาวรได้
ปี 2562 รางวัลอีกโนเบล สาขาสันติภาพ ได้มอบให้นักวิจัยชาวสหราชอาณาจักร ซาอุดิอาราเบีย สิงค์โปร์ และอเมริกัน 7 คน (Ghada A. bin Saif, Alexandru Papoiu, Liliana Banari, Francis McGlone, Shawn G. Kwatra, Yiong-Huak Chan และ Gil Yosipovitch) ที่ร่วมมือกันวัดค่ากายิกสุขของการเกาที่คัน
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด
วรชัย ทองไทย