สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านที่เคารพของดิฉันทุกท่าน ไม่แน่ใจว่ายังจำกันได้หรือเปล่า ดิฉัน ปุ๋ยปุ้ย ที่เมื่อก่อนยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทที่ IPSR แต่ตอนนี้ได้สำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว และยังไม่แน่ใจว่าจะศึกษาต่ออีกหรือเปล่านะคะ แต่ที่แน่ ๆ สามสี่ปีที่ผ่านมา ดิฉันไม่ได้เขียนบทความมาทักทายท่านผู้อ่านที่เคารพของดิฉันเลย เนื่องด้วย อุบัติเหตุในชีวิตด้านสุขภาพ แต่ช่วงนี้พอตั้งหลักตั้งฐานกลับมามีสติคิดได้ ช่วงที่ผ่านมาได้เกิดประเด็นร้อนแรง #SAVEทับลาน ค่อนข้างร้อนแรง ดิฉันจึงไม่ลืมที่จะมาทักทายทุกท่านด้วยบทความเบา ๆ เหมือนได้จิบชายามบ่าย แล้วเล่าเรื่องราวที่ฉุกคิดอยู่ในหัวและประทับอยู่ในใจเกี่ยวกับป่าไม้ให้ทุกท่านฟังสบาย ๆ กันค่ะ
เมื่อช่วงปี 2562-2563 ดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมการเก็บข้อมูลวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าของประเทศไทย ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และเชียงใหม่ แต่ในบทความนี้ดิฉันจะขอเล่าเรื่องราวที่จังหวัดกาญจนบุรีก่อนนะคะ เนื่องด้วย การลงภาคสนามในจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องราวที่ได้พบเจอก็เป็นอีกรูปแบบนึงที่จะมาเขียนรวมกันไม่ได้ค่ะทุก ๆ ท่าน
ขอเรียนคร่าว ๆ ว่าการลงภาคสนามในครั้งนั้น เป็นการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยใช้เทคนิควิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกในการเก็บข้อมูลภาคสนาม โดยกลุ่มตัวอย่างจะเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ผืนป่าในจังหวัดกาญจนบุรี ดิฉันขอเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “นักรบผู้พิทักษ์ป่า” ซึ่งในอดีตดิฉันมีความสนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ไม่เคยทราบรายละเอียดเชิงลึกเลยว่า การที่บุคคลอันทรงค่าที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ผืนป่าด้วยจิตอาสา ซึ่งป่านั้นหมือนแหล่งทรัพยากรที่เป็นทั้งอาหาร ยารักษาโรค แหล่งรายได้ ฯลฯ ให้แก่ทั้งตนเอง ลูกหลาน และคนไทยในชาติ พวกท่านเหล่านั้นจะต้องทุ่มเทเพียงใดในการอนุรักษ์ป่าไปพร้อม ๆ กับการต่อสู้กับนายทุน ทหาร ตำรวจที่เข้าข้างนายทุนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากผืนป่าโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับคนไทยและผู้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ
ผู้ที่ดิฉันได้สัมภาษณ์คนหนึ่งบอกว่า “ผู้นำชุมชนและชาวบ้านผู้พิทักษ์ป่า ได้รับผลกระทบทางลบเยอะมาก เช่น โดนนายทุนเอาทหาร ตำรวจ มาขู่ให้หยุดการพิทักษ์ผืนป่า ขมขู่สารพัด ขู่จับเข้าคุกในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ในกรณีที่เอาธงพระราชทานจากราชินีสิริกิติ์มาปักไว้ในพื้นที่ป่าที่จะโดนนายทุนมาสร้างเหมือง แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอม มีการเอาเงินเอาผลประโยชน์มาให้ชาวบ้านเพื่อให้ยอมให้นายทุนเข้ามาตัดไม้ ทำเหมือง ทำให้ชาวบ้านแบ่งแยกกันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์กับกลุ่มที่อยากได้เงินมากกว่าอนุรักษ์ป่า รู้สึกเหนื่อย แต่ก็ไม่ได้ทิ้ง ก็ยังทำและจะทำตลอดชีวิตยอมเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อชาติ เพื่อชุมชน, และข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ในการดูแลรักษาพยาบาลกลุ่มอนุรักษ์ยังต้องดูแลตัวเอง แต่ก็ไม่ได้มีเงินมากมาย ทำให้ต้องแบกภาระในการดูแลรักษาพยายาม อาหาร กันเอง อยากให้มีกลุ่มจิตอาสามาช่วยงานตรงนี้จะดีมาก…”
เพียงเรื่องเล่าสั้น ๆ ที่มีความหมายมากมายซ่อนอยู่ จาก “นักรบผู้พิทักษ์ผืนป่า” สะท้องถึงความยาก ความลำบาก ในการอนุรักษ์ผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำ อาหาร ทรัพยากร ฯลฯ ให้แก่ชนรุ่นหลัง แต่จากกรณีข่าว #SAVEทับลานที่เกิดขึ้น และไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ อีกหรือไม่ ดิฉันจึงไม่แน่ใจเช่นกันว่านักรบแห่งผืนป่าเหล่านั้นจะหมดกำลังใจไปเมื่อไหร่ และการลดน้อยลงของผืนป่านั้นจะส่งผลต่ออนาคตของผืนแผ่นดินไทยมากหรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่หากผืนป่ายังอยู่เราอาจจะไม่ต้องนั่งกังวลถึงสิ่งที่ตามมาเลยก็ได้ค่ะ…..
ภัสสร มิ่งไธสง