เรามักจะคิดกันว่า จูบหรือจุมพิตมีความหมายเหมือนกันและใช้แทนกันได้ เนื่องจากใช้คำแปลภาษาอังกฤษที่เหมือนกันคือ kiss แต่ในความหมายที่ถูกต้องแล้วจะไม่เหมือนกัน เพราะพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของ "จูบ" ว่า เอาจมูกสัมผัสสูดแสดงความรักหรือความใคร่ และ "จุมพิต" ว่า จูบด้วยปาก
สำหรับภาษาอังกฤษ คำว่า "kiss” จะหมายถึง การสัมผัสด้วยริมฝีปาก เพื่อแสดงความรักหรือความเสน่หา หรือใช้ในการทักทาย แต่ถ้าเอาจมูกสัมผัสสูด จะเรียกว่า "smell” ในบทความนี้ จะพูดถึงเรื่อง kiss ไม่ใช่ smell จึงใช้คำว่า จุมพิต เพื่อให้ถูกต้องตามความหมาย
การจุมพิตมีมาแต่โบราณ ดังที่ได้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ คำกลอนในสมัยอียิปต์โบราณ หรือคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ สำหรับการศีกษาเกี่ยวกับการจุมพิตได้เริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 นี่เอง เรียกว่า จุมพิตศาสตร์ (Philematology) และผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้เรียกว่า นักจุมพิตวิทยา (Philematologist) อันเป็นการศึกษาเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวิวัฒนาการของการจุมพิต ที่น่าสนใจคือ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือชื่อ The Origin of Species อันเป็นรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการ ก็ได้ศึกษาวิชานี้
การจุมพิต คือ การใช้ริมฝีปากสัมผัสกับคนหรือสิ่งของ คนส่วนมากจะจุมพิตเพื่อแสดงความรักหรือความเสน่หา ที่แสดงด้วยการสัมผัสริมฝีปากบนใบหน้า ศีรษะ ริมฝีปาก หน้าผาก หรือร่างกายของผู้อื่น อาจเป็นเด็ก ญาติ หรือเพื่อนฝูง เพื่อแสดงความเป็นเพื่อนหรือเป็นการทักทาย สำหรับคู่รัก การจุมพิตอาจแฝงด้วยความรู้สึกทางเพศ
การจุมพิตมีมากมายหลายแบบ แตกต่างกันไปในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม โดยแบ่งได้เป็น
การจุมพิตเพื่อทักทาย เป็นการจุมพิตเพื่อแสดงความเป็นมิตร ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะใช้ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งมักจะเป็นการจุมพิตที่แก้มแบบผ่านๆ เมื่อเวลาพบกัน และเป่าจุมพิต (blow kiss) เมื่อเวลาจากกัน ในสังคมตะวันตก ผู้ชายอาจจุมพิตมือผู้หญิงเพื่อทักทายก็ได้
การจุมพิตโดยเสน่หา การจุมพิตที่ริมฝีปากเป็นการแสดงถึงความเสน่หาหรือความรักระหว่างคนสองคน ที่ได้รวมเอาความรู้สึกของสัมผัส รส และกลิ่นเข้าไปด้วย (ดังรูป) การจุมพิตที่ปากด้วยการดูดริมฝีปากหรือใช้ลิ้นดุนเรียกว่า French kissing
รูปประติมากรรม “จุมพิต” (The Kiss) โดย Auguste Rodin
ที่มา : https://www.artble.com/artists/auguste_rodin/sculpture/the_kiss สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564
การจุมพิตในพิธีกรรม เป็นการจุมพิตเพื่อแสดงการจงรักภักดี การเคารพนับถือ หรือการทักทาย เช่น การจุมพิตคัมภีร์หรือรูปศักสิทธิ์ในโบสถ์ การจุมพิตของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน การจุมพิตของผู้นำประเทศเพื่อทักทาย
อย่างไรก็ตาม การจุมพิตไม่เป็นสากล เพราะราวร้อยละ 10 ของประชากรโลกยังไม่รู้จักว่า จุมพิตคืออะไร และในบางสังคมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการจุมพิตในที่สาธารณะ
จุมพิตมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะการจุมพิตจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสาร oxytocin ซึ่งทำให้เกิดความรัก ความเสน่หาและความผูกพัน สาร serotonin ซึ่งทำให้เกิดความสุข และสาร dopanine ที่กระตุ้นจุดหรรษาในสมอง การจุมพิตอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มระดับ oxytocin อันจะทำให้มีความเสน่หาเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งลดความซึมเศร้าและความเครียด
สรุปแล้ว การจุมพิตจะเพิ่มฮอร์โมนความสุข เพิ่มความผูกพัน เพิ่มความรู้สึกพึงพอใจในตนเอง และเพิ่มภูมิคุ้มกัน ในทางตรงกันข้าม การจุมพิตจะลดความเครียด ความวิตกกังวล ความดันโลหิตสูง ตะคริว ปวดหัว และอาการแพ้ นอกจากนี้ จุมพิตยังควบคุมคอเลสเตอรอล (cholesterol) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่มีผู้ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของการจุมพิตอย่างมากมาย รวมทั้งผู้ที่ได้รับรางวัลอีกโนเบลด้วย คือ
ในปีล่าสุด (2563) รางวัลอีกโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัย 9 คน จากประเทศสหราชอาณาจักร โปแลนด์ ฝรั่งเศส บราซิล ชิลี โคลอมเบีย ออสเตรเลีย (Christopher Watkins, Juan David Leongómez, Jeanne Bovet, Agnieszka Żelaźniewicz, Max Korbmacher, Marco Antônio Corrêa Varella, Ana Maria Fernandez, Danielle Wagstaff และ Samuela Bolgan) ที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความไม่เสมอภาคของรายได้ประชาชาติกับค่าเฉลี่ยของการจุมพิตปาก (mouth-to-mouth kissing)
ในปี 2558 รางวัลอีกโนเบล สาขาแพทย์ศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัย 2 กลุ่ม คือ นักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น (Hajime Kimata) กับกลุ่มนักวิจัยจากประเทศสโลวาเกีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน (Jaroslava Durdiaková, Peter Celec, Natália Kamodyová, Tatiana Sedláčková, Gabriela Repiská, Barbara Sviežená และ Gabriel Minárik) ที่ได้ทำวิจัยทดลองเพื่อศึกษาประโยชน์และผลลัพธ์ทางชีวเวช (biomedical) ของการจุมพิตอย่างดูดดื่ม (และกิจกรรมทางเพศอื่นๆ)
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ขบขัน แต่ชวนให้คิด
หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “จูบหรือจุมพิต” ใน ประชากรและการพัฒนา 41(4) เมษายน-พฤษภาคม 2564: 8
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย