ยาหลอก (placebo) คือ สารที่มีลักษณะเหมือนยาจริง แต่ไม่มีตัวยาเป็นส่วนประกอบอยู่เลย จะมีแต่แป้งกับน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก จึงไม่มีผลต่อการรักษาที่แท้จริง แต่เพราะยาหลอกถูกทำให้ดูเหมือนว่าเป็นยาจริง จึงมีผลให้คนไข้เชื่อว่าเป็นยาจริง และเป็นผลดีในการรักษา
ยาหลอกที่รู้จักกันดี คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมชนิด 28 เม็ด ซึ่งมียาหลอกอยู่ 7 เม็ด (ดังรูป) โดยที่ผู้ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ก็รู้ว่าเป็นยาหลอก แต่ก็ยังรับประทานยาต่อเนื่อง เพื่อกันความหลงลืม ส่วนผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมชนิด 21 เม็ด จะต้องหยุดยา 7 วัน เมื่อยาหมดแผง และเริ่มแผงใหม่ในวันที่ 8 ซึ่งถ้าลืมหรือนับวันผิด ก็อาจเกิดอุบัติเหตุตั้งครรภ์ได้
รูป ยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมชนิด 28 เม็ด (แถวที่ 3 คือยาหลอก 7 เม็ด ที่มีขนาดเล็กกว่า)
ที่มา: https://ppat.or.th/รู้ทุกเรื่องยาเม็ดคุมก/ สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2566
placebo มีรากศัพท์จากภาษาลาตินว่า (ฉัน) จะพอใจ [(I) shall be pleasing] โดยเมื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ในช่วงแรกจะหมายความถึง การรักษาเพื่อเอาใจคนไข้มากกว่าเพื่อประโยชน์ในการรักษา แต่ในปัจจุบันยาหลอกมีความหมาย 2 อย่าง ในความหมายแรก หมายถึงยาที่ไม่มีส่วนผสมของยา ที่แพทย์จ่ายให้ตามความคาดหวังของคนไข้ ที่เชื่อว่ายาชนิดนี้สามารถทำให้หายจากโรคได้ ส่วนในความหมายหลัง หมายถึงยาที่ให้แก่อาสาสมัครกลุ่มควบคุม ในการศึกษาเชิงทดลองทางคลินิก เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยาชนิดใหม่
สำหรับยาหลอกในความหมายที่กว้าง จะรวมถึงวิธีรักษาต่างๆ โดยอาจเป็นได้ทั้งยาเม็ด ยาทา ยาดม ยาฉีด หรือเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องอุลตราซาวด์ รวมถึงการผ่าตัดหลอกและฝังเข็มหลอก
ตัวหมอเองก็อาจเป็นยาหลอกได้เช่นกัน โดยอาการของคนไข้จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าหมอพูดกับคนไข้ด้วยความมั่นใจว่า วิธีที่กำลังใช้ในการรักษานี้จะได้ผลดี แต่ในทางตรงกันข้าม อาการของคนไข้จะหายช้าลง ถ้าหมอพูดกับคนไข้อย่างไม่ค่อยมั่นใจในประสิทธิภาพของวิธีที่กำลังใช้อยู่
การรับรู้และคาดหวังของคนไข้มีผลสำคัญยิ่งในการรักษาโรค กล่าวคือ ถ้าคนไข้รับรู้และคาดหวังว่า วิธีการรักษาชนิดนี้ทำให้หายป่วยได้ คนไข้ก็จะหายวันหายคืนเมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีนั้น ถึงแม้ว่าวิธีการรักษานั้นจะเป็นยาหลอกก็ตาม ผลของยาหลอกที่ทำให้อาการป่วยดีขึ้นนี้ เราเรียกว่า ผลดีของยาหลอก (placebo effect)
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคนไข้ไม่เชื่อถือในวิธีการรักษาแล้ว ถึงแม้ว่าจะใช้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจมีผลทำให้คนไข้มีอาการแย่ลง ซึ่งผลที่เป็นลบนี้ เราเรียกว่า ผลร้ายของยาหลอก (nocebo effect) โดยคำว่า nocebo มีรากศัพท์จากภาษาลาตินว่า “ฉันจะทำร้าย (I shall harm)”
เนื่องจากยาหลอกขึ้นอยู่กับการรับรู้ของคนเรา ทำให้ประสิทธิภาพของยาหลอกขึ้นอยู่กับลักษณะ ขนาด จำนวน สี หรือชนิดของยาหลอกด้วย โดยที่ยาหลอกชนิดแคปซูลจะให้ผลดีกว่ายาหลอกชนิดเม็ด ยาหลอกเม็ดใหญ่จะให้ผลดีกว่ายาหลอกเม็ดเล็ก ยาหลอกจำนวนมากจะให้ผลดีกว่ายาหลอกจำนวนน้อย ยาหลอกที่ใช้เพื่อกระตุ้นต้องใช้สีร้อน ส่วนยาหลอกที่ใช้เพื่อผ่อนคลายต้องใช้สีเย็น และยาฉีดจะให้ผลดีกว่ายาเม็ด นอกจากนี้ ชื่อ เครื่องหมายการค้า หรือราคาก็มีผลต่อประสิทธิภาพของยาหลอกด้วยเช่นกัน
ดังนั้น รางวัลอีกโนเบลปี 2551 สาขาแพทย์ศาสตร์ จึงได้มอบให้กับนักวิจัย 3 คนจากมหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกา และนักวิจัย 1 คนจากมหาวิทยาลัยในประเทศสิงค์โปร์ ที่พบว่า ยาหลอกราคาแพงมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาหลอกราคาถูก
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่กระตุ้น “ตุ่มหัวเราะ” ก่อน “ตุ่มความคิด”
หมายเหตุ: ปรับแก้จาก “ยาแป้ง” ใน ประชากรและการพัฒนา 31(5) มิถุนายน-กรกฎาคม 2554: 8
สุพัตรา ฌานประภัสร์
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย