The Prachakorn

โชคหรือกรรม


วรชัย ทองไทย

01 มีนาคม 2566
2,124



เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนเราโดยบังเอิญ อย่างไม่คาดฝัน และไม่สามารถหาเหตุผลได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น เราเรียกว่า “โชค” 

ในทางวิทยาศาสตร์ โชคอาจเกิดขึ้นได้เมื่อไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางดีหรือไม่ดี โดยเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันนี้ อาจเกิดขึ้นเองตามกระบวนการทางธรรมชาติหรือมนุษย์ทำขึ้นก็ได้ สำหรับคำว่า  "โชคดี" หรือ "โชคร้าย" ก็เป็นเพียงคำที่บอกถึงเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้นี้ ในเชิงบวกหรือเชิงลบเท่านั้น

แต่ในสังคมมนุษย์เรื่องโชคลาภ ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อเหนือธรรมชาติอยู่ด้วย โดยแต่ละสังคมจะมีวิธีการที่จะทำให้ได้รับโชคแตกต่างกันไป เช่น การเซ่นสังเวย การทำพิธีกรรม การสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้า การพกเครื่องรางของขลัง การครอบครองสิ่งนำโชค (ดังรูป)

รูป แมวกวักญี่ปุ่น ที่ทำให้คนมาหาหรือลูกค้าเข้าร้าน
ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/4/45/PD-Maneki_Neko.JPG
สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2565

จากงานวิจัย1 พบว่า ความเชื่อในเรื่องโชคนี้ อาจทำหน้าที่เหมือนยาหลอก (placebo) คือทำให้เกิดความคิดเชิงบวกและช่วยให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ดีขึ้น นอกจากนี้ความโชคดีและอารมณ์ดีมักจะเกิดขึ้นพร้อมกัน

ในทางจิตวิทยา เราสามารถแบ่งคนตามความเชื่อในเรื่องโชคออกได้เป็น 4 กลุ่ม ด้วยคำถามมาตราฐาน BIGL scale (Belief in Good Luck Scale)2 คือ 1. กลุ่มเชื่อโชค 2. กลุ่มปฏิเสธโชค 3. กลุ่มเชื่อว่าตนโชคดี 4. กลุ่มเชื่อว่าตนโชคร้าย สำหรับกลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองโชคดี มักจะมีความสุขโดยเปรียบเทียบและมองโลกในแง่ดี ในขณะที่กลุ่มคนที่เชื่อว่าตัวเองโชคร้ายจะรู้สึกค่อนข้างวิตกกังวลและซึมเศร้า        

สรุปแล้ว วิทยาศาสตร์ไม่สามารถบอกได้ว่า โชคเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีอะไรเป็นสาเหตุ เพียงแค่บอกว่าโชคเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และกล่าวถึงอิทธิพลของโชคที่มีต่อพฤติกรรมของมนุษย์เท่านั้น

แต่ศาสนาพุทธได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่ควรเชื่อในเรื่อง “โชค” แต่ควรเชื่อในเรื่อง “กรรม” อันเป็นคุณสมบัติข้อหนึ่งของอุบาสกที่ดี นั่นคือ ข้อที่ 3 ในอุบาสกธรรม 53 อันประกอบด้วย
    1.  มีศรัทธา
    2.  มีศีล
    3.  ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล คือ มุ่งหวังผลจากการกระทำและกรรม มิใช่จากโชคลางและสิ่งที่ตื่นกันว่าขลังศักดิ์สิทธิ์
    4.  ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา
    5.  ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
 
การเชื่อในกรรมเป็นการเชื่อในกฎธรรมชาติ (นิยาม) ที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกทั้งหมดเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย โดยกฎธรรมชาติแบ่งออกได้ตามลักษณะอาการจำเพาะ 5 อย่างคือ
    1.  อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฎการณ์ฝ่ายวัตถุ
    2.  พีชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์
    3.  จิตตนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่ออารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาท จะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร        
    4.  กรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งก็คือ กระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไป เช่น ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว
    5.  ธรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่น
         -  สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดา
         -  คนย่อมมีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา
         -  ธรรมดาของสิ่งทั้งหลายเป็นสภาพไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น และไม่เป็นอัตตา
    จะเห็นได้ว่า กรรมนิยามเป็นเรื่องของมนุษย์โดยตรง มนุษย์เป็นผู้ปรุงแต่งกรรม และกรรมก็เป็นเครื่องปรุงแต่งวิถีชีวิตโชคชะตาของมนุษย์
 
กรรมจึงเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือเป็นการกระทำด้วยความจงใจ อันนำไปสู่ผลในอนาคต แต่ถ้าไม่เป็นการกระทำด้วยเจตนาก็ไม่เรียกว่า กรรม
 
กรรม จำแนกตามคุณภาพแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ กรรมดีและกรรมชั่ว โดยที่
    -  กรรมดี (กุศลกรรม) หมายถึงการกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ จาคะ เมตตา หรือปัญญา     
    -  กรรมชั่ว (อกุศลกรรม) หมายถึงการกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ
 
กรรม จำแนกตามทางที่ทำกรรมแบ่งเป็น 3 อย่างคือ
    1.  กายกรรม คือกรรมที่ทำด้วยกาย
    2.  วจีกรรม คือกรรมที่ทำด้วยวาจา
    3.  มโนกรรม คือกรรมที่ทำด้วยใจ
 
ถ้าจำแนกกรรมตามหลักสองข้อข้างต้น ก็จะมีกรรมรวมทั้งหมด 6 อย่างคือ
    1.  กายกรรมที่เป็นกุศล
    2.  วจีกรรมที่เป็นกุศล
    3.  มโนกรรมที่เป็นกุศล
    4.  กายกรรมที่เป็นอกุศล
    5.  วจีกรรมที่เป็นอกุศล
    6.  มโนกรรมที่เป็นอกุศล
 
ในสังคมมนุษย์ยังมีกฎที่มนุษย์กำหนดวางกันขึ้นเป็นข้อตกลง เพื่อควบคุมความประพฤติในหมู่มนุษย์ด้วยกันเอง ให้อยู่ร่วมกันโดยผาสุกอีกด้วย เช่น ระเบียบ ข้อบังคับ กติกา กฎหมาย จารีต ประเพณี วินัยบัญญัติ ที่เรียกรวมกันว่า “กฎของสังคม"
 
ดังนั้น ตาม “กฎแห่งกรรม” มนุษย์จะรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ตามกระบวนการของธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน “กฎของสังคม” ก็ทำให้มนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ตามกระบวนการที่จัดวางขึ้นของมนุษย์อีกด้วย
 
การที่คนเราต้องรับผลของกรรมตามกฎทั้งสอง ที่มีมุมมองแตกต่างกันนี้ อาจทำให้เรามองไม่เห็นถึงผลของกรรมที่ว่า “ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว” ได้อย่างชัดเจน (ผู้สนใจที่ต้องการรู้เรื่องกรรมโดยละเอียด สามารถดาวน์โหลดหนังสือของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เรื่อง กรรม ตามนัยแห่งพุทธธรรม ได้ที่ https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/14)
 
รางวัลอีกโนเบลประจำปี 2565 สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศอิตาลี (Alessandro Pluchino, Alessio Emanuele Biondo และ Andrea Rapisarda) ที่อธิบายด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ว่า ทำไมการประสบความสำเร็จสูงสุดถึงไม่ได้ตกอยู่กับคนที่มีความสามารถมากที่สุด แต่กลับเป็นคนที่โชคดีที่สุดต่างหาก
 
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้หัวเราะก่อนได้คิด

อ้างอิง

1. Maltby, J., Day, L., Gill, P., Colley, A., Wood, A.M. (2008). Beliefs around luck: Confirming the empirical conceptualization
of beliefs around luck and the development of the Darke and Freedman beliefs around luck scale. Personality and Individual Differences, 45, 655–660.
2. Darke, P. R., & J. L. Freedman (1997). The belief in good luck scale. Journal of Research in Personality, 31(4), 486−511. https://doi.org/10.1006/jrpe.1997.2197
3. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) (2559) พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต)

หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “โชคหรือกรรม” ในประชากรและการพัฒนา 43(3) กุมภาพันธ์-มีนาคม 2566: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
พาพ่อกลับกรีนแลนด์

อมรา สุนทรธาดา

เมีย 2018 ณ เมียนมา

จรัมพร โห้ลำยอง

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ภูมิแพ้ รู้สาเหตุ รู้ทางแก้

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

โชคหรือกรรม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th