The Prachakorn

โรคอ้วน


วรชัย ทองไทย

31 ธันวาคม 2564
1,271



ในสมัยก่อนคนอ้วนท้วนสมบูรณ์แสดงว่าเป็นคนมีฐานะ เพราะคนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องใช้แรงงานอยู่เสมอ ทำให้ไม่มีไขมันสะสมอยู่ในร่างกายมากพอที่จะทำให้อ้วนได้ แต่ปัจจุบันความเป็นเมืองมีมากขึ้น ทำให้คนอ้วนทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และความอ้วนก็ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกลุ่มผู้มีอันจะกินอีกต่อไป

ความอ้วนเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล และไขมันมากเกินกว่าที่ร่างกายจะเผาผลาญได้ทัน นั่นคือรับประทานอาหารมากเกิน แต่ทำกิจกรรมทางกายน้อย เช่น เดิน ทำงานบ้าน ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแปลงอาหารส่วนเกินเป็นไขมัน แล้วสะสมไว้ใต้ผิวหนัง โดยเริ่มสะสมแถวหน้าท้องและเอวก่อน จากนั้นจึงลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมทั้งใบหน้า จนทำให้กลายเป็นคนอ้วนไป

ความอ้วนไม่ถือว่าเป็นโรค ถ้าอ้วนท้วนพอประมาณ แต่ถ้าอ้วนจนเกินพอดีก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจหลอดเลือด ดังนั้นความอ้วนที่เกินพอดีจึงกลายเป็น “โรคอ้วน” (obesity) ดังรูปข้างล่างที่แสดงถึงเส้นรอบเอวที่สั้นกว่าของคนปกติด้านซ้ายมือ ส่วนคนเริ่มอ้วน และคนเป็นโรคอ้วน เส้นรอบเอวจะขยายใหญ่ขึ้นๆ

รูป ภาพเงาและเส้นรอบเอวของคนปกติ คนเริ่มอ้วน และคนเป็นโรคอ้วน
ที่มา: Renée Gordon (FDA), Victovoi - Own work, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9857499
สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564

ทางการแพทย์ใช้เส้นรอบเอว เพื่อดูความเสี่ยงที่จะเป็นโรคของคนไข้ โดยถือว่าผู้ชายที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 94 ซม. (40 นิ้ว) และผู้หญิงที่มีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 ซม. (35 นิ้ว) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมากขึ้น

คนอ้วนย่อมมีน้ำหนักมาก แต่คนมีน้ำหนักมากยังไม่ถือว่าเป็นโรคอ้วน ถ้าน้ำหนักนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเป็นคนสูง แต่น้ำหนักของคนส่วนใหญ่เกิดจากไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกายมากเกิน จนกลายเป็นโรคอ้วน ดังนั้นโรคอ้วนจึงต้องดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักกับความสูง อันวัดได้ด้วยดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI)

ดัชนีมวลกายหรือ BMI เป็นค่าของน้ำหนักตัวที่ปรับด้วยความสูงของร่างกาย อันเป็นวิธีวัดโรคอ้วนสำหรับคนทั่วไปที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง ซึ่งคำนวณจากน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยความสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ดังสูตร

BMI = น้ำหนัก / (สูง)2  

คนมีน้ำหนักปกติจะมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5 ถึง 24.9 ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5 จะถือว่าเป็นคนมีน้ำหนักน้อย ส่วนคนที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 25ขึ้นไป ถือว่าเป็นคนน้ำหนักเกิน (overweight) และเริ่มที่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคแล้ว แต่ถ้ามีค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ก็ถือได้ว่าเป็นโรคอ้วน นอกจากนี้ โรคอ้วนยังแบ่งย่อยออกไปอีกถึง 3 ระดับ โดยที่ระดับความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ จะเพิ่มขึ้นตามระดับที่สูงขึ้น

สำหรับคนเอเชียที่มีโครงสร้างทางร่างกายเล็กกว่าคนตะวันตก การใช้ค่า BMI เพื่อวัดโรคอ้วนก็จะต้องปรับตามไปด้วย ดังตาราง

ตาราง  ค่า BMI ของภาวะโภชนาการตามเกณฑ์ WHO และ Asian

ข้อดีของดัชนีมวลกายคือ ง่ายต่อการคำนวณ แต่ข้อเสียก็คือ ไม่สามารถแยกแยะระหว่างนักกีฬา ซึ่งถือว่าเป็นคนมีสุขภาพดี กับคนมีน้ำหนักเกินซึ่งถือว่าเป็นคนมีสุขภาพไม่ดีออกจากกันได้ ดัชนีมวลกายจึงใช้เพื่อดูแนวโน้มของโรคอ้วนในประชากรโดยรวม หรือเพื่อคัดกรองคนเป็นโรคอ้วนเบื้องต้น แต่ถ้าต้องการตรวจภาวะสุขภาพอย่างละเอียดแล้ว ก็ต้องใช้มาตรวัดอื่นประกอบด้วย เช่น วัดเส้นรอบเอว  

โรคอ้วนเป็นโรคสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิทุนนิยมที่สนับสนุนการบริโภค เนื่องจากการบริโภคมากจะก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ส่งผลให้มวลรวมประชาชาติสูงขึ้น อันเป็นตัวชี้วัดถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การที่ถือว่าจุดหมายปลายทางของการพัฒนาอยู่ที่การบริโภคมากหรือบริโภคนิยม เพราะเชื่อว่าคนบริโภคมากจะมีความสุขมากกว่าคนบริโภคน้อย ได้ก่อให้เกิดการสนับสนุนการบริโภคมากๆ รวมทั้งการบริโภคอาหารด้วย การบริโภคอาหารที่เกินกว่าความต้องการของร่างกายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคอ้วนเพิ่มขึ้น

โรคอ้วนมีมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ต้นแบบของเศรษฐกิจทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยม) ที่มีสัดส่วนคนเป็นโรคอ้วนมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ตามประเทศจีนที่ได้อ้าแขนรับเศรษฐกิจทุนนิยมและลัทธิบริโภคนิยม ก็เริ่มมีปัญหาโรคอ้วนแล้ว นอกจากนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ใช้ระบอบเศรษฐกิจทุนนิยม ก็เผชิญปัญหาโรคอ้วนเช่นกัน รวมทั้งประเทศไทย

นอกจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารมากและออกกำลังกายน้อย อันเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคอ้วนแล้ว กรรมพันธุ์ก็มีส่วนทำให้เป็นโรคอ้วนเช่นกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมและสังคม

สภาพแวดล้อมที่ทำให้โรคอ้วนเพิ่มขึ้นคือ บริโภคมาก ออกกำลังน้อย โดยที่การบริโภคเกินความต้องการเกิดจาก ผลผลิตด้านอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ราคาอาหารที่ถูกลง อาหารสำเร็จรูปที่ใส่น้ำตาลและเกลือมากเกิน การขยายตลาดบริโภคอาหารจานด่วน การโฆษณาขนมและของขบเคี้ยวแก่เด็ก

ส่วนกิจกรรมทางกายที่ลดน้อยลงนั้น เกิดจากวิถีการดำเนินชีวิตและการทำงานที่เปลี่ยนไป จากการทำงานด้วยกำลังกายกลางแจ้ง เป็นการนั่งโต๊ะและใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น เครื่องจักรกลและคอมพิวเตอร์ การเดินทางที่ใช้รถยนต์และขนส่งสาธารณะ ก็ส่งผลให้คนขี่จักรยานหรือเดินน้อยลงด้วย

คนเป็นโรคอ้วนนอกจากจะมีปัญหาทางสุขภาพแล้ว ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอีกด้วยคือ รายได้ลดลงเนื่องจากเวลาทำงานที่ลดลง เพราะปัญหาสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านการรักษา ส่วนปัญหาทางสังคมคือ ถูกเลือกปฏิบัติ (discriminate) เพราะอ้วน อันมีผลให้คุณภาพชีวิตลดลง และเกิดภาวะซึมเศร้า

สำหรับผลเสียทางเศรษฐกิจในระดับประเทศคือ โรคอ้วนทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เพราะต้องดูแลรักษาโรคที่เกิดจากโรคอ้วน ปริมาณคนอ้วนที่เพิ่มขึ้นทำให้ประสิทธิภาพของแรงงานลดลง ส่งผลให้การผลิตลดลง  

เนื่องจากโรคอ้วนเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชากร เราจึงสามารถทำให้แนวโน้มของโรคอ้วนลดลงได้ด้วยนโยบายและแนวปฏิบัติสาธารณะ ได้แก่ เพิ่มทางเลือกด้านอาหารให้มากขึ้น และสนับสนุนให้มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น

คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) จัดทำโปสเตอร์ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงของความเสี่ยงของคนเป็นโรคอ้วนที่จะเป็นโรคต่างๆ ดังรูป

ที่มา: https://www.thaihealth.or.th/Infographic/detail/23902/ลดพุงลดโรค/ 
สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2564

ในปี 2564 รางวัลอีกโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศส (Pavlo Blavatskyy) ที่ได้ค้นพบว่า โรคอ้วนของนักการเมืองในประเทศหนึ่งๆ อาจเป็นตัวชี้วัดที่ดีของการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประเทศนั้นๆ  

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด


หมายเหตุ: ขยายความจาก “โรคอ้วน” ใน ประชากรและการพัฒนา 42(2) ธันวาคม 2564 - มกราคม 2565: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

หัวใจ

วรชัย ทองไทย

กินคาวไม่กินหวานสันดานไพร่

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th