เศรษฐกิจทุนนิยม (capitalism) มีเป้าหมายอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งวัดจากการเพิ่มขื้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือรายได้ประชาชาติ เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น ก็จะทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ รายได้ประชาชาติยังใช้วัดมาตราฐานความเป็นอยู่ หรือความกินดีอยู่ดีของประชาชนในประเทศอีกด้วย ดังนั้น เมื่อรายได้ต่อหัวสูงขึ้น ก็แสดงว่าประเทศมีมาตราฐานความเป็นอยู่สูงขึ้น
การบริโภคก่อให้เกิดความต้องการในสินค้าและบริการ ทำให้มีการผลิตสินค้าและบริการขึ้นมา เพื่อสนองความต้องการบริโภคของประชาชน การผลิตสินค้าและบริการจะก่อให้เกิดการจ้างงาน และการทำงานก็ทำให้เกิดรายได้ เมื่อแรงงานมีรายได้ก็จะนำรายได้ไปใช้บริโภค หมุนเวียนเป็นวัฏจักร
ส่วนการผลิตสินค้าและบริการจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเงินลงทุน ซึ่งเงินลงทุนมาจากเงินออม และเงินออมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แต่ถ้าคนมีรายจ่ายมากกว่ารายได้แล้ว คนๆ นั้นก็จะมีหนี้
การกู้เงิน (ก่อหนี้) เพื่อลงทุนเป็นสิ่งสนับสนุนในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ถ้าเป็นการลงทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการที่แท้จริง และผลตอบแทนหรือกำไรที่ได้จากการลงทุน จะต้องมากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับเงินกู้ แต่เศรษฐกิจทุนนิยมไม่สนับสนุนการกู้เงินเพื่อใช้เก็งกำไรหรือเพื่อบริโภค
ในทางทฤษฎีแล้ว เศรษฐกิจทุนนิยมจะมีความสมดุลในตัว กล่าวคือผู้บริโภคจะไม่บริโภคเกินรายได้จนถึงกับเป็นหนี้ แต่บริโภคพอประมาณเพื่อจะได้มีเงินออมไว้ใช้ในอนาคตเมื่อมีความจำเป็น โดยที่เงินออมจะถูกนำไปฝากไว้กับธนาคารเพื่อก่อให้เกิดรายได้หรือดอกเบี้ย ซึ่งผู้ผลิตสามารถไปขอกู้มาลงทุนเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการ หมุนเวียนเป็นวัฏจักร
แต่เศรษฐกิจทุนนิยมในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามทฤษฎี เพราะผู้ผลิตมักสนใจที่จะผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็น เพราะได้กำไรมากกว่า ถึงแม้ว่าความต้องการที่แท้จริงของชีวิตมีเพียง 4 อย่างเท่านั้น คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ส่วนความต้องการอื่นๆ เป็นความต้องการส่วนเกินที่เกิดจากตัณหาทั้งสิ้น
ดังนั้น ผู้ผลิตจึงใช้วิธีกระตุ้นตัณหาผู้บริโภคด้วยการโหมโฆษณา เพื่อสร้างความต้องการเทียมที่ไม่จำเป็น เช่น ทานอาหารราคาแพง ใส่เสื้อผ้าตามแฟชั่น อยู่คฤหาสน์ ฯลฯ จนทำให้หลายคนเชื่อว่า “บริโภคมากมีความสุขมาก” และหลงติดกับความสุขจากการบริโภค ทำให้เกิด "บริโภคนิยม" หรือ "ลัทธิบริโภคนิยม" (consumerism) การบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นเป็นสิ่งไม่ดี เพราะจะมีผลให้เงินออมลดลงจนถึงกับต้องกู้หนี้มาใช้บริโภค เช่น การใช้บัตรเครดิต ซึ่งก็คือการยืมรายได้ในอนาคตมาใช้บริโภคในปัจจุบัน
บัตรเครดิตเป็นบัตรพลาสติกที่ออกโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินให้กับลูกค้า เพื่อให้นำไปซื้อสินค้าและบริการแทนเงินสด บัตรเครดิตจะมีตัวเลขเฉพาะที่ผูกกับบัญชีของลูกค้า เมื่อลูกค้าหรือผู้ถือบัตรเครดิตนำบัตรเครติตไปใช้จ่าย ผู้ออกบัตรจะโอนเงินให้กับผู้ขายโดยตรง ทำให้ผู้ถือบัตรเป็นหนี้กับผู้ออกบัตร และจะต้องใช้หนี้คืนทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ต้องการเสียดอกเบี้ย แต่ถ้าผู้ถือบัตรไม่สามารถใช้หนี้ได้ทั้งหมด ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับผู้ออกบัตรตามจำนวนหนี้ที่เหลือ
ผู้ถือบัตรเครดิตมักจะเชื่อว่า ตนสามารถใช้หนี้ทั้งหมดได้ตามเวลาที่กำหนด ทำให้รู้สึกเสมือนว่าได้เงินคนอื่นมาใช้ฟรีๆ อันก่อให้เกิดการใช้เงินอย่างสนุกสนานและสุรุ่ยสุร่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นการนำเงินในอนาคตของตนเองมาใช้ต่างหาก
การกู้เงินเพื่อเก็งกำไรไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะไม่ก่อให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการที่แท้จริง ซึ่งจะไม่มีผลต่อการจ้างงานและไม่ส่งผลให้เกิดวงจรของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถาวร
แต่ในปัจจุบัน การกู้เงินเพื่อเก็งกำไรกลับกลายเป็นปรากฏการณ์ภาคปฏิบัติของระบบทุนนิยม เช่นเดียวกับลัทธิบริโภคนิยมที่สนับสนุนการกู้เงินเพื่อบริโภค ซึ่งสองสิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดผลร้ายทางเศรษฐกิจทั่วโลกมาแล้ว ได้แก่ วิกฤติต้มยำกุ้ง (1997 Asian financial crisis) ในปี 2540 ที่เริ่มต้นในประเทศไทยอันเกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ วิกฤติดอทคอม (dot-com bubble) ในปี 2543 ที่เกิดจากการเก็งกำไรหุ้นบริการทางอินเทอร์เน็ต และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (subprime mortgage crisis) ในปี 2550-2551 ที่เกิดจากการเก็งกำไรบ้านในประเทศสหรัฐอเมริกา วิกฤติเศรษฐกิจเช่นนี้จะเกิดตามมาอีกในอนาคต เพราะสาเหตุของปัญหายังคงอยู่
ทางออกของประเทศไทยคือ ต้องใช้ “ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” อย่างจริงจัง เพราะเศรษฐกิจพอเพียงไม่เป็นแค่เพียงทฤษฎีเท่านั้น แต่ได้รับการพิสูจน์ที่ผ่านการวิจัยทดลองมาแล้วกว่าสองทศวรรษ และได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) แล้วด้วย
ถึงแม้ว่า หลายรัฐบาลที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันได้แถลงเป็นนโยบายไว้กับรัฐสภาว่า จะนำ ”เศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้ปฏิบัติ แต่ก็ไม่มีรัฐบาลใดเลยที่ปฏิบัติตามคำแถลงอย่างจริงจัง
สำหรับงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องการบริโภคที่ได้รับรางวัลอีกโนเบล คือ
ปี 2550 สาขาโภชนาการ มอบให้กับ Brian Wansink นักวิจัยจาก Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา ในงานวิจัยเกี่ยวกับความอยากอาหารที่ไม่มีขีดจำกัด โดยการวิจัยทดลองให้คนกินน้ำซุป จากชามที่เติมน้ำซุปเองได้
ปี 2551 สาขาโภชนาการ มอบให้กับนักวิจัย 2 คนคือ Massimiliano Zampini จาก University of Trento ประเทศอิตาลี และ Charles Spence จาก Oxford University ประเทศสหราชอาณาจักร ที่ได้ปรับเสียงของมันฝรั่งทอดกรอบ (potato chip) เพื่อให้ผู้บริโภคคิดว่า มันฝรั่งทอดกรอบที่กำลังเคี้ยวนั้น กรอบและสดกว่าที่เป็นจริง
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ทำให้ "หัวเราะ" ก่อน "คิด"
หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “บริโภคนิยม” ในประชากรและการพัฒนา 32(4) เมษายน-พฤษภาคม 2555: 8
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย