ภาษาเป็นหนทางหนึ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารถึงกันและกัน นอกเหนือไปจากการสัมผัส การส่งสายตา การแสดงสีหน้า และการแสดงออกทางกาย การสื่อสารด้วยภาษาทำได้ด้วยการพูด การเขียน หรือการเคลื่อนไหวของมือ (ภาษามือ) นอกจากนี้เรายังใช้ภาษาในการคิดอีกด้วย
มนุษย์เริ่มใช้ภาษาในการสื่อสารเมื่อราว 100,000 ปีมาแล้ว (ดังรูป) สำหรับภาษาเขียนนั้น เกิดขึ้นราว 6,000 กว่าปีนี้เอง ภาษาทั่วโลกมีมากกว่า 7,000 ภาษา โดยส่วนใหญ่เป็นภาษาถิ่น
ภาพจิตรกรรมฝาผนังใน Teotihuacan ประเทศเม็กซิโก (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 2) แสดงภาพคนเตะฟุตบอลที่เปล่งเสียงพูดออกจากปาก ด้วยสัญลักษณ์ของคำพูด
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2993932
สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2565
มนุษย์เรามีความสามารถที่จะเรียนรู้และใช้ภาษาตั้งแต่เกิด เด็กจะเรียนรู้ภาษาที่พูดกันอยู่ในสังคมที่เติบโตมา ช่วงอายุที่เด็กจะเรียนรู้ภาษาได้ดีคือ ระหว่างอายุ 18 เดือน ถึง 4 ขวบ ความสามารถนี้เป็นการสืบทอด ถัดจากช่วงอายุนี้ เด็กต้องเรียนรู้ภาษาที่สองเอาเอง
ภาษามีกฎเกณฑ์ร่วมกันในแต่ละชุมชนและสังคม ทำให้ภาษา วัฒนธรรม และประเพณีทางสังคมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง คำพูดที่เราใช้จะเป็นตัวกำหนดว่า เราสัมผัสโลกรอบตัวเราอย่างไร ดังเช่น ภาษาฮาวายมีคำที่กล่าวถึงฝนมากกว่า 200 คำ ส่วนภาษาสกอตก็มีคำที่กล่าวถึงหิมะมากกว่า 420 คำ
ภาษามีวิวัฒนาการตลอดเวลา มีคำใหม่เกิดขึ้น มีวิธีพูดใหม่ๆ รวมถึงสำเนียงใหม่ๆ ด้วย แต่ภาษาก็อาจจะหายไป เนื่องจากผู้พูดเสียชีวิตหรือเปลี่ยนไปพูดภาษาอื่น แม้ว่าภาษาต่างๆ จะสูญพันธุ์ไปตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ก็ได้หายไปอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21 เนื่องจากโลกาภิวัตน์และลัทธิล่าอาณานิคมใหม่ โดยภาษาที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจจะเข้าครอบงำภาษาอื่นๆ
ภาษาไทยปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ “ลักษณนาม” ที่กำลังจะหายไป จากที่เคยพูดว่า ช้าง 2 เชือก หรือเก้าอี้ 5 ตัว ก็กลายเป็น 2 ช้าง หรือ 5 เก้าอี้ เป็นต้น “ลักษณนาม” เป็นคํานามที่แสดงลักษณะของสิ่งต่างๆ เช่น คน 3 คน แมว 2 ตัว ขลุ่ย 3 เลา ลูกคนโต หมวกใบใหญ่ โดยที่ลักษณะมี 2 ประเภทคือ ประเภทแรกเกี่ยวกับจำนวนหรือปริมาณของสิ่งนั้นๆ ได้แก่ คน 3 คน แมว 2 ตัว และขลุ่ย 3 เลา ซึ่งคน ตัว และเลา เป็นลักษณนามของคน แมว และขลุ่ย ตามลำดับ
ประเภทที่สองเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ ได้แก่ ลูกคนโตและหมวกใบใหญ่ ซึ่งคนและใบ เป็นลักษณะนามของลูกและหมวก ตามลำดับ จะเห็นได้ว่า ภาษาไทยให้ความสนใจในลักษณะจำเพาะของสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึง หรืออีกนัยหนึ่งภาษาไทยสนใจในคุณภาพ แต่ภาษาอังกฤษกลับตรงกันข้าม ที่ให้ความสนใจในจำนวนหรือปริมาณเป็นสำคัญ อันสะท้อนให้เห็นถึงฐานความคิดทางตะวันตก ที่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องวัดได้ด้วยจำนวน
ฐานความคิดที่ทุกอย่างต้องวัดได้ด้วยจำนวนนี้ มาจากหลักความคิดทางวิทยาศาสตร์ที่สนใจเฉพาะสิ่งที่สามารถสังเกตและรับรู้ได้ด้วยอวัยวะสัมผัสคือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง ที่สามารถวัดได้เท่านั้น และปฏิเสธสิ่งที่วัดไม่ได้คือ การรับรู้ด้วยใจ ที่ยังไม่สามารถวัดได้ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการมองโลกที่ไม่รอบด้าน ยิ่งกว่านั้น หลักคิดของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมที่เน้นว่า “มากดีกว่าน้อย” ก็ช่วยเน้นความสำคัญของจำนวนหรือปริมาณให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
แต่ภาษาไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันออกและศาสนาพุทธ จะสนใจในลักษณะของสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นในขณะนั้นมากกว่า และให้ความสนใจในจำนวนเป็นเรื่องรอง ทำให้การกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ไม่ได้นำหน้าด้วยจำนวน แต่บอกชื่อสิ่งที่กล่าวถึงก่อน แล้วจึงตามด้วยจำนวน และต่อท้ายด้วยลักษณนาม
ดังนั้น ถ้าลักษณนามในภาษาไทยหายไป ย่อมส่งผลให้กระบวนการคิดของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการยอมรับลัทธิบริโภคนิยม ปัจเจกบุคคล และศีลธรรมจิตวิสัย อันจะส่งผลให้สังคมไทยอ่อนแอลง
ภาษายังมีเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ เช่น
รางวัลอีกโนเบลปี 2558 สาขาวรรณคดี ได้มอบให้กับนักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และออสเตรเลีย (Mark Dingemanse, Francisco Torreira และNick J. Enfield) ที่ได้ร่วมกันวิจัยจนพบว่า “หือ (huh)” เป็นคำมีอยู่ในทุกภาษา แต่ไม่รู้ว่าทำไมถึงมี
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำก่อนคิด
หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “ภาษา” ใน ประชากรและการพัฒนา 42(6) สิงหาคม-กันยายน 2565: 8
รีนา ต๊ะดี
เพ็ญพิมล คงมนต์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
วรชัย ทองไทย
อมรา สุนทรธาดา
วรชัย ทองไทย
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
วรชัย ทองไทย
ชิษณุพงษ์ สรรพา
ธีรนันท์ ธีรเสนี
ภาสกร บุญคุ้ม
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
อารยา ศรีสาพันธ์
นนทวัชร์ แสงลออ
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย