คงเป็นการทุจริตต่อความรู้สึกของตัวเองเกินไปหากจะบอกว่าเราไม่มีความผิดหวังอยู่เลยในห้วงขณะแบบนั้น มันเป็นโรงเรียนแห่งที่สองของวันที่เราหอบเด็กๆ และพ่อแม่กว่าสิบชีวิตซึ่งอัดกันอยู่หลังรถกระบะไม่กี่คันเพื่อมาสมัครเรียน หลายเดือนก่อนหน้า พวกเราในฐานะเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนได้สำรวจแคมป์ก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่ชานเมือง แน่ละ... เราพบว่าเด็กในแคมป์แทบที่ไม่มีใครได้เรียนหนังสือ
เรานัดแนะผู้ปกครองเรื่องการพาเด็กไปสมัครเรียนพร้อมกำชับว่าควรมีพ่อหรือแม่ไปกับเด็กๆ และพวกเราด้วย พูดก็พูดเถอะ ลึกๆ แล้ว นอกจากอยากให้พ่อแม่มาดูว่าโรงเรียนอยู่ตรงไหนเพื่อประโยชน์ในการรับส่ง ปรารถนาอันสมถะอีกประการคือเราอยากให้เขาและเธอมาเห็นว่าสถานที่ซึ่งลูกๆ กำลังจะเข้าเป็นไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน... เป็นยังไง
โรงเรียนแห่งแรกปฏิเสธพวกเราไปแล้วด้วยคำอธิบายว่าขอรับ “เด็กไทย” ก่อน เราตรงไปโรงเรียนแห่งที่สองทันทีโดยพวกเราเพียงไม่กี่คนเข้าไปคุยกับคุณครูปล่อยให้เด็กและพ่อแม่กว่าสิบชีวิตคอยอยู่ด้านนอก ครูลังเลที่จะให้คำตอบและขอคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนก่อน เรารู้กันโดยที่ไม่ต้องพูดออกมาตรงๆ... โรงเรียนคงไม่อยากรับ
ขณะที่ยังไม่ได้บอกผลของการพูดคุยกับทุกคน หนุ่มกัมพูชาที่พาลูกชายสองคนมากับเราก็ทำลายความเงียบลงด้วยน้ำเสียงที่คละเคล้าระหว่างความคาดหวังและความชาชิน
การดำรงอยู่ของเด็กข้ามชาติเป็นผลพวงโดยตรงกับปรากฎการณ์การอพยพของผู้คนจำนวนเรือนล้านจากประเทศข้างเคียงเข้ามาในประเทศไทยตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2547 ได้มีการปฏิรูประบบบริหารจัดการผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็นการยอมรับการมีอยู่ของลูกหลานแรงงานอพยพเหล่านี้โดยรัฐไทย รูปธรรมของการถูกมองเห็นคือมีคำสั่งให้จัดทำทะเบียนประวัติ ออกหมายเลขประจำตัวบุคคล 13 หลักให้เด็ก และยอมรับสิทธิการอยู่อาศัยภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนด หลังจากนั้น หนึ่งปีจึงได้เกิดระเบียบที่วางหลักการเรื่องสิทธิทางการศึกษาอันเกี่ยวพันกับเด็กกลุ่มนี้ตามมา
พ.ศ. 2548 ได้มีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการซึ่งวางรากฐานระบบ “การศึกษาถ้วนหน้า” สำหรับเด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยกำหนดให้เด็กทุกคนสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขเรื่องสัญชาติ หรือสถานะทางกฎหมาย1 พูดง่ายๆ ก็คือ เด็กจะมีเอกสารหรือไม่มีเอกสาร หรือจะมีสถานะอยู่อาศัยในประเทศอย่างไรก็สามารถเข้าเรียนได้และได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเช่นเดียวกับเด็กไทยทุกประการ เรื่องนี้หาใช่เรื่องที่ออกระเบียบครั้งเดียวจบ กระทรวงศึกษาธิการได้มีการทำหนังสือคู่มือที่วางกรอบการดำเนินการสำหรับ “เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย” ออกมาหลายครั้ง รวมถึงหนังสือสั่งการ คำสั่ง หนังสือเวียนที่เน้นย้ำกับหน่วยงานและโรงเรียนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงนโยบายนี้อีกหลายอีกฉบับ
อย่างไรก็ตาม มีโรงเรียนจำนวนไม่น้อยไม่เคยทราบการมีอยู่ของระเบียบนี้มาก่อน อันที่จริงมันอาจไม่ใช่เรื่องผิดคาดนักหากบางโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งไม่มีชุมชนแรงงานข้ามชาติอยู่อาศัยหรือแทบไม่เคยมีลูกหลานแรงงานข้ามชาติมาเข้าเรียนจะไม่เคยเห็นระเบียบฉบับนี้ แต่ทว่าอย่างน้อยอุดมคติเบื้องหลังระเบียบฉบับนี้ที่วางรากฐานการเข้าถึงการศึกษาของเด็กทุกคนโดยไม่ต้องคำนึงถึงเส้นแบ่งใดๆ ก็น่าจะเป็นที่รับรู้โดยไม่จำเป็นต้องถามหาเอกสารฉบับใดมายืนยัน แม้นโยบายการศึกษาถ้วนหน้าจะมีขึ้นในประเทศไทยกว่า 20 ปีแล้ว แต่สิ่งที่เราพบจากประสบการณ์การทำงานส่งเสริมการศึกษาของเด็กข้ามชาติคือ มีเด็กจำนวนไม่น้อยยังเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาอันมีสาเหตุมาจากหลากหลายเงื่อนไขที่สัมพันธ์กัน
งานศึกษา ของ Bhagavatheeswaran และคณะ (2016)2 ว่าด้วยอุปสรรคและปัจจัยเอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิงชายขอบในอินเดีย ได้เสนอแบบจำลองเพื่อทำความเข้าใจอุปสรรคและปัจจัยเอื้อที่กำหนดการเข้าถึงการศึกษาของเด็กโดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับบุคคล (individual), ระดับระหว่างบุคคล (interpersonal), ระดับระบบการศึกษา (Education system) และ ระดับมหภาคเชิงสังคม (Macro/societal) บทความนี้ได้ดัดแปลงแบบจำลองข้างต้นมาใช้ทำความเข้าใจกรณีการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติในประเทศไทยตามรูปภาพด้านล่าง
แบบจำลองว่าด้วยปัจจัยเอื้อและอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติ
ที่มา ดัดแปลงมาจาก, Lalitha Bhagavatheeswaran และคณะ, “The barriers and enablers to education among scheduled caste and scheduled tribe adolescent girls in northern Karnataka, South India: A qualitative study”, International Journal of Educational Development 49 (1 กรกฎาคม 2016): 262–70
ประสบการณ์การทำงานกับเด็กข้ามชาติและโรงเรียนในหลายพื้นที่ทำให้เราได้ข้อสรุปกว้างๆ ว่าโรงเรียนมีรูปแบบการจัดการเรื่องศึกษาเด็กข้ามชาติ 3 แนวปฏิบัติใหญ่ๆ ลักษณะแรกคือโรงเรียนที่มีแนวปฏิบัติรองรับการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ดีมาก เข้าใจข้อจำกัดด้านต่างๆ ของครอบครัวเด็กและมีแนวทางรองรับสำหรับเด็กในทุกเงื่อนไขและสถานการณ์ พูดง่ายๆ คือขอแค่โรงเรียนพบเด็กที่ต้องการจะเรียน ยังไงก็ได้เข้าเรียนและได้รับการดูแลอย่างดี จากคุณครูและบุคลาการการศึกษาที่พร้อมจะช่วยเหลือดูแล (supportive teachers) และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนอย่างครอบคลุม (Government Schemes) อาจพูดได้ว่าโรงเรียนเหล่านี้มักเป็นโรงเรียนที่มีเงื่อนในแบบจำลองว่าด้วยระบบการศึกษา (Education system) ที่เข็มแข็ง
แนวปฏิบัติของโรงเรียนที่พบมากที่สุดคือโรงเรียนที่ยินดีที่จะรับเด็กเข้าเรียนเช่นกันแต่ติดปัญหาคือการไม่รู้รายละเอียดขั้นตอนของการรับสมัครซึ่งมีรากฐานมาจากระเบียบกระทรวง พ.ศ. 2548 ข้อติดขัดที่พบได้โดยทั่วไปคือโรงเรียนมักจะขอเอกสารใบเกิด ซึ่งเด็กที่มีจะสามารถเข้าเรียนได้อย่างไม่มีปัญหาแต่ประเด็นมันเกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่มี เมื่อพบสถานการณ์เช่นนี้โรงเรียนมักขอเอกสารเท่าที่ผู้ปกครองหามาได้ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อไม่มีใบเกิดเอกสารอื่นก็มักไม่มีตามไปด้วยโดยปริยาย กรณีเช่นนี้ หากโรงเรียนไม่ติดตามผลหรือพูดคุยกับผู้ปกครองอีกครั้งเด็กก็เสี่ยงที่จะไม่ได้เข้าเรียนเอาง่ายๆ
นอกจากสภาพปัญหาข้างต้น ปัญหาที่ทำงานยากขึ้นมาอีกระดับคือโรงเรียนที่มีแนวโน้มไม่อยากรับเด็ก ข้ามชาติเข้าเรียนซึ่งแสดงออกมาในหลายรูปแบบ ทั้งการบอกกันตรงๆ ว่าโรงเรียนไม่รับ ขอรับเด็กไทยก่อน หรือบางทีก็ขอคุยกับคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วก็เงียบหายไป รูปแบบนี้รวมถึงโรงเรียนที่กำหนดเงื่อนไขเรื่องเอกสารประกอบการสมัครมากเกินกว่าที่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้และปฏิเสธที่จะรับเด็กเข้าเรียนถ้าไม่สามารถหาเอกสารตามเงื่อนไขของโรงเรียน เรื่องนี้เป็นเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยากและมีต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายพอสมควรให้แก่ผู้ปกครองในการหาเอกสารที่โรงเรียนต้องการ
จะพบว่าลักษณะของการจัดการศึกษาของเด็กข้ามชาติทั้ง 3 รูปแบบกว้างๆ ที่เราพบ มีระดับของความเข็มแข็งของปัจจัยว่าด้วย ระบบการศึกษา (Education system) ที่แตกต่างกันในแต่ละโรงเรียนโดยตรง กล่าวคือโรงเรียนที่มีปัจจัยนี้เข็มแข็งจะประกอบไปด้วยคุณครูที่เข้าใจและสนับสนุนซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงที่วางหลักการเรื่องนี้ไว้แล้ว ขณะเดียวกันในทางอ้อมก็สะท้อนปัจจัย มหภาคเชิงสังคม (Macro/societal) ว่าด้วยทัศนคติของสังคมต่อความจำเป็นในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติเช่นกัน
พ้นไปจากเรื่องระบบการรับสมัครของโรงเรียน เรื่องที่เรารู้สึกว่าจัดการยากกว่าการติดต่อกับโรงเรียนคือเงื่อนไขของครอบครัวซึ่งส่งผลให้เด็กไม่ได้เข้าเรียน เพราะเจอเข้าแบบนี้ก็เท่ากับเส้นทางการศึกษาของเด็กสิ้นสุดลงตั้งแต่ยังไม่ทันจะได้เริ่ม ปัญหาประเภทนี้เป็นปัญหาในระดับระหว่างบุคคล (interpersonal) ซึ่งส่วนใหญ่มักแวดล้อมเงื่อนไขว่าด้วยสภาพความเป็นอยู่ของผู้ปกครอง
ลักษณะแรกอาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องต้นทุนที่พวกเขาหรือเธอต้องจ่ายเพื่อการศึกษาของลูก แม้จะไม่มีภาระเรื่องค่าเทอม แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามอย่างง่ายๆ แค่ค่าเครื่องแบบก็นับว่ามากเอาการสำหรับคนที่ทำงานรับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ ยังไม่ต้องพูดถึงอุปกรณ์การเรียนและค่าเดินทาง เราเคยคะยั้นคะยอแม่ของเด็กชายที่อาศัยในแคมป์ก่อสร้างคนหนึ่งซึ่งเข้าเรียนมาแล้ว 1 ปีแต่วันดีคืนดีคุณแม่กลับเอาลูกออกจากโรงเรียนมาเสียดื้อๆ เมื่อไถ่ถามถึงรู้ว่ารถโรงเรียนที่เคยรับ-ส่งฟรีหยุดวิ่ง เด็กนักเรียนคนอื่นๆ ในแคมป์นี้ต้องเหมารถโดยมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 5-6 ร้อยบาท แม้ผมจะไม่เข้าใจภาษาที่เธอสื่อสารแม้แต่คำเดียวแต่การหลบสายตาหรือมองลงพื้นตลอดเวลาก็สังเกตได้ว่าคงยากที่จะโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจ
ต้นทุนที่บางครอบครัวต้องจ่ายก็ไม่ใช่ในรูปของตัวเงินเพียงเท่านั้น หากแต่คือการสูญเสียช่วงเวลาของวัยเด็กเพื่อรับภาระของผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร ผมยังจำบรรยากาศในห้องพักอุดอู้แห่งหนึ่งที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นสาปอาหารทะเลจากกิจการประมงต่อเนื่องได้ดี หญิงวัยกลางคนผู้เป็นแม่กำลังประคองเด็กแรกเกิดขณะที่พี่สาวของทารกน้อยวัยประมาณ 10 ขวบปีนั่งอยู่ข้างๆ ชายหนุ่มหัวหน้าครอบครัวไม่อยู่ด้วยเพราะต้องออกเรือไปครั้งละหลายวันส่วนแม่ของเด็กทั้งสองก็กำลังครบกำหนดที่ต้องกลับไปทำงาน พี่สาวจึงเป็นผู้รับภาระเลี้ยงดูน้องไปโดยปริยาย ฉากชีวิตทำนองนี้ไม่ใช่ลักษณะเฉพาะแต่เป็นเหตุการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป
นอกจากนั้น การไม่สามารถคาดการณ์อนาคตของตัวพ่อแม่เองก็ทำให้การตัดสินใจว่าควรจะวางแผนชีวิตเด็กอย่างไรไม่มีความแน่ชัดไปด้วย เราพบบ่อยๆ ว่าเหตุผลที่พ่อแม่ที่ไม่ส่งเด็กเข้าโรงเรียนเพราะจะส่งเด็กกลับประเทศ แต่ก็พบอีกบ่อยๆ อีกนั่นแหละว่าเด็กเหล่านั้นยังอยู่ในประเทศไทยแม้ผ่านมาหลายปี ขณะที่พ่อแม่บางคนจะคาดคั้นอย่างไรก็ไม่ยอมลูกเข้าเรียนโดยที่เราก็จนปัญญาจะเข้าใจในเหตุผล
บางที... การมีปัญหาเล็กน้อยรายกรณีที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาอาจจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ผลิตเงื่อนไขสารพัดอันทำให้เด็กจำนวนมากไม่มีทางจะเข้าถึงการศึกษาและถือว่าเป็นปัญหาของปัจเจกที่ต้องดิ้นรนไปตามยถากรรม สภาพเช่นนี้ถึงอย่างไรก็ต้องถือเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดิน
ภาพโดย ผู้เขียน
มันคงเป็นการทุจริตต่อความรู้สึกของตัวเองเกินไปหากจะบอกว่าเราไม่มีความผิดหวังอยู่เลยในห้วงขณะที่ต้องตอบคำถามนี้ของชายหนุ่มชาวกัมพูชา เพราะนี่เป็นโรงเรียนแห่งที่สองของวันที่เราหอบเด็กๆ และพ่อแม่กว่าสิบชีวิตซึ่งอัดกันอยู่หลังรถกระบะไม่กี่คันเพื่อมาสมัครเรียน
เบื้องหลังคำถามของหนุ่มฉกรรจ์... ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าขณะนั้นเรากำลังอยู่ท่ามกลางแบบจำลองของ Bhagavatheeswaran และคณะ ซึ่ง ปัจจัยเชิงบุคคล (individual) และ ปัจจัยระหว่างบุคคล (interpersonal) อันเอื้อต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กดำรงอยู่แล้วอย่างเข้มแข็ง แต่ปัจจัยระบบการศึกษา (Education system) และ ปัจจัยมหภาคเชิงสังคม (Macro/societal) กลับแสดงบทบาทที่แสนอ่อนแอ
แต่ทว่า ประสบการณ์บอกพวกเราว่าถ้าสองปัจจัยแรกดำรงอยู่แล้ว การหาโรงเรียนที่เต็มไปด้วยสองปัจจัยหลังก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป เพราะฉะนั้นจึงแทบไม่มีเด็กคนไหนที่อยากเรียนแล้วเราหาโรงเรียนให้ไม่ได้... เด็กสิบกว่าคนนี้ก็เช่นกัน
อ้างอิง
อมรา สุนทรธาดา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
อมรา สุนทรธาดา
พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
บุรเทพ โชคธนานุกูล
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย
วรชัย ทองไทย
ณปภัช สัจนวกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปรียา พลอยระย้า
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
รีนา ต๊ะดี
ฉัตรชัย วัฒนไชยประทีป