The Prachakorn

เด็กข้ามชาติกับผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก


วาทินี บุญชะลักษี

15 พฤศจิกายน 2564
339



ไทยยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกพืชผักผลไม้หลายชนิด และมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตสูงกว่าการใช้สารชีวภาพหรือสารอินทรีย์ ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย และแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมต่างพลอยได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่มีอันตรายไปด้วย และเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ อาทิเช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งปอด โรคทางเดินระบบหายใจ และยังก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคจากการปนเปื้อนของสารที่ตกค้างอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ และเกิดการสะสมในน้ำและดิน

ข้อมูลจากรายงานการสำรวจขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีการใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีการใช้ยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก ที่สำคัญจากการสำรวจในทุกปี ยังพบว่า มีสารเคมีตกค้างในพืชผักและมีสารพิษอันตรายที่ทั่วโลกห้ามใช้อยู่ นอกจากเกษตรกรซึ่งถือเป็นต้นน้ำของการผลิตที่เสี่ยงสูงแล้ว ผู้บริโภคก็ต้องเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพไปด้วย

เชียงใหม่เป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยที่มีปลูกข้าวนาปีและมีการเพาะปลูกพืชผักผลไม้หลายชนิด อาทิเช่น ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม กาแฟ กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ ยางพารา รวมทั้งพืชผลไม้เมืองหนาว และมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกค่อนข้างสูง ผู้ที่มารับจ้างเป็นแรงงานในไร่นาจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีที่อันตรายไปด้วย

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปี 2564 ในโครงการประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด 19 พบว่า เชียงใหม่หนี่งในหกจังหวัดของพื้นที่ศึกษา มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์หลายครอบครัวที่รับจ้างเป็นแรงงานในภาคการเกษตร และมีลูกติดตามพ่อแม่เข้าไปช่วยทำงานในไร่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนและเด็กโต จากข้อมูลที่ได้จากครูในโรงเรียนพบว่ามีเด็กบางคนมาเรียนสาย เมื่อมาถึงโรงเรียนตามเนื้อตัวจะมีกลิ่นสารเคมีติดมาด้วย บางคนมีแผลตามตัว แขน และขาเพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำงานก่อนมาโรงเรียนในไร่ที่มีการใช้สารเคมีในการฉีดพ่นฆ่าแมลง

ผลกระทบเฉียบพลันที่เกิดจากการใช้สารเคมีโดยทั่วไป ก็คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด ตาพร่า ส่วนผลกระทบเรื้อรังจากการสะสมของสารอัตรายก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน การพิการของทารกแรกเกิด และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น

การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกนั้นส่งผลดีต่อการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวทั้งต่อผู้ผลิตที่เป็นผู้ประกอบการและแรงงานรวมทั้งผู้บริโภค ยิ่งเป็นเด็กที่ต้องช่วยพ่อแม่ทำงานในเรือกสวนไร่นา ซึ่งต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ หากผู้ประกอบการยังคงเลือกใช้สารเคมีที่มีอันตรายอยู่ ก็ควรที่มีวิธีการป้องกันเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของแรงงานและเด็กที่ช่วยพ่อแม่ทำงานในไร่นา

“ประเทศไทยมีปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (เทียบต่อพื้นที่) สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก”

ที่มา Thai-Pan เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (https://www.thaipan.org/highlights/2426)


รองศาสตราจารย์ ดร.วาทินี บุญชะลักษี
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

ยกทรง

วรชัย ทองไทย

มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

แมลงสาบ

วรชัย ทองไทย

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ขั้นตอนวิธี (algorithm)

วรชัย ทองไทย

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

โกหก

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th