The Prachakorn

คันและเกา


วรชัย ทองไทย

13 สิงหาคม 2564
901



สิ่งมีชีวิตอันได้แก่ คน สัตว์ และพืช มีจุดหมายสูงสุดคือ การดำรงชีวิตให้คงอยู่ เพื่อให้เจริญเติบโตเต็มที่ จนสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้โดยไม่สูญพันธุ์ ดังนั้น ธรรมชาติจึงได้สร้างกลไกต่างๆ ขึ้น เพื่อป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นต่อชีวิตร่างกาย คันและเกาก็เป็นกลไกธรรมชาติหนึ่งสำหรับคนและสัตว์

ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “คัน” และ “เกา” ดังนี้ “คัน ก. อาการที่รู้สึกให้อยากเกา” และ “เกา ก. เอาเล็บหรือสิ่งที่มีลักษณะคล้ายเล็บครูดผิวหนังเพื่อให้หายคันเป็นต้น” (ดังรูป) อันนับว่าเป็นการให้ความหมายที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่สุด

รูป มือขวากำลังเกาหลังมือซ้ายที่คัน
ที่มา: https://www.thehealthy.com/skin-health/health-conditions-with-itchy-skin/ สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2564

คันเป็นความรู้สึกระคายเคืองที่ผิวหนัง จนทำให้รู้สึกอยากเกา อาการคันอาจเกิดจากสาเหตุนอกร่างกาย เช่น ยุง ไม้เลื้อยพิษ หรือจากสาเหตุในร่างกาย เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ สำหรับอาการคันที่เกิดจากแมลงหรือพืชนั้น เป็นเพราะสารพิษที่ถูกปล่อยจากแมลงหรือพืชจะอยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งสารพิษนี้จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการหลั่งสาร histamine อันเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการคัน เมื่อรู้สึกคันก็อยากเกา การเกาทำให้เส้นเลือดขยาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณของพลาสมาและเซลล์เลือดขาวให้ไหลมาชะล้างสารพิษออกจากผิวหนัง ด้วยเหตุนี้ผิวหนังจึงเกิดผื่นแดงขึ้นเมื่อเกา

คนเราจะรู้สึกเจ็บที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ อวัยวะ และผิวหนัง แต่ผิวหนังเป็นเพียงแห่งเดียวของร่างกายที่สามารถรู้สึกได้ทั้งเจ็บและคัน

ถึงแม้เส้นประสาทสำหรับความรู้สึกคันและเจ็บจะอยู่ใต้ผิวหนังเหมือนกัน รวมทั้งใช้ลำเส้นใยประสาทเดียวกันก็ตาม แต่กลับใช้ระบบส่งความรู้สึกไปยังสมองที่แยกจากกัน โดยความเร็วของความรู้สึกคันจะช้าที่สุดคือ มีความเร็วเพียง 2 ไมล์ต่อชั่วโมง ส่วนความเร็วของความรู้สึกเจ็บจะอยู่ที่ 80 ไมล์ต่อชั่วโมง และความเร็วของความรู้สึกสัมผัสจะสูงที่สุด คือ 200 ไมล์ต่อชั่วโมง

ความรู้สึกคันคล้ายกับความรู้สึกเจ็บตรงที่เป็นประสบการณ์ที่ไม่พึงใจเหมือนกัน แต่กลับมีพฤติกรรมตอบสนองที่ตรงกันข้าม โดยเมื่อรู้สึกเจ็บก็อยากจะถอยออก อันเป็นการป้องกันอันตรายไม่ให้เกิดขึ้นกับส่วนที่เจ็บ แต่เมื่อรู้สึกคันก็อยากจะเกา อันเป็นการดึงเข้าสู่ผิวหนังที่คัน เกาตรงผิวหนังที่คันจึงเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการเอาสิ่งแปลกปลอมใต้ผิวหนังออก รวมทั้งช่วยปัดแมลงที่ตอมอยู่ออกไปด้วย

เมื่อได้เริ่มเกาแล้ว เราก็มักจะรู้สึกคันมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเกามากขึ้น ร่างกายก็จะหลั่งสาร histamine เพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้เส้นประสาทส่งสัญญาณคันไปยังสมองมากขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกอยากเกามากขึ้นเป็นวัฏจักร “ยิ่งคันยิ่งเกา ยิ่งเกายิ่งคัน” วนเวียนไปเรื่อยๆ จนอาจมีผลให้ผิวหนังถลอก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และก่อให้เกิดสะเก็ดที่น่ารังเกียจ

ถ้าเราไม่สามารถห้ามไม่ให้เกาได้ สิ่งที่ควรทำคือ

  • อย่าใช้เล็บมือเกา แต่ควรใช้วิธีลูบ นวด กด ตบหรือหยิกเบาๆ ทางที่ดีควรตัดเล็บให้สั้น เผื่อเวลาเกาจะได้ไม่ทำให้ผิวหนังถลอก หรือใส่ถุงมือเวลานอน เพื่อช่วยป้องกันผิวหนังเมื่อเกาในเวลาหลับ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้คัน เช่น เสื้อขนสัตว์ ห้องที่ร้อน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบางชนิด กล่าวคือควรเรียนรู้ว่า สิ่งไหนทำให้คัน และพยายามหลีกเลี่ยงให้ไกลที่สุด
  • ดูแลรักษาสุขภาพผิวหนัง เพราะผิวหนังแห้งทำให้อาการคันเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนนานๆ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเหลวที่อ่อน ปราศจากกลิ่นหอม และหลีกเลี่ยงน้ำหอม
  • ใช้ครีมให้ความชุ่มชื้น เพื่อระงับความคันบนผิวหนัง ยาทาผิว ที่มีส่วนผสมของการบูร (menthol) หรือ calamine ก็ช่วยทำให้ผิวหนังเย็นได้
  • ใช้ความเย็น เช่น ใช้ผ้าเย็นประกบหรืออาบน้ำเย็น ก็สามารถช่วยให้ความคันลดลง
  • ใช้การรักษา ได้แก่ ยา สมุนไพร ความเย็น ความร้อน และนวดคลึง
  • ใช้เครื่องมือเกาในที่ที่ไปไม่ถึง เช่น ไม้เกาหลัง ก็จะช่วยบรรเทาอาการคันเฉพาะที่ได้

ที่น่าสนใจคือ “คันและเกา” เป็นพฤติกรรมที่ติดต่อกันได้เช่นเดียวกับ “หาว” นั่นคือ ถ้าเราเห็นใครเกา เราจะรู้สึกคันและเกาตามไปด้วย หรือถ้าได้ยินหรืออ่านคำว่า คันหรือเกา เราก็จะรู้สึกคันและเกาทันที ความรู้เช่นนี้ ทำให้เราสามารถควบคุมตนเองไม่ให้เกาได้ ด้วยการเตือนตนเองไม่ให้เกาโดยไม่มีเหตุผล แต่ถ้าเริ่มเกาไปแล้ว ก็ควรใช้สติบอกให้หยุดเกาทันที อันเป็นการตัดวัฏจักร “คัน-เกา เกา-คัน" ได้

รางวัลอีกโนเบลได้เคยมอบให้กับงานวิจัยเกี่ยวกับคันและเกาคือ

ปี 2559 สาขาแพทยศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยชาวเยอรมัน 5 คน (Christoph Helmchen, Carina Palzer, Thomas Munte, Silke Anders และ Andreas Sprenger) ที่ได้ค้นพบว่า เมื่อเรารู้สึกคันที่ด้านซ้ายของร่างกาย ก็สามารถทำให้หายคันได้ ด้วยการมองกระจกเงาแล้วเกาที่ด้านขวา แต่ถ้าคันที่ด้านขวา ก็ให้เกาที่ด้านซ้าย

ปี 2562 สาขาสันติภาพ มอบให้กับนักวิจัย 7 คน จากสหราชอาณาจักร ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา (Ghada A. bin Saif, Alexandru Papoiu, Liliana Banari, Francis McGlone, Shawn G. Kwatra, Yiong-Huak Chan และ Gil Yosipovitch) ที่ร่วมมือกันวัดค่าความหรรษาของการเกาในที่คัน

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ขบขัน แต่ชวนให้คิด


หมายเหตุ: ปรับแก้จาก “คันและเกา” ใน ประชากรและการพัฒนา 41(6) สิงหาคม-กันยายน 2564: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คันและเกา

วรชัย ทองไทย

โลกร้อน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th