The Prachakorn

เศรษฐกิจโลกป่วน: พลเมืองรากหญ้าอยู่ยาก


อมรา สุนทรธาดา

06 ตุลาคม 2565
870



การจัดระเบียบโลกด้วยแนวทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อให้ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสันติภาพโลก ในบางกรณีอาจสร้างผลในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่จะถึงมือใคร สถานการณ์โลกตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ราคาอาหาร ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสำหรับพลังงานความร้อน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่า เมื่อผู้นำรัสเซียแข็งกร้าวต่อมติกลุ่มสมาชิกอียู (EU) ที่ต้องการคว่ำบาตรรัสเซียจากสาเหตุที่ยูเครนถูกถล่มอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต้มต่อจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูตินที่สั่งปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 1 ที่ขายให้ยุโรปอย่างไม่มีกำหนดโดยอ้างเหตุผลว่าท่อส่งชำรุด มีผลต่อการเลือกข้างของประเทศสมาชิกอียู (ที่มีสมาชิกรวม 28 ประเทศ) เช่น โปแลนด์ ตุรกี ฮังการี ที่เอาใจออกห่างมติอียู เพราะไม่ต้องการให้ประเทศได้รับผลกระทบจากการขาดพลังงานธรรมชาติโดยเฉพาะในฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา

สำหรับประเทศที่ยังยืนหยัดต่อมติเดิม เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ต้องเปลี่ยนแผนการนำพลังงานเท่าที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ทดแทนการนำ.เข้าเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยเพื่อการควบคุมราคาสินค้า ค่าใช้จ่ายการบริโภคพลังงาน ซึ่งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คนรายได้น้อยต้องเข้าแถวนานหลายชั่วโมงหรือนอนค้างคืนเพื่อรอเข้าแถวซื้อถ่านหินเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

สงครามภูมิศาสตร์เศรษฐกิจโลกเป็นกลอุบายหลักของประเทศมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่ต่างต้องการรักษาผลประโยชน์และอำนาจด้านเศรษฐกิจและการเมือง

การคว่ำบาตรดังกล่าวนั้น กลุ่มประเทศสมาชิกอียู หวังผลว่าจะสร้างผลกระทบต่อการส่งออกพลังงานธรรมชาติของรัสเซียสู่ประเทศคู่ค้าให้ลดน้อยลงถึง 90% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายรัฐบาลของประเทศกลุ่มอียู จำเป็นต้องประกาศมาตรการลดการบริโภคก๊าซ 15% ช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2565-31 มีนาคม 2566 โดยรัฐบาลจะจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้บริโภคในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อการดำรงชีพที่ไม่ขาดแคลนจนเกินไป มาตรการดังกล่าวต้องเข้มข้นโดยรัฐบาลต้องติดตามและรายงานผลต่อคณะกรรมการบริหารทุก 2 เดือน นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกาต้องการเปิดการเจรจากับประเทศอาเซอร์ไบจาน และกาตาร์เพื่อทำสัญญาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติสำหรับยุโรป


รูป: วิกฤตพลังงานธรรมชาติในยุโรป ผลจากการคว่ำบาตรรัสเซียของกลุ่มอียูจากสาเหตุสงครามในยูเครน
ที่มา: https://www.un.org/development/desa/dpad/publication/world-economic-situation-and-prospects-june-2022-briefing-no-161/ Retrieved 8 September 2022

มาตรการกลุ่ม 7 ประเทศ (The Group of Seven-G7) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ เป็นการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการและมีการประชุมปีละครั้งเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โลก ได้จัดประชุมเร่งด่วนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเยอรมนีเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้สมาชิกกำหนดมาตรการกดดันเพดานราคาน้ำมันรวมทั้งพลังงานอื่นๆ ที่นำเข้าจากรัสเซีย สร้างแนวทางควบคุมราคาอาหาร รวมทั้งการแก้ไขวิกฤตเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามมาตรการหลังการประชุมดังกล่าวอาจไม่สำเร็จเพราะรัสเซียมีตลาดที่มีกำลังซื้อ เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ที่ต้องการสั่งซื้อพลังงานจำนวนมากและระยะยาว โดยที่รัสเซียเสนอเงื่อนไขล่อใจที่ไม่ธรรมดา เช่น สามารถจ่ายเป็นเงินรูเบิลหรือสกุลเงินประจำชาติของผู้สั่งนำเข้า

เยอรมนีได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซ  Nord Stream 1 ที่ส่งขายให้ยุโรปโดยไม่มีกำหนด อ้างเหตุว่าระบบท่อส่งมีปัญหาด้านเทคนิค แต่นัยคือเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศสมาชิกอียู

กรณีที่รัสเซียบุกรุกยูเครน เยอรมนีได้รับผลกระทบเพราะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 58% ของการบริโภคพลังงานต่อปีทั้งประเทศ หลังจากเกิดวิกฤตรัฐบาลเยอรมนีจำเป็นต้องประกาศมาตรการประหยัดพลังงานในครัวเรือนและภาคธุรกิจ เช่น กำหนดเวลาเปิด/ปิดไฟฟ้า กำหนดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนในครัวเรือนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันใช้พลังงานหุงต้มอาหารจากถ่านหิน ธุรกิจโรงแรม สถานประกอบการอื่นๆ เช่น อาบ อบ นวด ห้ามใช้พลังงานสำหรับการทำความร้อนรวมทั้งรัฐบาลเร่งสำรวจหลุมก๊าซธรรมชาติที่เคยขุดเจาะไว้ในอดีตว่ายังมีสภาพนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไร ผลที่ได้รับคือประชาชนเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลยุตินโยบายประหยัดพลังงานดังกล่าว เลิกการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่จำเป็นต้องพึ่งพลังงานนำเข้า

กลุ่มประเทศอาเซียนต้องเตรียมรับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อย่างรอบด้านเพื่อความอยู่รอด

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ยกทรง

วรชัย ทองไทย

สันติภาพในยูเครน

อมรา สุนทรธาดา

สถานการณ์โลกปี 2566

อมรา สุนทรธาดา

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

เด็กน้อยเร่งเรียนเขียนอ่าน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

โลกร้อน

วรชัย ทองไทย

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th