The Prachakorn

10 สถานการณ์ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติทั่วโลกที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต


อมรา สุนทรธาดา

04 สิงหาคม 2565
369



ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินที่ประมาณค่าไม่ได้ ถ้าย้อนดูเฉพาะในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นับว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร ดังนี้1

ไฟป่าในออสเตรเลีย เมื่อตุลาคม 2562 เกิดจากสาเหตุภัยแล้งรุนแรงตลอดช่วงเวลา 3 เดือน ในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์ เป็นภัยพิบัติครั้งที่รุนแรงที่สุด พื้นที่ป่า 36 ล้านไร่ วอดไปกับคลื่นเพลิง บ้านและอาคารสิ่งปลูกสร้าง 9,000 แห่ง ถูกเผา มีผู้เสียชีวิต 400 ราย

อุทกภัยในกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ส่งผลให้ประชากร 4 แสนคน ไร้ที่อยู่ มีผู้เสียชีวิต 66 ราย ความแรงของกระแสน้ำทำให้แผ่นดินถล่มและทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กลายเป็นกองขยะทั่วเมือง

การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกที่เมือง Wuhan เมื่อธันวาคม 2562 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง ต่อมา วันที่ 11 มกราคม 2563 รัฐบาลมีประกาศเป็นทางการพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคระบาดที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีผลต่อการวางมาตรการเพื่อความปลอดภัย เช่น มาตรการ New Normal รวมทั้งการค้นคว้าเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด

ภาพ: การระบาด  COVID-19 เพิ่มจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: https://www.instagram.com/p/CBZvHLrnpSS/  สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2565

ภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ 12 มกราคม 2563 ส่งผลต่อการย้ายที่อยู่ของประชากรราว 300,000 คน เพราะผลกระทบจากความร้อน ฝุ่น ภูเขาไฟดังกล่าวเคยระเบิดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 43 ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่ามีภัยพิบัติจากภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มาตรการป้องกันทำได้เพียงการเฝ้าระวังโดย Institute of Volcanology and Seismology มีมาตรการเฝ้าสังเกตภูเขาไฟ มากกว่า 2,000 ลูก ในจำนวนนี้มี 176 ลูก ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ภัยพิบัติจากภูเขาไฟระเบิด หลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย อิหร่าน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ตุรเคีย และประเทศต่างๆ ในหมู่เกาะแคริบเบียน ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพราะยังพบว่าภูเขาไฟบางแห่งมีแรงระเบิดมากกว่า 6 ริกเตอร์ โดยเฉพาะจาเมกาและรัสเซีย ยังต้องเฝ้าระวังภูเขาไฟที่ส่งแรงสะเทือนมากกว่า 7 ริกเตอร์

กองทัพตั๊กแตนทะเลทราย ที่ระบาดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก แอฟริกาตะวันออก เอเชียตะวันออกกลาง ฝูงแมลงเหล่านี้สามารถกินพืชพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แพร่พันธุ์เร็วเนื่องจากุภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นช่วยให้แมลงวางไข่และแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นสามารถแพร่พันธุ์ได้ 150 ล้านตัวในพื้นที่เพียง 1 ตารางกิโลเมตร แมลงเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน

ภาพ: ฝูงตั๊กแตนทะเลทราย
ที่มา:https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/95/Red-billed_quelea_flocking_at_waterhole.jpg สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2565

พายุไซโคลน Amphan ในปี 2563 มีความรุนแรงเทียบเท่าพายุเฮอริเคน เคยสร้างความเสียหายในอินเดียและบังกลาเทศ เมื่อพัดเข้าปะทะในพื้นที่ เกิดภาวะดินถล่ม พายุฝน ลมกรรโชก ฟ้าผ่า ภัยพิบัติครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 12 ราย

ไฟป่าที่รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย เป็นรัฐที่ยากจน มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง เมื่อปี 2563 เกิดไฟป่าเผาทำลายพื้นที่ป่าประมาณ 1,283 ไร่ กรมป่าไม้ของรัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อการฟื้นผืนป่าและต้องเริ่มโครงการทดลองใหม่ที่ถูกไฟป่าทำลาย

เหตุการณ์น้ำท่วมที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเขตชุ่มฝน เหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อปี 2563 มีผลกระทบต่อประชาชนรวม 128 หมู่บ้าน

ปรากฏการณ์หิมะสีเขียว (Green Snow) เมื่อพูดถึงทวีป แอนตาร์กติก (Antarctica) เราจะมีจินตนาการว่าเป็นดินแดนที่มีธารน้ำแข็งและหิมะขาวโพลนทั้งที่ราบและบนเทือกเขาสูง มีสัตว์สวยงาม เช่น นกเพนกวิน แมวน้ำ ผลจากภาวะโลกร้อนทำให้ทวีปนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น หิมะละลายและเพิ่มปริมาณน้ำจากธารน้ำแข็งไหลลงสู่ที่ต่ำมากกว่าปกติ นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อราสีเขียวเข้มกระจายอยู่ด้านบนของลานหิมะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและเป็นที่มาว่าทำไมทวีปแอนตาร์กติกไม่ ขาว ทั้งหมด

ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุที่ยากต่อการควบคุม  


อ้างอิง

  1. https://www.holidify.com/pages/natural-disasters-in-the-world-in-2020-4836.html สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2565

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โลกร้อน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th