The Prachakorn

วิกฤตโควิด-19 กับงบสวัสดิการสังคมที่หายไป


ณปภัช สัจนวกุล

30 กรกฎาคม 2564
337



ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 

ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่สาหัสและรุนแรงยิ่งกว่าการแพร่ระบาดในระลอกที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ (21 ก.ค. 2564) มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเกินหมื่นรายต่อวัน มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นวันละร่วมร้อยราย รวมแล้วประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตสะสมจากโควิด-19 มากถึง 3,500 ราย1 แม้ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยอาจดูไม่มากนักเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ แต่เราต้องไม่ลืมว่า ทุกการสูญเสียที่เกิดขึ้นล้วนหมายถึงชีวิตคน

วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยนับล้านคนต้องตกงาน ใครไม่เคยเป็นหนี้จำต้องตกอยู่ในสภาวะของการเป็นหนี้ บางคนกลับมีหนี้มากขึ้น มีหลายครอบครัวต้องล้มละลาย หลายกิจการต้องปิดตัวลง บางคนมีบ้านมีรถแต่ต้องปล่อยให้ธนาคารยึดไปเพราะไม่มีกำลังจะผ่อนชำระไหว เด็กจบใหม่หลายแสนคนไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้เข้าสู่ระบบการทำงาน มีเด็กนักเรียนอีกไม่น้อยที่ต้องหลุดจากระบบการศึกษาไปเพราะพ่อแม่ไม่มีกำลังพอจะจ่ายค่าเทอม ยังไม่ต้องพูดถึงวิกฤตความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม

หน้าที่รัฐกับการสร้างตาข่ายรองรับทางสังคม

วิกฤตครั้งนี้มีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งกว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 และบางทีวิกฤตครั้งนี้อาจมีผลสืบเนื่องไปอีกนานแม้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะสิ้นสุดลง ดังนั้น ในช่วงวิกฤตแบบนี้ คือช่วงเวลาที่รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงที่ต้องกางและขึง “ตาข่ายรองรับทางสังคม” (social safety net) ให้กว้างและแข็งแรงที่สุด เพื่อช่วยรองรับประชาชนที่ล้มจากวิกฤตโควิด-19 ให้ลุกขึ้นยืนเองได้เร็วที่สุด ซึ่งวิธีการที่ทำได้นั่นก็คือการสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่เพียงพอ รวดเร็ว และเป็นธรรม

งบสวัสดิการของประชาชนที่หายไป

หากลองดูร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะพบว่า งบประมาณประเทศในปี 2565 ถูกปรับลดลง 5.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีวงเงินอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท2 แต่คงเป็นเรื่องปกติในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ที่รัฐบาลไม่อาจเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้การจัดสรรงบฯ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ถูกปรับลดลงอย่างถ้วนหน้า

แต่หากจำแนกงบประมาณตามลักษณะงาน กลับพบว่า งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “ตาข่ายรองรับทางสังคม” ให้แก่ประชาชนในภาวะวิกฤตแบบนี้ กลับถูกปรับลดลงแทบทุกรายการ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม (ลดลง 47.1%) ด้านสังคมสงเคราะห์ (ลดลง 19.8%) และด้านสาธารณสุข (ลดลง 10.8%) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับลดลงของงบด้านการป้องกันประเทศ (ลดลง 4.9%) ทุกวันนี้ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่า ประเทศเรายังจำเป็นต้องทำสงครามกับใคร ถ้าจะมีอยู่ตอนนี้ก็เห็นจะเป็นแต่การทำสงครามกับเชื้อโรคที่ช่างยืดเยื้อจริงๆ ในรายละเอียด พบว่า งบสวัสดิการของประชาชนในปี 2565 ถูกปรับลดลงเมื่อเทียบกับงบปี 2564 จำนวนหลายรายการ เช่น งบการเคหะแห่งชาติ (ลดลง 53.2%) กองทุนการออมแห่งชาติ (ลดลง 50.5%) กองทุนประชารัฐสวัสดิการฯ (ลดลง 39.4%) กองทุนประกันสังคม (ลดลง 30.7%) รวมถึงงบบัตรทอง (ลดลง 1.3%)3 การตัดงบสวัสดิการของประชาชนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนกว่าค่อนประเทศกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เปราะบาง และต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากที่สุด

ตารางเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามลักษณะงาน (ปีงบประมาณ 2564-65) 

ลักษณะงาน ปีงบประมาณ ปีงบประมาณ 2565 เทียบกับ ปีงบประมาณ 2564
2564 2565
จำนวน ร้อยละ จำนวน ร้อยละ จำนวน ร้อยละ
การบริหารทั่วไป 1,148,817.5 35.0  1,120,424.3 36.1 -28,393.2 -12.60
การบริหารทั่วไปของรัฐ 736,591.5 22.4 733,030.8 23.6 -3,560.7 -0.50
การป้องกันประเทศ 210,203.3 6.4 199,820.7 6.4 -10,382.6 -4.90
การรักษาความสงบภายใน 202,022.7 6.2 187,572.8 6.1 -14,449.9 -7.20
การเศรษฐกิจ 669,622.6 20.4 691,452.5 22.3 21,829.9 3.30
การเศรษฐกิจ 669,622.6 20.4 691,452.5 22.3 21,829.9 3.30
การบริการชุมชนและสังคม 1,467,522.4 44.6  1,288,123.2 41.6 -179,399.2 -102.50
การสิ่งแวดล้อม 16,143.4 0.5 8,533.8 0.3 -7,609.6 -47.10
การเคหะและชุมชน 147,594.8 4.5 131,707.3 4.3 -15,887.5 -10.80
การสาธารณสุข 343,906.2 10.4 306,699.4 9.9 -37,206.8 -10.80
การศาสนา วัฒนธรรมและนันทนาการ 20,438.9 0.6  18,696.1 0.6 -1,742.8 -8.50
การศึกษา 482,764.5 14.7 456,240.1 14.7 -26,524.4 -5.50
การสังคมสงเคราะห์ 456,674.6 13.9 366,246.5 11.8 -90,428.1 -19.80
รวมทั้งสิ้น 3,285,962.5 100.0  3,100,000.0 100.0 -185,962.5 -111.80

ที่มา: สำนักงบประมาณ. (2564). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565.

แม้รัฐบาลอาจมองว่าสามารถนำงบที่ได้จากการกู้เงิน (รวมกว่า 2.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งแยกออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 และเพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับประชาชน รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เป็นการเฉพาะ แต่การปรับลดงบด้านสวัสดิการของประชาชนในสัดส่วนที่มากกว่างบประมาณส่วนอื่นๆ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบนี้ อาจลดทอนประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการสังคม และมีโอกาสส่งผลในทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ได้ก่อ รัฐบาลก็เช่นกัน แต่เมื่อวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการนำเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์มาใช้เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และดูแลชีวิตประชาชน รวมถึงพาประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ดังนี้แล้ว จึงขอชวนผู้อ่านมาร่วมกันตั้งคำถามไปด้วยกันว่า รัฐบาลได้ทำหน้าที่พื้นฐานเหล่านี้อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง


  1. WorkPointNews. (2564). ยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั้งหมดใน ประเทศไทย. https://covid19.workpointnews.com
  2. สำนักงบประมาณ. (2564). งบประมาณโดยสังเขป ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565. 
  3. สำนักงบประมาณ. (2564). ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565.
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Long COVID เจอ เจ็บ แต่ไม่จบ ?

สุริยาพร จันทร์เจริญ

สู้ต่อไป กับการ Work From Home

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th