The Prachakorn

ผลกระทบเชิงบวกของโควิด-19 ต่อคนทำงานและองค์กรในประเทศไทย


บุรเทพ โชคธนานุกูล

06 สิงหาคม 2564
870



ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจ บริการ และอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นจำนวนมากต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 องค์กรจำนวนมากจำเป็นต้องปิดกิจการ และอีกจำนวนไม่น้อยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจเพื่อหาหนทางอยู่รอด อาจกล่าวได้ว่า โควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อองค์กรและคนทำงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอว่า โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในรูปแบบใดและอย่างไรต่อคนทำงานและองค์กรในประเทศไทย

จากการสำรวจความสุขของคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ ปี 2563 (ตุลาคม พ.ศ. 2563–มีนาคม พ.ศ. 2564) ดำเนินงานโดยโครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร เพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ความสุขภาพรวมของคนทำงานในประเทศไทยอยู่ที่ 59.5 คะแนน และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าคะแนนความสุขภาพรวมของคนทำงานในปี 2562 พบว่า อยู่ในระดับคะแนนใกล้เคียงกัน คือ ปี 2562 อยู่ที่ 60.2 คะแนน เมื่อพิจารณาความสุขรายมิติในปี 2563 พบว่า 2 มิติความสุขที่มีค่าคะแนนสูงที่สุด ได้แก่ มิติจิตวิญญาณดี (Happy Soul) 67.4 คะแนน และมิติน้ำใจดี (Happy Heart) 64.5 คะแนน ซึ่งเป็นสองมิติที่มีค่าคะแนนความสุขสูงที่สุดเช่นเดียวกับผลการสำรวจในปี 2562 (ดังแผนภูมิ)

แผนภูมิ คะแนนความสุขของคนทำงานฯ ในมิติต่างๆ ปี 2563

ความน่าสนใจจากการสำรวจความสุขฯ ในปี 2563 คือ มีข้อคำถามในประเด็นผลกระทบต่อทุกมิติความสุขจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผลกระทบทางบวกและทางลบ โดยพบว่า ผลกระทบของโควิด-19 ต่อคนทำงานในองค์กรในมิติครอบครัวดี (Happy Family) และมิติน้ำใจดี (Happy Heart) เป็นสองมิติความสุขที่คนทำงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงบวกมากกว่าผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจน หมายถึง คนทำงานในองค์กรเห็นว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อมิติความสุขด้านครอบครัวดี และน้ำใจดี โดยในมิติครอบครัวดี ประกอบด้วยข้อคำถามในเรื่องการมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพียงพอการได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว และมีความสุขกับครอบครัว ส่วนมิติน้ำใจดี ประกอบด้วยข้อคำถามในเรื่องการมีความรู้สึกเอื้ออาทร ห่วงใย และให้ความช่วยเหลือคนรอบข้าง การทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

ผลกระทบเชิงบวกดังกล่าว อาจตีความได้ว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย องค์กรจำนวนมากปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้คนทำงานมีโอกาสได้อยู่บ้านมากขึ้น สามารถใช้เวลาร่วมกับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และได้ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวเพิ่มขึ้น สำหรับในด้านมิติน้ำใจดี ในช่วงสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือประสบปัญหา คนไทยมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และเต็มใจให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การบริจาคเงินและสิ่งของเครื่องใช้ การจัดทำตู้ปันสุข รวมถึงการบริจาคอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ผลกระทบเชิงบวกทั้งสองประการช่วยสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 สถาบันครอบครัวยังคงเป็นสถาบันหลักของสังคมไทยในการสร้างแรงใจให้กับคนทำงานเพื่อมีพลังต่อสู้กับวิกฤต รวมถึงความมีน้ำใจช่วยเหลือสังคมและเพื่อนมนุษย์ของคนไทยแสดงให้เห็นว่า เรายังเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ดังคำพูดที่ว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน” ทั้งสองมิติความสุขดังที่ได้กล่าวมา คือ ครอบครัวดีและน้ำใจดี จึงนับได้ว่าเป็นวัคซีนสำหรับคนทำงานและองค์กรในการต่อสู้กับผลกระทบจากโควิด-19 และเป็นแสงสว่างในยามมืดมิดให้กับประเทศไทย เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตในครั้งนี้



CONTRIBUTOR

Related Posts
60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

ซาลซ์บวร์ก (Salzburg) ช่วงโควิด

ขวัญชนก ใจซื่อกุล

มาวิ่งกันเถอะ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

ยูนิฟอร์มสร้างสุข

สุภาณี ปลื้มเจริญ

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

เมีย 2018 ณ เมียนมา

จรัมพร โห้ลำยอง

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ทำไมคุณพ่อต้องลาคลอด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th