The Prachakorn

HAPPIINOMETER: กฎ 8-8-8 บริหารเวลาได้ ก็สุขได้


สุภรต์ จรัสสิทธิ์

04 กรกฎาคม 2565
1,338



เมื่อการบริหารเวลาต้องสมดุลทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว รวมถึงการได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ ขณะที่เวลาทำงานโดยทั่วไปที่เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทยกำหนดไว้คือ จำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง หรือใน 1 วันทำงานได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง และงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือความปลอดภัยของลูกจ้างกำหนดให้ทำงานได้ไม่เกิน 42 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือใน 1 วันทำงานได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง เมื่อชีวิตการทำงานถูกนำไปใช้แล้ว 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย แล้วใน 16 ชั่วโมงที่เหลือของชีวิตใน 1 วัน เราจะจัดสรรเวลาได้อย่างไรบ้าง หากนำกฎแห่งการจัดสรรเวลา 8-8-8 ของโรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่กำหนดเวลาเป็น 3 ช่วงคือ 8 ชั่วโมงแรก เป็นเวลาแห่งการทำงาน 8 ชั่วโมงถัดไปคือเวลาของการใช้ชีวิตร่วมกับสังคม เพื่อน ครอบครัว รวมไปถึงการใช้เวลาไปเพื่อพัฒนาตนเอง และ 8 ชั่วโมงสุดท้ายคือ ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนนอนหลับ  

ผลสำรวจ HAPPINOMETER พบ 52% ของคนทำงานองค์กร ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

ข้อมูลจากการสำรวจความสุขคนทำงานองค์กรในประเทศไทย ประจำปี 2564 พบร้อยละ 52 ของผู้ตอบแบบสำรวจทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน การสำรวจนี้ใช้ HAPPINOMETER เครื่องมือสำรวจความสุขด้วยตนเอง พัฒนาโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่วัดความสุขใน 9 มิติ ได้แก่ สุขภาพกายดี (Happy body) ผ่อนคลายดี (Happy relax) น้ำใจดี (Happy heart) จิตวิญญาณดี (Happy soul) ครอบครัวดี (Happy family) สังคมดี (Happy society) ใฝ่รู้ดี (Happy brain) สุขภาพเงินดี (Happy money) และการงานดี (Happy work-life) จาก HAPPINOMETER ได้เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยความสุขในแต่ละมิติโดยใช้ค่าสถิติทดสอบ T-Test ของกลุ่มคนทำงานน้อยกว่าหรือเท่ากับ 8 ชั่วโมงต่อวัน และกลุ่มคนที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน พบความสุขในมิติน้ำใจดี (Happy heart) และ จิตวิญญาณดี (Happy soul) ที่ค่าความสุขของทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ทางสถิติ ขณะที่อีก 7 มิติค่าความสุขของคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันและกลุ่มคนทำงานน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มีระดับความสุขแตกต่างกัน เมื่อชั่วโมงทำงานมากกว่ากฎ 8-8-8 แล้วคนทำงานจะมีความสุขได้อยู่หรือไม่ ชั่วโมงทำงานต่อวันที่ยาวส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ และต้องแลกกับความสุขในมิติไหนที่จะหายไปบ้าง

หรือเพราะงานท้าทายและเห็นโอกาสเติบโตในงาน จึงมีคนทำงานที่เลือกจะอยู่กับงานนานขึ้นในแต่ละวัน

คนทำงานที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนทุ่มเทและใส่ใจในงานมาก อาจทำให้ใช้เวลาในการทำงานแต่ละวันเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ผลสำรวจ HAPPINOMETER ระบุว่าร้อยละ 31 ของคนที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันเห็นความชัดเจนและโอกาสที่จะได้เติบโตในหน้าที่การงานในระดับมากถึงมากที่สุด ขณะที่คนที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือน้อยกว่าเห็นโอกาสในการเติบโตในงานในระดับมากถึงมากที่สุดเพียงร้อยละ 29 และที่น่าสนใจคือมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนที่ทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันให้ความเห็นว่างานที่ทำอยู่มีความท้าทายในระดับมากถึงมากที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนทำงานใช้เวลาอยู่กับงานนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพราะในคนกลุ่มนี้ยังให้ความสนใจในการแสวงหาความรู้เพื่อตนเอง (ร้อยละ 60) และต้องการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน (ร้อยละ 74) มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือน้อยกว่า (สนใจในการแสวงหาความรู้ ร้อยละ 58 และต้องการพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้าในการงาน ร้อยละ 71) กฎ 8-8-8 อาจใช้ไม่ได้เสมอไปกับคนทำงานทุกคน คนที่ตั้งเป้าหมายด้านความก้าวหน้าในอาชีพการงาน คนที่มีบุคลิกชอบเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและการทำงาน อาจใช้เวลาไปกับการทำงานในแต่ละวันมากกว่า 8 ชั่วโมงก็เป็นได้

กฎ 8-8-8 สร้างสุขได้ครบทุกมิติ

บริหารเวลาได้ ก็สุขได้" เป็นประโยคท้าทายคนทำงานอย่างน่าสนใจ ผลสำรวจจาก HAPPINOMETER ระบุว่าเกือบ 1 ใน 10 ของคนที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า ได้ใช้เวลาที่เหลืออีก 8 ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อนที่ไม่นับรวมการนอนหลับ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎ 8-8-8 คนที่ใช้เวลาทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่ามีคะแนนความสุขใน 5 มิติ สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน มิติที่มีความสุขสูงกว่าได้แก่ สุขภาพกายดี (Happy body) ผ่อนคลายดี (Happy relax) ครอบครัวดี (Happy family) สังคมดี (Happy society) และสุขภาพเงินดี (Happy money) โดยเฉพาะในมิติผ่อนคลายดีที่สำรวจความเครียดของผู้ตอบแบบสำรวจพบคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันมีความรู้สึกเครียดมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า นอกจากนี้เพียง 2 ใน 5 ของคนทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้ใช้เวลาร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอย่างพอเพียง และมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เช่น การทานอาหารร่วมกัน ออกกำลังกายด้วยกัน เป็นต้น หากบริหารเวลาให้ใช้ไปกับการทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเป้าหมายด้านการทำงาน ช่วงเวลาที่เป็นส่วนของการใช้ชีวิตส่วนตัวและการพักผ่อนนอนหลับก็จะถูกเบียดให้ลดลง จนความสุขในมิติอื่นอาจจะลดลงได้

เราอาจจะ “สนุกกับงาน” จนลืมการใช้ชีวิตในมิติอื่น แน่นอนว่าความเอาใจใส่และทุ่มเทต่องานเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่องค์กรต้องการ ในขณะเดียวกันครอบครัว คนรอบข้าง สังคม เพื่อนบ้าน และแม้แต่ตัวของเราเองก็ต้องการความดูแล เอาใจใส่ ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการบริหารจัดการเวลา ให้ความสำคัญกับปัจจุบันและวางแผนให้กับอนาคต HAPPINOMETER: 8-8-8 บริหารเวลาได้ ก็สุขได้ เป็นแนวคิดการจัดสรรเวลาให้อยู่กับงาน ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม และสุดท้ายแบ่งเวลาให้กับการนอนหลับให้เพียงพอเพื่อให้ 24 ชั่วโมงใน 1 วันของเราทุกคนมีคุณค่า

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

70 ปี...NHS

ณปภัช สัจนวกุล

ABCDE ซอฟต์สกิลแห่งโลกยุคใหม่

สัมโมทิก สวิชญาน,ปกรณ์ ลี้สกุล

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

สมมุติฐาน

วรชัย ทองไทย

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

กายิกสุข

วรชัย ทองไทย

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th