เมื่อลูกชายวัยเจนวายย้ายออกไปอยู่ที่คอนโดเพื่อความสะดวกกับการเดินทางไปทำงาน แต่คอนโดไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ ผู้เขียนจึงได้รับมรดกจากลูกเป็นแมวสาวน้อยพันธุ์ Maine Coon นางหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา จากที่เคยตั้งใจว่าชีวิตนี้จะไม่มีสัตว์เลี้ยง ผู้เขียนก็กลายเป็นหนึ่งในชาวทาสแมวไปแล้วอย่างถอนตัวไม่ขึ้น :-)
ผู้เขียนรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นย่าที่กำลังเลี้ยงหลานเพื่อให้บรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ วัยทำงานได้ออกไปแสดงบทบาทในตลาดแรงงานโดยไม่ต้องกังวลใจว่าลูก ๆ จะอยู่กันอย่างไร ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเด็นวิจัยที่อยู่ในความสนใจของผู้เขียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่ไปทำงานต่างถิ่น โดยผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กแทนพ่อแม่ส่วนใหญ่คือปู่ย่าตายาย มากกว่าหนึ่งในห้าคนของเด็กไทยเติบโตขึ้นด้วยมือที่อุ้มชูไม่ใช่พ่อแม่1 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว แต่เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น นักวิจัยที่สนใจเรื่องนี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศมองความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ๆ ในหลายประเด็น ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพการเงิน และอื่น ๆ
บทความนี้ไม่ได้ต้องการตอบคำถามว่าเด็ก ๆ ที่เติบโตขึ้นห่างไกลจากพ่อแม่ที่ต้องไปทำงานที่อื่นนั้นมีความอยู่ดีมีสุขเหมือนหรือต่างกันกับเด็ก ๆ ที่พ่อแม่เป็นผู้เลี้ยงดู แต่อยากชวนผู้อ่านมาขบคิดด้วยกันถึงแง่มุมหนึ่งในหลาย ๆ มุมของความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ๆ คือ การฝึกและการสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็ก ๆ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่รับผิดชอบสังคมต่อไปในวันข้างหน้า ในสังคมบ้านเรา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลาย ๆ คน มีวิธีปฏิบัติในการดูแลเด็กตามแนวทางรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี ซึ่งสะท้อนการฝึกระเบียบวินัยเด็กด้วยวิธีการที่รุนแรง คือการใช้ความรุนแรงในนามของความรักและความปรารถนาดีที่มีต่อเด็ก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของผู้เขียนที่สัมภาษณ์ผู้ดูแลเด็กเล็กอายุไม่เกิน 3 ขวบ2 พบว่า ในเรื่องพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในการสร้างระเบียบวินัยให้กับเด็กเมื่อเด็กทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม3 ผู้ใหญ่ในบ้านใช้วิธีที่ไม่มีความรุนแรงมากที่สุด เช่น การอธิบายให้เด็กฟัง (ร้อยละ 92–98) หากิจกรรมอื่น ๆ ให้เด็กทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ (ร้อยละ 67–85) หรืองดเว้นสิทธิพิเศษบางอย่าง (ร้อยละ 58–65) แต่ขณะเดียวกัน งานวิจัยเรื่องนี้พบว่า การใช้ความรุนแรงทั้งด้วยวาจาและทางร่างกายในการฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็กก็มีมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ร้อยละ 80–88 ใช้ความรุนแรงทางวาจากับเด็ก เช่น ขึ้นเสียง เอ็ด ตวาด หรือตะคอกใส่เด็ก ขณะที่ประมาณหนึ่งในห้าใช้ถ้อยคำเรียกเด็กว่าโง่ ขี้เกียจหรือคำที่มีความหมายในทางลบอื่น ๆ การตีเด็กด้วยมือเปล่าก็พบในสัดส่วนที่สูงทีเดียว คือ ร้อยละ 73-87 และที่รุนแรงขึ้นไปมากกว่าการตีด้วยมือเปล่า คือการตีเด็กด้วยของแข็ง พบร้อยละ 14-29 โดยพบมากที่สุดในเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ ข้อค้นพบเหล่านี้ชี้ว่า การสร้างวินัยให้กับเด็กด้วยวิธีการรุนแรงไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือด้วยการตียังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ผลการวิจัยเรื่องนี้ยังพบว่า ผู้ดูแลของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทางกายในการลงโทษเด็กมากกว่าผู้ดูแลที่เด็กอยู่กับพ่อแม่4
อาจมีบางคนให้เหตุผลว่า การทำโทษเด็กด้วยการตีที่ทำเพื่อฝึกระเบียบวินัย ช่วยลดพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็ก และช่วยหยุดพฤติกรรมผิด ๆ ของเด็กได้อย่างรวดเร็ว แต่หากพิจารณาผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นแล้ว คงเป็นราคาที่ไม่มีใครอยากจ่าย การตีเด็กนอกจากจะเป็นการลงโทษที่ทำลายสัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีแล้ว5 หลักฐานจากงานวิจัย และความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กชี้ว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีนั้นมีผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก และอาจทำให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นคนก้าวร้าวและสมองช้า6 เด็กที่ถูกตีบ่อย ๆ ยังมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูง มีความพยายามฆ่าตัวตาย ดื่มแอลกอฮอล์ หรือติดยาเสพติดมากกว่าเด็กที่ไม่ถูกตี7 การทำโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงนอกจากจะไม่ได้สร้างพฤติกรรมดี ๆ แล้ว ยังอาจได้พฤติกรรมไม่พึงประสงค์มาแทน การถูกทำโทษด้วยการตีบ่อย ๆ อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนต่อต้าน และไม่เชื่อฟัง ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ ผสมด้วยคำพูดด่าทอดุว่า นอกจากทำให้เจ็บตัวแล้วยังทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจ ขณะที่ผู้ใหญ่อ้างว่าตีเพราะรัก เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะคิดว่า ผู้ใหญ่ตีเพราะไม่เข้าใจ และไม่รัก ต่อไปเด็กจะไม่มีความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ เด็กจะมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ และไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง และที่จะส่งผลต่อเนื่องต่อไปในอนาคตก็คือเด็กที่มีประสบการณ์ได้รับความรุนแรงจะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น หล่อหลอมให้มีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง8 และอาจถ่ายทอดต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่สิ้นสุด
การฝึกระเบียบวินัยเด็กให้ได้ผลดีไม่จำเป็นต้องใช้วิธีบังคับลงโทษให้เจ็บตัว หรือดุว่าให้เจ็บใจ9 การทำให้เด็กได้เรียนรู้ความผิดความถูกมีหลากหลายวิธีที่ดีกว่าการตี เช่น การปรับพฤติกรรม อย่างการตัดสิทธิ์ที่จะได้ทำในสิ่งชอบ หรือการให้ทำความดีชดเชย แทนความคิดว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กเสนอแนะให้เปลี่ยนเป็น รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด – สัมผัสที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลว่ามีคุณต่อการพัฒนาเซลล์ (cell) สมองของเด็กให้ทำงานได้ดีขึ้นตั้งแต่วัยทารก การกอดเป็นสัมผัสที่สร้างความรัก ความผูกพัน และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ความรักมากกว่าวิธีการใด ๆ
การใช้ความรุนแรงในการฝึกระเบียบวินัยให้กับเด็ก แทนที่จะสร้างเด็กคนหนึ่งให้เป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักแยกแยะผิดถูก และเป็นที่พึ่งของสังคมในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้า เราอาจจะได้ผู้ใหญ่ที่จิตใจและพฤติกรรมบิด ๆ เบี้ยว ๆ คนหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ
ก่อนจะได้เป็นย่าเลี้ยงหลานที่เป็นเด็กสักคนจริง ๆ แม้ว่ายังไม่เคย (แม้แต่จะคิด) ลงไม้ลงมือกับเจ้าเหมียวที่บ้านสักแปะถึงเจ้าตัวดีจะเล่นซุกซนจนบ้านแทบจะไม่เป็นบ้านอยู่แล้ว ผู้เขียนก็ตั้งใจว่าต่อไปจะมีเจ้าแมวน้อยในอ้อมกอดให้บ่อยขึ้นกว่าที่เคย สำหรับเด็กน้อยที่วันนี้ยังต้องพึ่งพาผู้ใหญ่นำพาชีวิต ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีโอกาสได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่หรือไม่ หรือจะมีใครเป็นผู้ดูแล จนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งพาตัวเองได้ เขาหรือเธอต้องมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแล เลี้ยงดู และการปกป้องที่ปราศจากความรุนแรง ไม่ว่าจะทำในนามของความรักและความปรารถนาดี หรืออื่นใดก็ตาม
ภาพโดย ผู้เขียน
ภาพโดย ผู้เขียน
ภาพโดย ผู้เขียน
ภาพโดย: พอตา บุนยตีรณะ
1 National Statistical Office, Multiple Indicator Cluster Survey 2015-2016, NSO, Bangkok, 2016 https://www.unicef.org/thailand/sites/unicef.org.thailand/files/2018-06/Thailand_MICS_Full_Report_EN_0.pdf
2 อารี จำปากลาย และคณะ. 2559. ผลกระทบของการย้ายถิ่นภายในประเทศที่มีต่อสุขภาวะและพัฒนาการเด็กปฐมวัย: ผลการสำรวจเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/ipsrbeta/FileUpload/PDF/Report-File-533.pdf
3 ถามพฤติกรรมในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ
4 ถามความเห็นต่อคำกล่าวที่ว่า ‘การทำโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการอบรมสั่งสอนเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม’
5 https://www.thaihealth.or.th
6 https://www.babybbb.com
7 https://th.theasianparent.com
8 http://www.friendforkids.com/news/detail/178
9 http://www.mamaexpert.com/posts/content-902
นิธิพัฒน์ ประสาทกุล
รศรินทร์ เกรย์
กาญจนา เทียนลาย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
อมรา สุนทรธาดา
กัญญา อภิพรชัยสกุล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
วรชัย ทองไทย
นงเยาว์ บุญเจริญ
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต,สุภรต์ จรัสสิทธิ์
สุชาดา ทวีสิทธิ์
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปรียา พลอยระย้า
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
สุภาณี ปลื้มเจริญ
อมรา สุนทรธาดา
วรชัย ทองไทย
ชิษณุพงษ์ สรรพา
อมรา สุนทรธาดา
ชิษณุพงษ์ สรรพา
อมรา สุนทรธาดา
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กัญญาพัชร สุทธิเกษม