The Prachakorn

โรคระบาดและการเกิด: ไข้หวัดสเปนถึงโควิด-19


รศรินทร์ เกรย์

08 พฤศจิกายน 2564
642



ผลกระทบของโควิด-19 ต่อประชากรในทางประชากรศาสตร์ เกี่ยวข้องกับภาวะการตายโดยตรง มีการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นจากโควิด-19 เป็นรายวัน แต่ผลกระทบทางประชากรศาสตร์อื่น ๆ เช่น การเกิดที่ลดลง มีการพูดถึงไม่มากนัก1,2  ซึ่งการเกิดที่ลดลงอย่างมากนี้เป็นปัจจัยเร่งให้อัตราการสูงอายุเพิ่มเร็วขึ้น

จากประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกคือ ไข้หวัดใหญ่ หรือที่เรียกว่า ไข้หวัดสเปน (Spanish flu) ใน ค.ศ.1918-1920 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก และสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) พบว่าใน ค.ศ.1918-1919 อัตราเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลดลงไปร้อยละ 13 ซึ่งเป็นผลมาจาก การตายและเจ็บป่วยของประชากรในวัยเจริญพันธุ์ การตายของแม่และการตายคลอด (stillbirth) การเลื่อนตั้งครรภ์ออกไปเนื่องจากความกลัวโรคระบาด หลังจากนั้นในปี 1920 มีการเกิดเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า เบบี้บูม (baby boom) แต่ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นผลมาจากการหยุดระบาดของไข้หวัดใหญ่ หรือการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือทั้งสองเหตุการณ์ร่วมกัน การสิ้นสุดของโรคระบาด ทำให้คู่รักเร่งรีบแต่งงาน และมีลูกหลายคน เผื่อจำนวนไว้จากประสบการณ์การตายที่สูง (insurance effect)  หรือมีลูกเพื่อทดแทนลูกที่ตายไป (replacement effect) การสิ้นสุดของสงครามทำให้คู่สามีภรรยากลับมาอยู่ร่วมกัน การแต่งงานของคู่รัก การแต่งงานใหม่ของผู้ที่เป็นหม้ายจากสงคราม หรือการมีบุตรที่ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากสงคราม

An emergency hospital at Camp Funston, Kansas, 1918.
ภาพจาก National Museum of Health and Medicine
https://www.smithsonianmag.com/history/journal-plague-year-180965222/
สืบค้น วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564

รูปแบบการเกิดที่ลดลงอย่างมากในช่วงวิกฤติไข้หวัดใหญ่ และกลับมาสูงขึ้นหลังวิกฤติ จะเหมือนกับรูปแบบการเกิดจากผลกระทบของโควิด-19 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากความเหมือนหรือความแตกต่างของการระบาดโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว อัตราการตายของไข้หวัดใหญ่สูงในกลุ่มอายุ 20-40 ปี แต่การตายจากโควิด -19 เกิดกับผู้สูงอายุ และกลุ่มโรคเรื้อรัง การตายในวัยเด็กมีน้อย ดังนั้นการมีลูกเพื่อทดแทนลูกที่ตายไป ตามทฤษฎีทางประชากรจึงไม่น่าจะใช้อธิบายได้

ภาพมุมสูงของสุสาน Parque Taruma ในเมืองมาเนาส์ ในรัฐอามาโซนัส ประเทศบราซิล
ภาพจาก MICHAEL DANTAS / AFP

ผลกระทบจาการมาตรการปิดเมือง (lockdown) ทำให้ความต้องการมีลูกลดลงหรือเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไป เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing)  ภาระจากการเลี้ยงดูลูกเพิ่มขึ้น โรงเรียนต้องปิด ใช้การเรียนแบบออนไลน์  สถานรับเลี้ยงดูเด็กที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ประเทศรายได้สูงหลายประเทศ มีระดับภาวะเจริญพันธุ์ไม่ต่ำจนเกินไปนัก ต้องปิดไปด้วย และการปิดคลินิกช่วยการตั้งครรภ์ ที่ใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ (Artificial Reproductive Technology -ART)

จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าอุปสงค์และอุปทานของเครื่องมือตรวจการตกไข่และการตั้งท้อง ลดลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 นอกจากนี้การสำรวจผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงในประเทศอิตาลี พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่วางแผนไม่ตั้งครรภ์ในช่วงวิกฤติโควิด-19

ภาพจาก Freepik.com

การปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้เลื่อนการลงทุนระยะยาวออกไป ในทางเศรษฐศาสตร์ ถือว่าการมีลูกเป็นการลงทุนระยะยาวแบบหนึ่ง ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ทำให้การเกิดลดลงอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงบริการคุมกำเนิดอาจยากลำบากขึ้น จากมาตรการปิดเมือง อาจทำให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่ตั้งใจ เช่น ผลกระทบจากโรคระบาดอีโบลา ในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกใน ค.ศ. 1914-1916 อาจมีเด็กจำนวนมากเกิดโดยไม่ได้ตั้งใจ

กล่าวโดยสรุปคือ การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ คาดหมายว่าในภาพรวมระยะสั้น การเกิดจะลดลงอย่างมากในช่วงการระบาด ภายหลังการระบาด เมื่อยกเลิกมาตรการปิดเมืองจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ในประเทศที่มีรายได้สูงภาวะเจริญพันธุ์น่าจะกลับมาเท่ากับก่อนการเกิดโควิด-19 (การกลับมาเปิดสถานเลี้ยงเด็ก เป็นปัจจัยหนึ่ง) สำหรับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง คาดหมายว่าการลดลงของการเกิดที่พบกันอยู่โดยทั่วไป และลดลงไปอีกอย่างมากในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็คงยากที่จะกลับมาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเกิดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เนื่องจากความแตกต่างทางสถานภาพด้านเศรษฐกิจและสังคม ความรุนแรงของโรค การเจ็บป่วยและการตายจากโรคระบาด สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และมีจำนวนการเกิดที่ลดลงลงอยู่แล้ว ก็คงต้องรอติดตามสถิติการเกิดต่อไปว่าผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการเกิด จะเป็นเช่นไร


อ้างอิง

  1. Aassve, A., Cavalli, N., Mencarini, L. & Livi Bacci6, M. (2020). The COVID-19 pandemic and human fertility, Science, 369 (6502).
  2. Ullah, MA., Moin, AT., Araf, Y., Bhuiyan, AR., Griffiths, MD. & Gozal, D. (2020). Potential effects of the COVID-19 pandemic on future birth rate, Frontiers in Public Health, 8 (578438).

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

กลับบ้าน...ไม่ถึงบ้าน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หาว

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th