“วันเวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน” เป็นข้อความและความคิดที่ผมวนเวียนเขียนและคิดซ้ำอยู่บ่อยๆ ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ อาจเป็นเพราะผมมีอายุมากขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” แล้วก็ได้ ที่ทำให้รู้สึกว่ากาลเวลาล่วงไปรวดเร็วมาก ประเดี๋ยววัน ประเดี๋ยวเดือน ประเดี๋ยวปี อีกไม่กี่ปีข้างหน้าผมก็จะเป็น “ผู้สูงอายุวัยปลาย” แล้ว ถ้าผมยังมีเวรกรรมที่จะต้องชดใช้ไปจนถึงอายุ 100 ปี จนเป็น “ศตวรรษิกชน” ผมก็จะมีเวลาเหลืออยู่อีกไม่ถึงหมื่นวันเท่านั้น
ผมเข้าใจว่าเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันมีความรู้สึกเกี่ยวกับความเร็วของกาลเวลาเช่นเดียวกับผม พวกเราคุยกันถึงเรื่องความตายบ่อยครั้งขึ้น ไม่มีใครปฏิเสธความตาย และทุกคนตระหนักดีว่าถ้าเวลาผ่านไปเร็วอย่างนี้ อีกไม่นานเลยที่พวกเราทุกคนจะลาจากโลกนี้ไป
รศ.ดร.ชาย โพธิสิตา ราชบัณฑิต ได้อธิบายให้ผมฟังว่า “พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจธรรมหรือเป็นกฎธรรมดาของ สังขารทั้งหลาย ซึ่งหมายถึงทุกสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง สังขาร รวมสิ่งมีชีวิต (มนุษย์ สัตว์ พืช) และสิ่งไม่มีชีวิตที่ประกอบสร้างขึ้นจากปัจจัยต่างๆ กฎธรรมดาของสังขารคือการเกิดขึ้น เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลาเพราะพยาธิสภาพ และในที่สุดก็เสื่อมสลายไป นั่นคือสิ่งที่เราเรียกสั้นๆ ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย”
ขอย้อนกลับมาพูดเรื่อง “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ที่เป็นประเด็นพูดกันในหมู่เพื่อน พวกเรา “เกิด” มาแล้วก็เจริญวัย หรือ “แก่” ขึ้น จนมีอายุเข้าเขต “ปัจฉิมวัย” ในวันนี้ ระหว่างเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาพวกเราทุกคนได้ผ่านประสบการณ์การ “เจ็บป่วย” กันมาบ้าง แต่ก็รอดชีวิตมาได้จนถึงวันนี้ สิ่งที่พวกเราพูดถึงกันบ่อยๆ นอกจากเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว ก็เป็นการเจ็บและ “ตาย” ในวันข้างหน้า
การตายเป็นกฎธรรมชาติที่ชีวิตของเราจะดับสูญไปเมื่อวันใดวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ ส่วนที่ว่าตายแล้วไปไหน จะเกิดใหม่ในชาติหน้า จะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องสำคัญที่พวกเราหลายคนเป็นกังวลคือ การเจ็บก่อนที่จะตายจากโลกนี้ไป
เท่าที่ผมได้คุยกับคนหลายคน ทั้งที่เป็นญาติสนิทมิตรสหายและคนอื่นๆ ได้ความพอที่จะสรุปได้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่กลัวความตายทุกคนรู้ดีว่าความตายเป็นกฎธรรมชาติ สิ่งที่หลายคนกังวลคือความเจ็บหรือพยาธิสภาพในช่วงสุดท้ายของชีวิต เกือบทุกคนอยากจากโลกนี้ไปอย่างสงบ ไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน การตายในอุดมคติของหลายคน (รวมทั้งตัวผมด้วย) คือ การนอนหลับแล้วลาจากโลกนี้ไป
เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว เพื่อนเก่าที่เรียนมัธยมฯ มาด้วยกันคนหนึ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ก่อนตายเขาบอกลูกๆ ว่า “ไม่ต้องห่วงพ่อ ให้คิดว่าพ่อกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศนะลูก” เพื่อนจากไปอย่างมีสติด้วยอาการสงบ
ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ (ระหว่างปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคม 2565) ผมได้ไปร่วมงานพิธีสวดพระอภิธรรมและฌาปนกิจศพถึง 4 งาน ผู้จากไปทั้ง 4 ท่าน เป็นผู้สูงอายุ ในจำนวนนี้เป็นหญิง 3 ท่าน ที่มีอายุ 94 ปี 91 ปี และ 87 ปี ทั้ง 3 ท่านนี้เป็นโรคอัลไซเมอร์และต้องอยู่ในสภาพติดเตียงเป็นเวลาหลายปี ท่านทั้งสามมีบุญที่มีลูกทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วยจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ
อีกรายหนึ่งเป็นเพื่อนผู้ชายที่เรียนมหาวิทยาลัยรุ่นเดียวกัน อายุ 75 ปี เพิ่งจากไปเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วมานี้เอง เพื่อนเป็นมะเร็ง ต้องเข้าไปอยู่เนอร์สซิ่งโฮมเพื่อรับบริการการดูแลแบบประคับประคอง แต่ท้ายที่สุดเพื่อนติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตในเวลาไม่กี่วันหลังติดเชื้อ การเผาร่างของผู้ตายด้วยโควิดต้องทำโดยเร็วที่สุด (เผาภายในวันเดียวกับวันที่เสียชีวิต)
ถ้าให้เลือกได้ คนทั่วไปคงเลือกที่จะเป็น “ผู้มีสุขภาพดีและมีพลัง” ไปจนนาทีสุดท้ายของชีวิต ในช่วงเวลาก่อนจากไปคงไม่มีใครอยากนอนติดเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้ทั้งการกิน การขับถ่ายการอาบน้ำชำระร่างกาย และการเคลื่อนไหว ผมเชื่อว่าทุกคน ถ้ายังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คงต้องการให้ช่วงเวลาที่ช่วยตัวเองไม่ได้ก่อนหมดลมหายใจนี้สั้นที่สุด แต่ในความเป็นจริง หลายคนต้องตกอยู่ในภาวะที่จะตายก็ตายไม่ได้ จะอยู่ก็อยู่อย่างลำ.บากเป็นระยะเวลานานนับปีหรือหลายปี
การมีชีวิตอยู่ในช่วงสุดท้ายในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ จำเป็นที่ต้องมีผู้ดูแล การดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิตย่อมมีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างผู้ดูแล ค่าสุขภัณฑ์ อาหาร และเวชภัณฑ์ต่างๆ สำหรับข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุมานานตั้งแต่ 20-30 ปีมาแล้ว เงินบำนาญตามอัตราเดิมอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายตามค่าของเงินในปัจจุบัน ถ้าใครไม่มีทรัพย์สินที่สะสมไว้มากเพียงพอหรือไม่มีลูกหลานที่จะช่วยรับภาระค่าใช้จ่าย ชีวิตในบั้นปลายของคนผู้นั้นก็น่าจะลำบากไม่น้อย
ผมคงจะจบบทความนี้โดยไม่พูดถึงเรื่อง “กัญชา” ไม่ได้
กัญชาที่เป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนในสังคมไทยทุกวันนี้ ทำให้ผมคิดถึงความหลัง ผมเคยมีเพื่อนที่นิยมสูบกัญชา ผมเคยทดลองสูบด้วยตัวเอง เคยฟังเรื่องราวของผู้มีประสบการณ์ติดกัญชา
เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ผมได้ฟังเพลงที่เปิดจากแผ่นเสียงในงานวัดหรือรถขายยา ผมจำเสียงของ คำรณ สัมบุญณานนท์ ได้ติดหู
อีกเพลงนะครับ จำได้ว่าชื่อเพลง “บ้องกัญชา” ขับร้องโดย กาเหว่า เสียงทอง
เพลงแรกบอกว่าสูบกัญชาแล้วจะเกิดอาการหลอน ส่วนเพลงหลังบอกว่าสมัยก่อนนั้นสูบกัญชาผิดกฎหมาย สำหรับผมไม่ขอสูบและไม่ขอกินอาหารและเครื่องดื่มที่ปรุงด้วยใบกัญชานะครับ
ภาพวาดโดย: นิธิพัฒน์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา
วรชัย ทองไทย
ประทีป นัยนา
สุพัตรา ฌานประภัสร์
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา