ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ และกลายเป็น “เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา (Out of School Children and Youth: OOSCY)” และถูกจำกัดโอกาสหลายอย่างในชีวิต เช่น โอกาสในการทำงาน อาชีพ รายได้ ฯลฯ
การศึกษาจากข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า พ.ศ. 2562 มีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษาจำนวนถึง 11.7 ล้านคน ซึ่งเป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในช่วงอายุ 3-17 ปี จำนวน 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.1 (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, 2564) คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนถึง 65,000 คน อันเนื่องมากจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า-19 (สยามรัฐ, 2564) จึงเกิดคำถามว่า จะดูแลเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเหล่านี้อย่างไร
“น้องฟูกยุบ” เป็นกรณีตัวอย่างของเด็กอายุ 15 ปี ที่อาศัยอยู่กับตาและยายประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน แม้น้องจะเป็นเด็กเรียนดี แต่ต้องหยุดเรียนหลังจากที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เนื่องจากบ้านอยู่ไกล การเดินทางยากลำบากทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ตายายเป็นห่วงความปลอดภัยของหลานสาวมากจึงไม่อนุญาตให้ไปเรียน น้องจึงอยู่แต่ในบ้าน นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ จนฟูกที่นอนยุบ
ปัญหาที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่อยู่ในระบบการศึกษานั้นมีความซับซ้อน ทั้งปัญหาที่เกิดจากตัวเด็กเองและปัญหาที่เกิดจากครอบครัวจนทำให้เด็กไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ เมื่อการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งโดยตรงและตัวเด็กอาศัยอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น “พื้นที่” (ซึ่งพื้นที่ในที่นี้หมายถึงระดับจังหวัด) จึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหานี้ เมื่อพ.ศ. 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำงานร่วมกับ 20 จังหวัดนำร่อง1 เพื่อดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ใช้พื้นที่เป็นฐานปฏิบัติการทดลองทำงานเพื่อดูแลกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา
ที่มา: https://research.eef.or.th/?s=ABE+NEWS
ระบบการดูแลแบบรายกรณีระดับพื้นที่ หรือที่เรียกว่า Area-Based Case Management System นี้ถูกนำมาเป็นกระบวนทำงานที่จะพัฒนาระบบประกบตัวเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาแต่ละคนจนกว่าจะสามารถไปต่อในชีวิตได้ โดยเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิด 2 แนวคิด คือ การจัดการเชิงพื้นที่ (Area-Based Approach) และการจัดการรายกรณี (Case Management System : CMS) ที่เหมาะจะนำมาใช้ทำงานกับกลุ่มที่มีปัญหาซับซ้อนและจำเป็นต้องได้รับบริการที่หลากหลายและครอบคลุมในหลายมิติของชีวิต
การดูแลรายกรณีระดับพื้นที่เพื่อดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็นการพัฒนาระบบและกลไกการทำงานของพื้นที่ผ่านกลไก 3 กลไก ได้แก่
กลไกทั้ง 3 กลไกนี้จะต้องทำงานสอดรับกัน กล่าวคือ ถ้าเป็นการทำงานระดับจังหวัด แกนนำระดับจังหวัดควรจะเป็นเลขฯของคณะกรรมการ CMS ระดับจังหวัด แกนนำระดับอำเภอควรเป็นเลขาฯคณะกรรมการ CMS ระดับอำเภอ และแกนนำระดับตำบล ควรเป็นเลขาฯของคณะกรรมการ CMS ระดับตำบล
นอกจากนี้หัวใจสำคัญของการดูแลรายกรณีระดับพื้นที่คือ ต้องมีแผนการดูแล ซึ่งจะเชื่อมโยงปัญหาและความต้องการเข้ากับทรัพยากรที่มีในพื้นที่ โดย CM จะเป็นผู้ร่างแผนการดูแลขึ้นมา เนื่องจาก CM คือผู้ที่ได้พบและคุยกับเด็กและครอบครัว รวมถึง ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ จึงน่าจะเป็นผู้ที่รู้ว่าเด็ก/เยาวชนกลุ่มเป้าหมายควรได้รับการดูแลในเรื่องใดบ้าง
กรณีตัวอย่าง “น้องฟูกยุบ” มี CM ที่เป็นคุณครู กศน.ท่านหนึ่งในจังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้สำรวจพบว่า น้องเป็นเด็กเรียนดีและที่สำคัญน้องยังมีฝันที่อยากจะเป็นหมอ เมื่อคุณครู กศน.ทราบปัญหาและความต้องการของน้องเช่นนี้ ในแผนการดูแล จึงเป็นการส่งกลับเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 12 จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อให้น้องได้ทำตามความฝัน อย่างไรก็ตาม คุณครู กศน.ต้องเวียนมาทำความเข้าใจและสร้างความมั่นใจให้กับคุณตาคุณยายที่รักและห่วงหลานอยู่หลายรอบ รวมถึงต้องให้ทีมคณะกรรมการ CMS ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่มาพูดคุยกับตายายถึงการเรียนที่ราชประชานุเคราะห์ 12 ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ และค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากจนครอบครัวรับภาระไม่ได้ จนในที่สุดตากับยายจึงยอมให้หลานไปเรียน ผลการทดสอบความรู้ก่อนเข้าเรียนพบว่าน้องมีความรู้พื้นฐานดี แต่จากการที่หยุดเรียนไปถึง 3 ปี ทำให้ในแผนการดูแลต้องเตรียมความพร้อมทางวิชาการด้วยการสอนเสริม วันที่น้องได้เข้าเรียน ครู กศน.บอกว่าปลื้มใจ เหมือนได้มาส่งลูกตัวเองเข้าเรียน ฝันของเด็กคนหนึ่งจะไปต่อไม่ได้หากขาดข้อต่อที่จะมาช่วยแก้ปัญหาและเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่มีทรัพยากร ทั้งข้อต่อที่เป็น CM ซึ่งมีความเพียรไปคุยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตายาย และข้อต่อที่เป็นคณะกรรมการ CMS ที่ช่วยประสานส่งต่อให้เด็กได้กลับเข้าระบบการศึกษา กลไกเหล่านี้ยังช่วยประคับประคองให้ฝันที่จะเป็นหมอของน้องฟูกยุบให้ยังคงอยู่ต่อไป
ภาพ ตัวอย่างความเห็นจากน้องที่ได้รับโอกาสเพื่อการศึกษาผ่านระบบการดูแลแบบรายกรณีระดับพื้นที่
(ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่จากนักวิจัย)
กรณีที่ยกตัวอย่างข้างต้นนี้ เป็นเพียงหนึ่งในเด็กนอกระบบการศึกษาที่ทางโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ ได้ทดลองใช้ระบบการดูแลรายกรณีระดับพื้นที่ของ 20 จังหวัดนำร่อง ในปีที่ 1 โครงการฯ สามารถดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา อายุระหว่าง 2-21 ปี จำนวน 4,659 คน (สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สไลด์นำเสนอ, 9 ธันวาคม 2563) ให้สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา (อาจจะเป็นการศึกษาในระบบหรือศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) หรือได้รับการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำงานด้วยระบบการดูแลรายกรณีระดับพื้นที่นี้จะทำให้เกิดต้นแบบการทำงานเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของพื้นที่ต่อไป และหากสนใจในกระบวนการทำงานด้วยระบบ CMS นี้สามารถเข้าไปติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://m.facebook.com/eff20provinces/
อ้างอิง
กัญญา อภิพรชัยสกุล
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง
กัญญา อภิพรชัยสกุล
นันท์สินี ศิริโกสุม,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
มนสิการ กาญจนะจิตรา
พิมลพรรณ นิตย์นรา
ประทีป นัยนา
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
ปรียา พลอยระย้า
สุพัตรา สำอางค์ศรี
กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์