The Prachakorn

ระบบติดตามการตลาดของสินค้าบริโภคที่มีผลต่อสุขภาพ: การดำเนินงานของประเทศไทย (ตอนที่ 2)


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

09 กันยายน 2565
1,044



“บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาระบบการติดตามการตลาดอาหาร สินค้าทดแทนนมแม่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ในประเทศไทย อันนำไปสู่การมีข้อมูลที่ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ของประเทศไทยต่อไป”

การตลาดอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง สินค้าทดแทนนมแม่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ มีผลต่อทัศนคติ1 และพฤติกรรมการซื้อ2,3 และการบริโภค2,4-6 ของผู้บริโภค หนึ่งในมาตรการป้องกันปัญหาและผลกระทบจากการทำการตลาดสินค้าที่มีผลเสียต่อสุขภาพ คือ กฎหมายหรือมาตรการในการควบคุมการตลาด7 ประเทศไทยมีกฎหมายในการควบคุมการตลาดอาหาร8-10 สินค้าทดแทนนมแม่11 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์12 และยาสูบ13 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ที่มีบทบาทและหน้าที่ในการติดตามการทำการตลาดของสินค้าทั้ง 4 ประเภท เนื่องจากประเทศไทยมีร่างกฎหมายควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ14 ดังนั้น การมีความรู้และความเข้าใจระบบการติดตามการตลาดอาหาร สินค้าทดแทนนมแม่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ต่อไป

จากการทบทวนวรรณกรรมด้วยการสืบค้นข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งการสัมภาษณ์ตัวแทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย วิชาการ และประชาสังคม พบว่า ระบบติดตามการตลาดของสินค้าทั้ง 4 ประเภท มีหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและกระจายอำนาจให้แก่หน่วยงานในระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ ระบบติดตามการตลาดอาหารมี
การดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย (รูปที่ 1)


รูปที่ 1 ระบบติดตามการตลาดของสินค้าทั้ง 4 ประเภทของประเทศไทย15

ระบบการติดตามภายในของอาหารมีหน่วยงานภาครัฐ จากส่วนกลาง ได้แก่ สำนักอาหารและคณะกรรมการเซ็นเซอร์ช่อง ตรวจสอบโฆษณาอาหารก่อนออกเผยแพร่ ซึ่งการตรวจสอบก่อนทำให้มั่นใจได้ว่า โฆษณาที่ได้รับการตรวจสอบนั้นจะโฆษณาได้ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง16 ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ติดตามตรวจสอบการโฆษณาและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การละเมิดกฎหมายอาหารที่เกี่ยวข้องในสื่อต่างๆ16 และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำ MOU กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อช่วยติดตามโฆษณาอาหารทางวิทยุและโทรทัศน์ หากพบการโฆษณาอาหารผิดกฎหมายผ่านเว็บไซต์ อย. ประสานศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ในการสั่งปิดเว็บไซต์ที่โฆษณาอาหารผิดกฎหมาย17,18 ในส่วนท้องถิ่น กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคของ สสจ. (คบ. สสจ.) ติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตและการบริการ การโฆษณา รวมถึงการจำหน่ายอาหารตามที่กฎหมายกำหนด ระบบรับเรื่องร้องเรียนของอาหาร มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ศรป. และภาคประชาสังคม คือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการจัดการเรื่องร้องเรียน16


ที่มา: https://www.delta-n.nl/succesvoller-in-devops-door-monitoring/

ระบบการติดตามภายในของสินค้าทดแทนนมแม่ คือ กลุ่มพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก กรมอนามัย โดยส่วนกลาง มีเจ้าหน้าที่ในการติดตาม ได้แก่ ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สาธารณสุขนิเทศก์ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่สังกัดกรมอนามัย ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่สังกัด อย. ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่สังกัดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่สังกัดกรุงเทพมหานคร16 ในส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สนอ.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการตลาดทุก 3 เดือน ใน (1) ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านขายส่ง ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา (2) หน่วยบริการสาธารณสุข (3) หน่วยบริการสาธารณสุขที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และ (4) ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน สถานที่รับเลี้ยงเด็ก หากพบการกระทำผิด ถ่ายรูป และส่งศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข ให้คณะทำงานชี้มูลตรวจสอบ หากกระทำผิดเปรียบเทียบปรับ19 ระบบรับเรื่องร้องเรียนของสินค้าทดแทนนมแม่มีกลไกสำหรับภาคประชาสังคม เช่น มิสนมแม่ ติดตาม เมื่อพบการกระทำที่สงสัยว่าจะเป็นความผิด ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน แล้วเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ส่งให้คณะทำงานชี้มูล เพื่อพิจารณาการกระทำความผิด

ระบบการติดตามภายในของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ มีทั้งภาครัฐและภาควิชาการทำหน้าที่ติดตามการตลาด โดยระบบการติดตามการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) ติดตามการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดตามสื่อและช่องทางต่า งๆ และภาควิชาการ ได้แก่ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) แผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนทุนให้แก่นักวิชาการ เพื่อศึกษาติดตามการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดที่นอกเหนือกฎหมายควบคุม12,16 ในขณะที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ และศูนย์กฎหมายของกรมควบคุมโรค มีหน้าที่ติดตามสื่อต่างๆ เน้นตามข้อกำหนดกฎหมาย และภาควิชาการ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สำรวจการตลาดและการโฆษณายาสูบทุกปี16 และให้ทุนสนับสนุนนักวิชาการจัดอบรมให้ความรู้แก่ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจในการติดตามเฝ้าระวังการตลาดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์20 ภาคประชาสังคม ได้แก่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ติดตามฯ ข่าวของอุตสาหกรรมยาสูบ และการติดตามทางสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ต ทั้งเป็นประจำและแบบบังเอิญพบเห็นที่เว็บไซต์ของผู้ผลิตบุหรี่ แล้วออกรายงานประจำเดือน16 ส่วนท้องถิ่น ทั้งระบบการติดตามการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบมีคณะกรรมการควบคุมระดับจังหวัด และศูนย์กฎหมายของกรมควบคุมโรค มีเครือข่ายติดตามฯ ในระดับพื้นที่ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Alcohol and Tobacco Control Operation Unit: ATCU) หรือ ทีม ATCU เป็นการบูรณาการการดำเนินงานเรื่องร้องเรียนร่วมกันระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งประกอบไปด้วย ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่สรรพสามิต พนักงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเครือข่ายภาคประชาชน ลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และบังคับใช้กฎหมาย

ระบบรับเรื่องร้องเรียนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ มีระบบรับเรื่องร้องเรียนของกรมควบคุมโรค ได้แก่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่สุราและระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ชื่อว่า Tobacco & Alcohol Surveillance หรือ TAS เพื่อติดตามการตลาด ซึ่งเป็นการบูรณาการระบบการติดตามการตลาดร่วมกันระหว่าง สคอ. และศูนย์กฎหมายของกรมควบคุมโรค เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งเรื่องดังกล่าวให้แก่ สคอ. หากเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับยาสูบจะส่งเรื่องให้แก่ศูนย์กฎหมายของกรมควบคุมโรค เพื่อตรวจสอบและบังคับใช้ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป16 ในส่วนภาคประชาสังคม ประกอบด้วย ทีม Alcohol Watch สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิเมาไม่ขับ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันแอลกอฮอล์ มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เครือข่ายลดอุบัติเหตุ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ติดตามการตลาดทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบตามสื่อและช่องทางต่างๆ อย่างเป็นประจำ และส่งเรื่องร้องเรียนเข้าในระบบ TAS16


ที่มา: https://ncdalliance.org/why-ncds/NCDs

หน่วยงานหลักในการดำเนินการติดตามทั้ง 4 สินค้า คือ หน่วยงานภาครัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในขณะที่ระบบการติดตามภายในทั้ง 4 สินค้า มีภาคประชาสังคมช่วยติดตามการตลาดฯ อีกทั้งระบบติดตามการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบมีภาควิชาการช่วยติดตามการตลาดร่วมด้วย และยังมีการบูรณาการระบบติดตามการตลาดฯ ร่วมกัน ทั้งระบบการติดตามภายในและภายนอก (ระบบรับเรื่องร้องเรียน) ระบบติดตามการตลาดฯ ของ 4 สินค้า ดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาระบบการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ที่เข้มแข็ง เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเด็กต่อไป


หมายเหตุ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง การติดตามการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านสื่อโทรทัศน์ และยูทูป ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการวิจัยด้านอาหารและโภชนาการเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านอาหารและโภชนาการในประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Development of monitoring and evaluation (M&E) framework to support controls on the marketing of unhealthy food and drink to children in Thailand (การพัฒนากรอบการดำเนินการติดตามและประเมินผลเพื่อสนับสนุนการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพเด็กในประเทศไทย) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนอุดหนุนจากยูนิเซฟ (UNICEF)

เอกสารอ้างอิง

  1. Piwoz EG, Huffman SL. The Impact of Marketing of Breast-Milk Substitutes on WHO-Recommended Breastfeeding Practices. Food Nutr Bull 2015; 36(4): 373-86.
  2. Sadeghirad B, Duhaney T, Motaghi S, Campbell N, Johnston B. Influence of unhealthy food and beverage marketing on children's dietary intake and preference: a systematic review and meta-analysis of randomized trials. Obesity Reviews 2016; 17.
  3. Helen Clark, Tedros Adhanom Ghebreyesus. It’s time to stop infant formula marketing practices that endanger our children. 14 March ed. Geneva: World Health Organization; 2022.
  4. Noel JK, Sammartino CJ, Rosenthal SR. Exposure to Digital Alcohol Marketing and Alcohol Use: A Systematic Review. J Stud Alcohol Drugs Suppl 2020; Sup 19(Suppl 19): 57-67.
  5. National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion (US) Office on Smoking and Health. The Tobacco Industry’s Influences on the Use of Tobacco Among Youth.  Preventing Tobacco Use Among Youth and Young Adults: A Report of the Surgeon General Atlanta (GA): Centers for Disease Control and Prevention (US); 2012.
  6. Mc Carthy CM, de Vries R, Mackenbach JD. The influence of unhealthy food and beverage marketing through social media and advergaming on diet-related outcomes in children—A systematic review. Obesity Reviews 2022; 23(6): e13441.
  7. World Health Organization. Set of recommendations on the marketing of foods and non-alcoholic beverages to children. Geneva: World Health Organization; 2010.
  8. hai Food and Drug Administration. FOOD ACT B . E. 2522. Thai Food and Drug Administration: Nonthaburi; 1979.
  9. Thai Food and Drug Administration. The Public Health Ministerial Notification B.E. 2561 (2018) regarding GDA labeling of nutrition and energy dense, sugar, fat and sodium. Nonthaburi: Thai Food and Drug Administration; 2018.
  10. Thai Food and Drug Administration. Announcement of the Food and Drug Administration Re: Criteria for Food Advertisement B.E.2564 (2021). Thai government gazette Bangkok; 2021. p. 14-21.
  11. Maternal and Child Health Development. Essence of the Food Marketing Promotion for Infants and Young Children Act, B.E. 2560 (2017). In: Department of Health, editor. Bangkok: Maternal and Child Health Development; 2017.
  12. Chinanonvech. N. The role of government in alcohol control. In: Control DoD, editor. Nonthaburi: Office of Alcohol Control Committee; 2018.
  13. Department of Disease Control. Tobacco Products Control Act B.E.2560. Bangkok: Thai government gazette; 2017.
  14. สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. …. 2565.
  15. World Health Organization. A framework for implementing the set of recommendations on the marketing of foods and non-alcoholic beverages to children. Geneva: World Health Organization; 2012.
  16. Jaichuen. N, Suksa-ard. T, Pitayarangsarit. S. Development of Monitoring and Surveillance System on Marketing of Unhealthy Products. Journal of Health Systems Research 2019; 13(2): 204-19.
  17. Jindarattanaporn. N. Communicate with the director of Broadcasting and Television Division , National Broadcasting and Telecommunication Commission (NBTC) 18 February 2022.
  18. Jindarattanaporn. N. Communicate with the director of Law DIvision, Ministry of Digital for Economy and Society. 15 February 2022.
  19. Maternal and Child Health Development. Guidelines for managing surveillance systems under the Food Marketing Promotion for Infants and Young Children Act, B.E. 2560 (2017). In: Department of Health, editor. Nonthaburi: Maternal and Child Health Development; 2017.
  20. Runkasem. N. Implementation of resolution of Nional Health Assembly on regulation of media and marketing communication of  tobacco product and alcohol beverage. Bangkok: Tobacco Control Research Center (TRC), 2017.


CONTRIBUTOR

Related Posts
โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Brighton and Hove เมืองอาหารยั่งยืน

พิมลพรรณ นิตย์นรา

ท้องผูก

วรชัย ทองไทย

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th