The Prachakorn

ระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง: การเรียนรู้จากต่างประเทศ (ตอนที่ 1)


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

08 กันยายน 2565
398



บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษา ทบทวน ระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ของต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ของประเทศไทยต่อไป

การตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการบริโภคของเด็ก1-3 ประเทศไทยจึงได้พัฒนาร่างพระราชบัญญัติการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก เพื่อลดการพบเห็นและเทคนิคจูงใจของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ4 การศึกษาทบทวนระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ของต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศชิลี สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และออสเตรเลีย จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางในการออกแบบและวางระบบการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ได้อย่างเหมาะสมกับอำนาจและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง

การทบทวนวรรณกรรม พบว่า ประเทศชิลีและเกาหลีใต้ มีหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย และประเทศออสเตรเลียมีการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ แบบกลไกกำกับดูแลร่วมกัน (co-regulation) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีบทบาทและส่วนร่วมในการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ อย่างเข้มแข็ง (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 ระบบติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ของ 3 ประเทศ5

สำหรับประเทศชิลีนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายหน่วยงานระดับภูมิภาคภายใต้กระทรวงทำหน้าที่ดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายและประสานงานกับเครือข่ายระหว่างภาคส่วน ได้แก่ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม สมาคมผู้บริโภค องค์กรการตลาดด้านอาหารและสิทธิผู้บริโภค เพื่อติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย6,7

ในการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทางโทรทัศน์ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำข้อตกลง (agreement) กับสภาโทรทัศน์แห่งชาติ (The Television National Council) เพื่อให้สภาโทรทัศน์แห่งชาติส่งข้อมูลเนื้อหาทั้งหมดที่ออกอากาศระหว่างเวลา 06.00 น. ถึง 02.00 น. ในรายการโทรทัศน์แบบเปิดและแบบชำระเงินทั้งหมดที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข6,7 ในส่วนการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ในสถานศึกษา กระทรวงสาธารณสุขได้ทำข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ผู้ตรวจการและผู้กำกับการศึกษาตรวจสอบอาหารที่ขายภายในโรงเรียน6 สำหรับระบบรับเรื่องร้องเรียน ประชาชนสามารถรายงานการฝ่าฝืนกฎหมายได้ทั้งทางระบบออนไลน์ผ่านเอปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ร้องเรียนด้วยตนเองได้ที่สำนักงานข้อมูล การร้องเรียน และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขประจำภูมิภาค6

ที่มา: https://www.momsrising.org/blog/protect-all-kids-from-aggressive-junk-food-marketing

ประเทศเกาหลีใต้มีกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา8 ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานอิสระ (Autonomous Review Body) ทำหน้าที่ตรวจสอบการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มก่อนเผยแพร่และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน 20 วัน9 นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบโฆษณาหลังเผยแพร่ โดยกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา มอบอำนาจให้ผู้บริหารหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายอำเภอ ติดตามและบังคับใช้กฎหมายฉลากอาหารและการโฆษณา เมื่อมีการละเมิดกฎหมาย ผู้บริหารหน่วยงานในท้องถิ่นต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงประเภทของการละเมิด และจำนวนเงินค่าปรับที่ผู้ละเมิดกฎหมายต้องจ่าย และต้องเผยแพร่ผลการละเมิดกฎหมาย โดยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันด้วย9 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ยังสามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยการตรวจสอบฉลากคำเตือนแบบสุ่มเลือกตัวอย่างสินค้า ด้วยการเยี่ยมชมและการตรวจสอบสินค้า ณ จุดขายสินค้า คลังสินค้า หรือสถานที่ผลิต ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายจะรายงานผลการค้นพบและรายละเอียดต่างๆ ไว้ทั้งในใบรับรองแบบกระดาษและออนไลน์ในระบบข้อมูลดิจิทัลของหน่วยงานด้านสุขภาพ (Health Authority’s Digital Information System) และออกรายงานผลการติดตามประเมินผล6

ประเทศออสเตรเลียมีระบบการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (ได้แก่ หน่วยงานด้านการสื่อสารและสื่อของออสเตรเลีย (Australian Communications and Media Authority: ACMA) ทำหน้าที่กำหนดการโฆษณาและช่วงเวลาออกอากาศรายการสำหรับเด็กทางโทรทัศน์แบบฟรีทีวี10,11) และหน่วยงานภาคเอกชน (ได้แก่ สมาคมผู้โฆษณาแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian Association of National Advertisers: AANA) ซึ่งดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ ACMA12) ในการตรวจสอบโฆษณาก่อนเผยแพร่นั้น ออสเตรเลียมีเพียงการอบรมบุคคลหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกของ AANA ให้เข้าใจแนวปฏิบัติการโฆษณาสำหรับเด็กและแนวปฏิบัติการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์13 ในส่วนระบบรับเรื่องร้องเรียนมีหน่วยงานชื่อ มาตรฐานโฆษณา (Ad Standards) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ACMA เป็นหน่วยงานบริหารจัดการข้อร้องเรียนและเป็นเลขานุการของคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งมี 2 คณะ โดยคณะกรรมการชุดที่ 1 คณะกรรมการตัดสินจากชุมชน (Community Panel) ประกอบด้วย ผู้แทนประชาชนจากกลุ่มอายุและภูมิหลังที่หลากหลาย มีความสมดุลทางเพศ และเป็นตัวแทนของความหลากหลายในสังคมออสเตรเลีย และคณะกรรมการชุดที่ 2 คณะกรรมการตัดสินจากอุตสาหกรรม (Industry Jury) ประกอบด้วยกลุ่มนักกฎหมาย 3 คน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายการโฆษณาและ/หรือการแข่งขัน และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทั้ง 2 คณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาตัดสินเรื่องร้องเรียนโดยใช้การออกเสียงโหวตที่อาศัยเสียงข้างมาก จากนั้น คณะกรรมการตัดสินแจ้งผลการพิจารณาตัดสินเรื่องร้องเรียน เช่น แก้ไขหรือยุติการโฆษณา ให้แก่ Ad Standards เพื่อแจ้งผลให้แก่ผู้ร้องเรียน และ Ad Standards จัดทำสรุปเป็นรายงานผลการดำเนินงานประจำปี14

นอกเหนือจากกลไกข้างต้น ประเทศออสเตรเลียยังมีหน่วยงานที่ชื่อว่า adSHAME ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคมและภาควิชาการที่สนใจและติดตามการโฆษณาที่ละเมิดของอุตสาหกรรมสุราและอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง15 โดย adSHAME มีบทบาทส่งเสริมให้คนในสังคม (เช่น กลุ่มผู้ปกครอง) ร้องเรียนการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอาหารฯ ที่มีการละเมิดแนวปฏิบัติฯ16 โดยส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ Ad Standards เมื่อคณะกรรมการตัดสินของ Ad Standards พิจารณาว่า เรื่องร้องเรียนไม่ละเมิดแนวปฏิบัติฯ Ad Standards แจ้งผลการเพิกถอนเรื่องร้องเรียนให้แก่ผู้ร้องเรียน กรณีที่ผู้ร้องเรียนไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณา ผู้ร้องเรียนจะส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง adSHAME และ adSHAME จะส่งเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยัง ACMA17 เพื่อให้พิจารณาและตัดสินการร้องเรียนอีกครั้ง ผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ ACMA นำไปสู่การตัดสินที่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด  เช่น หากเรื่องร้องเรียนดังกล่าวเป็นความจริงว่า โฆษณาละเมิดแนวปฏิบัติฯ เจ้าของโฆษณาดังกล่าวต้องปฏิบัติตามการตัดสินของ ACMA ในทางกลับกัน หากเรื่องร้องเรียนไม่ละเมิดแนวปฏิบัติฯ adSHANE ต้องยุติการร้องเรียน17,18

ที่มา: https://www.vectorstock.com/royalty-free-vector/monitoring-and-assessment-concept-icon-vector-41980371

ผลการทบทวนวรรณกรรมสะท้อนให้เห็นระบบการติดตามการตลาดและเครื่องดื่มฯ ที่สำคัญ โดยประเทศชิลีมีกระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้กฎหมาย และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ เพื่อบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งมีระบบรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ในขณะที่เกาหลีใต้มีกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา กระจายอำนาจให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานในระดับท้องถิ่นบังคับใช้กฎหมาย และมีการตรวจโฆษณาก่อนการเผยแพร่ ซึ่งแตกต่างจากประเทศออสเตรเลียที่มีทั้งการควบคุมตนเองและการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมในการตั้งคำถามและตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโฆษณาละเมิดแนวปฏิบัติฯ ที่ไม่ได้รับการพิจารณาหรือพิจารณาแล้วว่าไม่ละเมิดแนวปฏิบัติฯ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาอีกครั้งของหน่วยงานที่มีอำนาจทางกฎหมาย ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทย ในการวางแผนและพัฒนาระบบการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ เพื่อส่งเสริมให้มีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นต่อไป

ในบทความต่อไป ผู้เขียนจะนำเสนอการทบทวนระบบติดตามการตลาดของสินค้าบริโภคที่มีผลต่อสุขภาพของประเทศไทย อันประกอบด้วย อาหาร สินค้าทดแทนนมแม่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ เพื่อเป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลความรู้ใน  การสนับสนุนการสร้างระบบการติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มฯ ของประเทศไทย


หมายเหตุ บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง การติดตามการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านสื่อโทรทัศน์ และยูทูป ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการวิจัยด้านอาหารและโภชนาการเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านอาหารและโภชนาการในประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เอกสารอ้างอิง

  1. Jaichuen N, Phonsuk P, Phulkerd S, Chaisong S, Thamarangsi T. Brand recall brand name logo recognition by school children in Prathom 6. Journal of Health Systems Research 2012; 6(1): 72-85.
  2. Boyland EJ, Halford JC. Television advertising and branding. Effects on eating behaviour and food preferences in children. Appetite 2013; 62: 236-41.
  3. Norman J, Kelly B, McMahon AT, Boyland E, Chapman K, King L. Remember Me? Exposure to Unfamiliar Food Brands in Television Advertising and Online Advergames Drives Children's Brand Recognition, Attitudes, and Desire to Eat Foods: A Secondary Analysis from a Crossover Experimental-Control Study with Randomization at the Group Level. J Acad Nutr Diet 2020; 120(1): 120-9.
  4. สำนักโภชนาการ, กรมอนามัย. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก พ.ศ. …. 2565.
  5. World Health Organization. A framework for implementing the set of recommendations on the marketing of foods and non-alcoholic beverages to children. Geneva: World Health Organization; 2012.
  6. Food and Agriculture Organization of the United Nations, Pan American Health Organization. Questions and Answers about the Children Food Act. Santiago: Food and Agriculture Organization of the United Nations and Pan American Health Organization; 2019.
  7. Kathryn Backholer, Fiona Sing. Controls on the Marketing of Food and Non-Alcoholic Beverages to Children in Thailand: Legislative Options and Regulatory Design. Bangkok: UNICEF Thailand Country Office; 2020.
  8. Korea Legislation Research Institute. SPECIAL ACT ON SAFETY MANAGEMENT OF CHILDREN'S DIETARY LIFESTYLE, Act No. 10310. In: Institute KLR, editor. Sejong-si Korea Legislation Research Institute, Korea Law Translation Center; May 25, 2010.
  9. Ministry of Food and Drug Safety (Food Labeling and Advertising Policy Division). Enforcement Decree of the Food Labeling and Advertising Act In: [Enforcement 2020. 8. 25.] [Presidential Decree No. 30973, partially amended], editor. Seoul: Ministry of Food and Drug Safety; 2020.
  10. Australian Communications and Media Authority. Children’s Television Standards 2009. Camberra: Australian Communications and Media Authority; 2009.
  11. Obesity Policy Coalition. Food advertising regulation in Australia. Victoria: Obesity Policy Coalition; 2018.
  12. Australian Communications and Media Authority. Rules and regulations 2021. https://www.acma.gov.au/tv-and-radio-broadcasters (accessed 16 November 2021).
  13. AANA. Self-Regulation. 2022. https://aana.com.au/self-regulation/ (accessed 1 June 2022).
  14. Ad Standards. Measruing our Impact Review of Operation 2020. Sydney: Ad Standards; 2020.
  15. adSHAME. About ub. 2021. https://www.adshame.org.au/about-us#.YZMYh2BBw2w (accessed 16 November 2021).
  16. adSHAME. How you can help. 2021. https://www.adshame.org.au/bloggers#.YZMaRmBBw2w (accessed 16 November 2021).
  17. adSHAME. McDonald's It's A Knockout. 2021. https://www.adshame.org.au/galleries/junk-food-and-kids/mcdonalds-knockout.html#.YZMw62BBw2w (accessed 16 November 2021).
  18. adSHAME. Coca-Cola. 2021. https://www.adshame.org.au/galleries/junk-food-and-kids/coca-cola-armstrong.html#.YZMch2BBw2w (accessed 16 November 2021).

 

 

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th