The Prachakorn

ท้องผูก


วรชัย ทองไทย

18 มิถุนายน 2567
814



ท้องผูกไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการของการถ่ายอุจจาระลำบาก หรือถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ถึงแม้ว่าท้องผูกจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีอาการบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ริดสีดวงทวาร เราสามารถป้องกันไม่ให้ท้องผูกได้ ด้วยการดื่มน้ำให้พอเพียง รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา ถ่ายอุจจาระในท่านั่งยอง ไม่กลั้นอุจจาระ และทำจิตใจให้สบาย

มนุษย์เจริญเติบโตได้ด้วยการกินอาหารและขับถ่าย อาหารที่เรารับประทานเข้าไป ร่างกายจะดูดซึมเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ไปใช้ ส่วนที่เหลือก็จะขับถ่ายออกมาเป็นอุจจาระและปัสสาวะ โดยทั่วไปคนปกติที่มีสุขภาพดีจะเป็นคนที่ "กินได้ (ขับ) ถ่ายคล่อง"             

โดยปกติการขับถ่ายของผู้ใหญ่จะอยู่ระหว่าง 3 ครั้งต่อวัน ถึง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับทารกจะขับถ่าย 3 ถึง 4 ครั้งต่อวัน ขณะที่เด็กเล็กจะขับถ่าย 2 ถึง 3 ครั้งต่อวัน การขับถ่ายที่มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เรียกว่า “ท้องเสีย” และการขับถ่ายที่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เรียกว่า “ท้องผูก”        

ท้องผูกไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการ โดยทั่วไปอาการท้องผูกหมายถึง การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือถ่ายอุจจาระลำบาก (ดังรูป)

รูป อาการท้องผูก

ระบบย่อยอาหาร
ระบบย่อยอาหารเป็นที่ที่ร่างกายใช้สลายอาหารและดูดซึมสารอาหาร ประกอบด้วยส่วนย่อยอาหารและอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ระบบย่อยอาหารเป็นท่อบิดยาว ที่เริ่มต้นจากปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และสิ้นสุดที่ทวารหนัก      

อาหารที่กินเข้าทางปาก จะไหลลงสู่กระเพาะ ที่มีหน้าที่คลุกเคล้าอาหารด้วยสารเคมีธรรมชาติ เพื่อให้อาหารกลายเป็นของเหลว ก่อนไหลสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งทำหน้าที่เอาสารอาหารง่ายๆ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ที่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ เพื่อให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงาน เสริมสร้างการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนสึกหรอ          

ส่วนที่ย่อยไม่หมดหรือย่อยไม่ได้ เรียกว่ากากอาหาร รวมทั้งน้ำ วิตามิน และแร่ธาตุบางส่วนที่ไม่ถูกดูดซึม จะไหลสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมน้ำและวิตามินบี 12 ที่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สร้างขึ้นไปใช้ โดยลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายจะถูกใช้เป็นที่เก็บกากอาหาร ก่อนที่จะปล่อยออกจากร่างกายทางทวารหนัก กากอาหารที่ออกจากร่างกายเรียกว่า อุจจาระ

ประเภทของอุจจาระ
ลักษณะของอุจจาระที่ดีคือ แน่น นุ่ม และเคลื่อนตัวได้ง่าย โดยที่อุจจาระของมนุษย์แบ่งออกได้ 7 ประเภท ตามเครื่องมือวินิจฉัยทางการแพทย์ที่เรียกว่า “Bristol stool scale" ดังนี้

รูปนำมาจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bristol_stool_scale_neutral.png          
สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2567

โดยอุจจาระประเภทที่ 1 และ 2 หมายถึงอาการท้องผูก ประเภทที่ 3 และ 4 ถือเป็นอุจจาระดี เพราะถ่ายง่ายและไม่มีของเหลวมากเกินไป ส่วนประเภทที่ 6 และ 7 หมายถึงอาการท้องเสีย    

อาการและภาวะแทรกซ้อนของท้องผูก     
อาการท้องผูกที่นอกเหนือจากการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง และต้องเบ่งในเวลาขับถ่าย ได้แก่ ขับถ่ายที่ต้องใช้เวลานาน อุจจาระแข็ง ปวดเวลาถ่ายอุจจาระ ปวดท้อง ท้องอืด และรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่หมด

ท้องผูกเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับคนทั่วไป แต่ถ้ามีอาการท้องผูกบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ริดสีดวงทวาร แผลขอบทวาร อุจจาระแน่น   

สาเหตุของท้องผูก
ท้องผูกมีสาเหตุหลายประการ ที่พบบ่อยคือ เมื่ออุจจาระเคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่ช้าเกินไป ยิ่งอาหารเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ช้าลง ลำไส้ใหญ่จะดูดซับน้ำได้มากขึ้น และอุจจาระก็จะยิ่งแข็งขึ้น สาเหตุอื่นๆ เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมาก ( ผัก ผลไม้ ธัญพืช) ไม่เพียงพอ เปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันในช่วงเดินทาง ความเป็นส่วนตัวจำกัดเมื่อใช้ห้องน้ำ กลั้นอุจจาระ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มน้ำไม่เพียงพอ

วิธีป้องกันท้องผูก
ท้องผูกสามารถป้องกันได้ด้วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยที่น้ำจะช่วยเพิ่มปริมาตรกากอาหารในลำไส้ และทำให้อุจจาระนุ่ม
  • รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารมาก เช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช รำข้าวสาลี เพราะเส้นใยอาหารจะช่วยเพิ่มกากอาหารและดูดน้ำไว้ภายในช่องลำไส้ ทำหน้าที่เหมือนยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายทุกส่วนรวมถึงทางเดินอาหารมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ช่วยขับไล่แก๊สในช่องลำไส้ ลดอาการท้องอืด และช่วยให้เกิดการขับถ่าย
  • ถ่ายอุจจาระเป็นเวลา ควรฝึกการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาจนติดเป็นนิสัย อย่าใช้เวลานั่งถ่ายเกิน 5-10 นาที และหลีกเลี่ยงการออกแรงเบ่ง
  • ถ่ายอุจจาระในท่านั่งยอง ท่านั่งส้วมที่ถูกต้องคือท่านั่งยอง ในท่านี้เข่าจะทำมุม 35 องศากับพื้น อันมีผลให้ลำไส้ใหญ่ไม่ถูกกดทับ และการขับถ่ายทำได้รวดเร็วโดยไม่ต้องเบ่ง แต่ท่านั่งยองเป็นท่าเมื่อใช้ส้วมซึมไม่ใช่ส้วมชักโครก ดังนั้นเมื่อใช้ส้วมชักโครกอย่านั่งตัวตรง ให้นั่งโน้มตัวมาข้างหน้า หรือนั่งวางเท้าบนโต๊ะเตี้ย เพื่อให้เข่าทำมุม 35 องศากับพื้น
  • ไม่กลั้นอุจจาระ การกลั้นอุจจาระนอกจากจะทำให้ไม่สบายตัวแล้ว ยังจะทำให้ท้องผูกหรืออาการท้องผูกแย่ลงอีก เราจึงควรเข้าส้วมทุกครั้งเมื่อมีสัญญาณ  โดยเวลาหลังอาหารมักจะเป็นเวลาที่มีสัญญาณแรงที่สุด อย่างไรก็ตามเราสามารถเลือกเวลาใดก็ได้ แต่ต้องทำเป็นประจำและสม่ำเสมอ
  • ทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียดและความวิตกกังวล ด้วยการทำสมาธิหรือโยคะ อันจะส่งผลให้ทางเดินอาหารทำงานได้ดีตามปกติ นอกจากนี้การนวดท้องจะทำให้กล้ามเนื้อที่รองรับลำไส้ผ่อนคลาย อันช่วยให้การขับถ่ายมีความสม่ำเสมอมากขึ้น

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับท้องผูกที่เคยได้รับรางวัลอีกโนเบล สาขาชีววิทยามีถึง 2 ครั้ง คือ

  • ในปี 2537 มอบให้กับนักวิจัยอเมริกัน 4 คน (W. Brian Sweeney, Brian Krafte-Jacobs, Jeffrey W. Britton และ Wayne Hansen) ที่ร่วมกันเขียนรายงานวิจัยชิ้นสำคัญเรื่อง ทหารท้องผูก: ความชุกในหมู่ทหารประจำการสหรัฐ
  • ในปี 2565 มอบให้กับนักวิจัยจากบราซิลและโคลัมเบีย (Solimary García-Hernández กับ Glauco Machado) ที่ร่วมกันศึกษาว่า อาการท้องผูกส่งผลต่อโอกาสในการผสมพันธุ์ของแมงป่องหรือไม่และอย่างไร

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับผลงานที่ทำให้ “หัวเราะ” แล้วจึงได้ “คิด”


หมายเหตุ: ขยายความจาก “ท้องผูก” ในประชากรและการพัฒนา 44(5) มิถุนายน-กรกฎาคม 2567: 7

ภาพประกอบ freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th