The Prachakorn

ในบั้นปลายแห่งชีวิต


ปราโมทย์ ประสาทกุล

15 ตุลาคม 2563
2,862



จะมีใครคิดเหมือนกับผมบ้างไหมว่า เมื่อเรามีอายุยิ่งมากขึ้นเท่าไร เวลาก็ยิ่งผ่านไปเร็วขึ้นเท่านั้น ถึงวันนี้ (1 กันยายน) วันเวลาของปี 2563 ได้ล่วงมา 8 เดือนแล้ว เหลืออีกเพียง 4 เดือนก็จะหมดปี (วันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ไม่น่าเชื่อว่า คนไทยได้มีชีวิตอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 มานานเกินกว่าครึ่งปีแล้ว)

ยิ่งมีอายุสูงขึ้น ผมก็มองว่า เด็ก ๆ โตเร็วขึ้น เด็กน้อยตัวเล็ก ๆ เมื่อไม่นาน วันนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างผิดตา เด็กน้อยกลายเป็นเด็กใหญ่ เด็กใหญ่กลายเป็นหนุ่มสาว “... โตเร็วจัง เด็กสมัยนี้ ...” แล้วตัวเราจะไม่แก่เร็วได้อย่างไร

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมเคยตั้งเป้าหมายว่าจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ถึง 80 ปี (ซึ่งเท่ากับอายุของพระพุทธเจ้า) ตอนนั้นผมเขียนบันทึกไว้ว่า ถ้าผมตายก่อนอายุ 80 ปี ก็ถือว่าผมขาดทุนชีวิต แต่ถ้ามีอายุเกิน 80 ปีก็เท่ากับว่าผมได้กำไรชีวิต

ถ้าผมยังยึดเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี ผมก็มีเวลาเหลืออีกเพียง 7 ปีกว่าเท่านั้น คิดเป็นจำนวนวันได้ประมาณ 2,800 วัน และถ้าผมจะโลภอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนาน ๆ จนลาโลกไปเมื่ออายุสัก 90 ปี ผมก็จะมีเวลาเห็นพระอาทิตย์ขึ้น – พระอาทิตย์ตกอีกราว 6,500 ครั้งเท่านั้น

ตัวเลขจำนวนวันที่ผมจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น 2 พัน หรือ 6 พันกว่าวัน เป็นเพียงตัวเลขสมมุติ ในความเป็นจริง ผมอาจสิ้นใจตายในวันสองวันนี้ หรืออีกปีสองปีข้างหน้า หรืออาจมีอายุยืนจนถึง 100 ปีได้เป็น “ศตวรรษิกชน” คนหนึ่งในอีก 27 ปีข้างหน้าก็ได้

เกิดมาแล้วต้องตาย

ผมเชื่อว่าคนที่มีชีวิตยืนยาวมาจนมีอายุครบ 6 รอบอย่างคนรุ่นผมทุกวันนี้ ต่างรู้ดีว่าสังขารของเราไม่เที่ยง และความตายกำลังใกล้เข้ามาถึงตัวเราทุกคนแล้ว ประธานรุ่นเพื่อนนักเรียนมัธยมฯ รุ่นเดียวกับผมเขียนย้ำทุกปีว่าพวกเรามีเวลาเหลือน้อยลงทุกที จึงควรมางานชุมนุมรุ่นประจำปีก่อนที่จะไม่มีเรี่ยวแรงที่จะมาพบปะสังสรรค์กัน หรือไม่ก็ตายจากกันไป พวกเราทุกคนรู้ดีว่าสังขารของเราย่อมเสื่อมถอยลงตามวัย และอีกไม่นานเราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น เราเชื่อเช่นนั้นเพราะประสบการณ์ที่ได้เห็นสัจธรรม การเกิด แก่ เจ็บ ตายที่มีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน  คำสอนของทุกศาสนาต่างยอมรับการสิ้นสุดของชีวิต

ผมได้ฟังเพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากพูดถึงเรื่องความตาย ทุกคนยอมรับว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แต่ดูเหมือนทุกคนจะคิดตรงกันว่า ถ้าถึงวันตายก็ขอให้ตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมานก่อนที่จะตาย ทุกคนอยากจะนอนหลับแล้วหมดลมหายใจลาจากโลกนี้ไปเลย

เมื่อไม่นานมานี้ รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งตายจากไป พี่อายุ 75 ปี ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายด้วยการตีกอล์ฟเป็นประจำ วันนั้นพี่นอนบนโซฟา ดูทีวีถ่ายทอดการแข่งขันกอล์ฟกีฬาโปรดของพี่ แล้วพี่ก็ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น” เมื่อพวกเรารู้ข่าวการจากไปของพี่ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พี่เป็นคนมีบุญ จึงนอนหลับตายไปอย่างสงบ” การตายของพี่เป็นการตายในอุดมคติที่ใคร ๆ ก็อยากตายด้วยอาการสุขสงบเช่นนั้น

ความตายไม่น่ากลัว

ผมอยากให้คนเราไม่กลัวความตาย เมื่อคุยกันเรื่องความตาย ผมมักบอกใคร ๆ ว่า ผมชอบคติความเชื่อของชาวทิเบต ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง (เรื่องอะไรก็จำไม่ได้) ที่เล่าว่าชาวทิเบตเชื่อว่า ร่างกายของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่ห่อหุ้มจิตวิญญาณของคนไว้ เมื่อคนตายก็เหมือนกับจิตวิญญาณของคนนั้นละทิ้งเสื้อผ้าชุดที่สวมใส่อยู่ เพื่อเปลี่ยนไปอยู่ในเสื้อผ้าชุดใหม่ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือชาวทิเบตเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การตายของคนเราก็เป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดที่เราใส่อยู่ในชาตินี้ไปใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ในชาติหน้า ความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด

ถ้าพวกเรามีทัศนคติว่าความตายไม่น่ากลัว เราก็จะสบายใจเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เราก็ไม่จำเป็นต้องพยายามยื้อชีวิตไว้อย่างไม่มีเหตุผล 

ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด มีชาตินี้และชาติหน้า มีนรกสวรรค์ เชื่อเรื่องเวรกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ความเชื่อเช่นนั้นจะกระตุ้นให้เราประกอบกรรมดีเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีในชาติต่อไป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เราควรละเว้นกรรมชั่ว เพื่อไม่ตกนรกหรือต้องไปชดใช้กรรมเวรในชาติหน้า

ความกลัวความเจ็บปวดทุกข์ทรมานก่อนตาย

เท่าที่ผมได้คุยกับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันมีอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเรากลัว และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง นั่นคือการเจ็บป่วยจนถึงขั้นพิการ ช่วยตัวเองไม่ได้ในบั้นปลายแห่งชีวิต ไม่มีใครอยากเห็นตัวเองต้องนอน “ติดเตียง” เป็นภาระให้ต้องมีคนคอยดูแลช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร ขับถ่าย อาบน้ำ

เดี๋ยวนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายให้คนทำพินัยกรรมชีวิต หรือที่ผมอยากจะเรียกว่า “ชีวเจตนา” ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนาให้ไม่ต้องยื้อชีวิตของเราไว้ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ใด ๆ เมื่อเราหมดสภาพที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แล้ว เรื่องนี้คงเกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือสารบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น มอร์ฟิน หรือแม้กระทั่งกัญชามากขึ้น

ผมเคยเขียนหนังสือเรื่อง “แก่ ... ก็ดีเหมือนกันนะ” ผมยังยืนยันความคิดเดิมว่า แก่ก็ดีเหมือนกัน แต่อยากจะเพิ่มเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งว่า ขอให้เราแก่แล้วยังมีสุขภาพดีพอที่จะช่วยตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระที่ต้องพึ่งพาคนอื่น

คนเราฝืนความเสื่อมของสังขารไม่ได้ เมื่อเรามีอายุสูงขึ้นถึงระดับหนึ่งก็จะยากที่จะมีชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง คนรุ่นผมถ้ามีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งก็คงอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนอยู่ด้วยและช่วยดูแล ผมเคยไปพบคุณยายอายุ 100 ปี ที่ยังแข็งแรง ยังทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง แต่ถึงกระนั้นคุณยายก็ยังต้องมีคนดูแลใกล้ชิด ไม่มีลูกหลานคนไหนยอมปล่อยให้คุณยายอยู่ตามลำพังคนเดียว

เวลาเราพูดถึงเรื่องผู้สูงอายุ เรามักจะเหมารวมว่าคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุเหมือนกันทั้งหมด แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีสภาพร่างกายสมบูรณ์ไม่เท่าเทียมกันสังขารของคนที่ยิ่งมีอายุมาก ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเสื่อมโทรมไปมากขึ้นโดยทั่วไป คนอายุ 60 ปีต้น ๆ ย่อมมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมากกว่าคนอายุ 80-90 ปีขึ้นไป เราจึงแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้มีอายุ 60-69 ปี เป็น “ผู้สูงอายุวัยต้น”  ผู้มีอายุ 70-79 ปี เป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” และผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เป็น “ผู้สูงอายุวัยปลาย” หรือถ้าจะแถมอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “ศตวรรษิกชน” คือคนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป

ผู้สูงอายุวัยต้นย่อมมีสมรรถนะของร่างกายดีกว่าผู้สูงอายุวัยปลาย สมัยนี้ผู้สูงอายุวัยต้นส่วนใหญ่จะยังแข็งแรง และมีพลังจนไม่น่าจะเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุเสียด้วยซ้ำ

ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต

อีกไม่ถึง 10 ปี ผมก็จะเป็นผู้สูงอายุวัยปลายแล้ว ทุกวันนี้ ผมเห็นผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีต้น ๆ จำนวนมาก ที่มีพลังแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่จนอายุเกิน 80 ปี ผมก็หวังที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังเช่นนั้นบ้าง และอีกไม่ถึง 20 ปี ถ้าผมมีอายุถึง 90 ปี ผมค่อนข้างแน่ใจว่า หากมีชีวิตอยู่โดยไม่มีคนอยู่ด้วยคอยช่วยดูแลน่าจะลำบาก

อีก 20 ปีข้างหน้า คนที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะมีจำนวนมากถึงประมาณ 4 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยปลายสุดเหล่านี้ ไม่ว่าจะยังช่วยตัวเองได้ หรืออยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาคนอื่นแล้ว  คงต้องมีผู้ดูแลอยู่ด้วยอย่างค่อนข้างจะแน่นอน

สำหรับผม เมื่อมีอายุเกิน 6 รอบแล้วในวันนี้ ได้ตั้งใจว่า เราต้องไม่ประมาท และควรเตรียมตัวตาย ทุกวันผมท่องคาถาที่แต่งขึ้นเอง

    “ยึดมั่นในพรหมวิหารสี่ ปราโมทย์ปีติเป็นนิสัย
    ไม่คิดมุ่งร้ายทำลายใคร รักษากาย วาจา ใจ ให้งดงาม”

แม้รู้ว่าจะปฏิบัติตามคาถานี้ได้ยาก เพราะตัวเองก็ยังเป็นคนธรรมดาที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เป็นบางครั้ง และขาดสติไปบ้างเป็นบางครา แต่ก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ได้เพื่อจะได้ตายอย่างสุขสงบ

ในบั้นปลายแห่งชีวิต
ที่มา: https://www.thaihealthcenter.org



CONTRIBUTOR

Related Posts
คลื่นกระทบฝั่ง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

ผู้สูงอายุไทยกับความยากจน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

กลับบ้าน...ไม่ถึงบ้าน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th