The Prachakorn

เป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ มิใช่ปัญหาของผู้สูงวัยอย่างเรา


ปราโมทย์ ประสาทกุล

09 สิงหาคม 2564
907



เรื่องที่มีชื่อยาวมากที่ผมจะเขียนวันนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ผมมีโอกาสนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการสูงวัยของประชากรในที่ประชุม 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ครั้งแรกผมนำเสนอบทความเรื่อง “การสูงวัยอย่างมีพลัง: ประเด็นท้าทายของประเทศไทยในอนาคต” ต่อที่ประชุมราชบัณฑิตและภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา ครั้งที่ 2 ในการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรร่วมเสวนาเรื่อง “ความเสี่ยงของสังคมไทยในสังคมโลก” กับ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา พูดในมิติด้านสาธารณสุข รศ.ดร.สมชาย ภาคภาสน์วิวัฒน์ พูดในมิติด้านเศรษฐกิจและสังคม และผม พูดในมิติด้านประชากรศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.น.ท.หญิง งามลมัย ผิวเหลือง คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้นำการเสวนา 

การนำเสนอความคิดทั้ง 2 ครั้งนี้ มีเวลาห่างกันเพียงอาทิตย์เดียวผมจึงใช้กลวิธียิงปืนด้วยกระสุนนัดเดียวให้ได้นก 2 ตัว ผมเตรียมความคิดแนวเดียวกันเพื่อนำเสนอใน 2 เวที ผมตั้งธงไว้ก่อนว่าจะพูดเรื่องสังคมสูงวัยในอนาคต ซึ่งปัญหาเรื่องผู้สูงอายุจะเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของประเทศไทย

สังคมสูงวัยไทยในอนาคต

ในฐานะเป็นนักประชากรศาสตร์ ที่สนใจติดตามศึกษาแนวโน้มที่ผ่านมาของการเกิด การตาย และการย้ายถิ่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ประชากรเปลี่ยนแปลงไป ผมมองเห็นภาพประชากรไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในเรื่องการเกิด คนไทยมีลูกกันน้อยลงจริงๆ อัตราเกิดของประชากรไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมานี้ วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้หญิงไทยมีสถานภาพสูงขึ้น มีการศึกษาดีขึ้น และอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น เมื่อ 50 ปีก่อนผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกโดยเฉลี่ยมากถึง 5 คน แต่เดี๋ยวนี้ผู้หญิงไทยมีลูกโดยเฉลี่ยเพียง 1.3 คนเท่านั้น 

ผมอ้างถึง “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” ที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 ในช่วงเวลา 20 ปีนี้ มีเด็กเกิดในประเทศไทยปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ในปี 2514 มีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือมีการจดทะเบียนเกิดมากกว่า 1 ล้าน 2 แสนคนในปีนั้น 

ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีได้ลดลงเรื่อยๆ ผมบอกที่ประชุมว่าทั้งๆ ที่รู้ว่าจำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยจะลดลง แต่ผมก็อดตื่นเต้นไม่ได้ว่า จำนวนเกิดได้ลดลงมากและรวดเร็ว จนเหลือต่ำกว่า 6 แสนคนเมื่อปีกลายนี้ ปี 2563 มีเด็กเกิดเพียง 587,368 คนเท่านั้น น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเด็กเกิดเมื่อปี 2514 

ดูแนวโน้มของจำนวนเกิดในประเทศไทยแล้ว ผมคิดว่าเราน่าจะเห็นตัวเลขเด็กเกิดลดลงไปแตะหลัก 5 แสนคน ในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า 

มีผู้ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายเพิ่มจำนวนเกิดให้มากขึ้นหรือไม่อย่างไร ผมเล่าว่าขณะนี้เรามีนโยบายส่งเสริมการเกิด เช่น มีการกระตุ้นให้คนแต่งงาน มีลูกเพิ่มมากขึ้น ช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก ให้เงินช่วยในการเลี้ยงดูบุตร แต่ผมก็พูดอยู่เสมอว่ากลยุทธ์ต่างๆ ที่จะทำให้ผู้หญิงไทยมีลูกเพิ่มมากขึ้นนั้น คงจะได้ผลไม่มากนัก ที่ผ่านมาไม่มีประเทศใดสามารถทำให้อัตราเกิดที่ลดต่ำลงแล้วเพิ่มสูงขึ้นได้สำเร็จอย่างมีนัยยะสำคัญ 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็คงต้องประกาศจุดยืนว่าต่อไปนี้ เราใช้นโยบายส่งเสริมการเกิด ไม่ใช่นโยบายต่อต้านการเกิดเหมือนเมื่อ 40-50 ปีก่อนอีกต่อไปแล้ว ประเทศไทยกำลังรณรงค์ส่งเสริมให้คนมีลูก แต่การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการมีลูกเช่นนี้ เราต้องทำด้วยความระมัดระวัง เรายังมีปัญหาการตั้งครรภ์ในหมู่วัยรุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมหรือไม่ตั้งใจขณะนี้ประเทศไทยได้ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าเราส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ

ในเรื่องการตาย ในรอบ 40-50 ปีที่ผ่านมานี้ อัตราตายของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้น เพราะคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น จึงมีคนเสียชีวิตในวัยสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ถ้าดูจากจำนวนตายในแต่ละปี เมื่อ 50 ปีก่อน คนไทยตายปีละประมาณ 3 แสนคนเท่านั้น เมื่อปี 2563 มีการตายที่จดทะเบียน 506,211 ราย ซึ่งนับเป็นจำนวนตายที่เพิ่มสูงขึ้นเกินหลัก 5 แสนคนเป็นครั้งแรก การที่คนตายมากขึ้นเป็นเพราะประชากรสูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้น ไม่ใช่เพราะสุขภาพของคนไทยเสื่อมลงแต่ประการใด

ชีวิตของคนไทยยืนยาวอย่างมากในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 2500 อายุคาดเฉลี่ย (เมื่อแรกเกิด)1 ของคนไทยยืนยาวไม่ถึง 60 ปี ปัจจุบันคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยประมาณ 77 ปี โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 74 ปี และผู้หญิงมีอายุยืนยาวประมาณ 81 ปี 

อีก 20 ปีข้างหน้า อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยน่าจะยืนยาวถึง 80 ปี โดยผู้ชายมีอายุคาดเฉลี่ย 77 ปี และผู้หญิง 83 ปี

เรื่องการย้ายถิ่นเข้าประเทศ ถ้าจะนับคนย้ายถิ่นเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะมีคนได้โควต้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยอย่างถาวรปีละประมาณ 5-6 พันคนเท่านั้น แต่คนที่เข้ามาเป็นแรงงานอยู่ชั่วคราวในประเทศไทยในปัจจุบันนี้มีเป็นจำนวนมากหากนับรวมทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวนรวมทั้งสิ้นก็น่าจะมากถึง 4 ล้านคน 

การฉายภาพประชากรของประเทศไทย ผมได้นำผลการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ 2553-2583 (ฉบับปรับปรุง) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปแสดงให้เห็นภาพประชากรไทยในอนาคต ผมได้ชี้ให้เห็นว่าในเวลา 20 ปีข้างหน้านี้ ประชากรของประเทศไทยจะเพิ่มช้ามากจนถึงขั้นติดลบ ปี 2563 นี้ เรามีประชากร 66.5 ล้านคน คาดประมาณว่าในปี 2583 ประชากรไทยจะลดลงเหลือประมาณ 65.4 ล้านคน 

ประชากรวัยเด็กและวัยทำงานจะลดลงอย่างมาก เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะลดลงจาก 11 ล้านคนในปี 2563 เหลือเพียง 8 ล้านคนในปี 2583 ประชากรวัยทำงานอายุ 15-59 ปี จะลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 37 ล้านคนในช่วงเวลา 20 ปีนี้

จุดสำคัญที่ผมต้องการชี้ให้เห็นคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรรุ่นเกิดล้านจะกลายเป็นผู้สูงอายุเกือบทั้งหมด คือจะมีอายุ 57-77 ปี ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 12 ล้านคนในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัวเป็น 21 ล้านคน หรือคิดเป็น 31% ของประชากรทั้งหมด

ผมชี้ให้เห็นจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือ กลุ่มผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเร็วมากคือ เพิ่มเฉลี่ยปีละ 8% จากจำนวน 1.4 ล้านคนในปี 2563 เพิ่มเป็น 3.4 ล้านคนในปี 2583 

ผู้สูงอายุรุ่นใหม่จะมีสุขภาพดีและมีพลังหรือไม่

ผมพยายามเน้นให้เห็นว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศคือทำให้ประชากรสูงวัยขึ้นอย่างมีพลัง ซึ่งหมายถึง การทำให้ประชากรตั้งแต่เกิดแล้วเจริญวัยขึ้นอย่างมีสุขภาพดีและมีความมั่นคงในชีวิต ผ่านขั้นตอนของชีวิตในวัยต่างๆ ตั้งแต่เป็นทารก เด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยทำงาน และเป็นผู้สูงอายุ จนกระทั่งตายอย่างมีศักดิ์ศรี 

ในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศไทยเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” ที่มีประชากรสูงอายุคิดเป็นอัตราส่วนมากถึงเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ผู้สูงอายุในอนาคตข้างหน้าจะเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังหรือไม่ โดยตั้งเป็นคำถามให้ผู้ร่วมประชุมคิดหาคำตอบกันดังนี้ 

  1. ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีหลักประกันรายได้มั่นคงเพียงพอ หรือไม่ เมื่อคนรุ่นก่อนสูงอายุในวันนี้ยังยากจนและยังติด อยู่ในกับดักของการเป็นหนี้สิน 
  2. ครอบครัว ชุมชน และรัฐจะช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเอง ไม่ได้ที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมากได้อย่างไร 
  3. ผู้สูงอายุในอนาคตจะมีใครดูแล เมื่อครอบครัวของคนรุ่นใหม่ มีขนาดเล็กลง และมีครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง คนเดียว หรืออยู่ตามลำพังเฉพาะผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น 
  4. ระบบสวัสดิการประชานิยม และสังคมสงเคราะห์ที่ใช้อยู่ ในปัจจุบัน จะรับมือกับสถานการณ์สังคมสูงวัยระดับสุดยอดไหวหรือไม่ 

ผมปิดท้ายการพูดของผมทั้ง 2 รายการว่า ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเตรียมตัว และเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอนาคตอันใกล้นี้ 

สำหรับคนรุ่นเดียวกับผม อีก 20 ปีข้างหน้า พวกเราก็น่าจะหมดหรือเกือบหมดอนาคตแล้วนะครับ

 

ที่มา: https://www.pinterest.com/eyepyc/ สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2564


  1. อายุคาดเฉลี่ย (เมื่อแรกเกิด) (life expectancy at birth (e0)) หมายถึง จำนวน ปีที่คาดว่าคนจะมีชีวิตอยู่นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
เมื่อคนสูงวัยเข้าใกล้วัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตผู้สูงอายุไทย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th