The Prachakorn

ความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุ: สองมุมมองที่ต่างกัน


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

14 กุมภาพันธ์ 2566
1,219



ในยุคสมัยที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย งานด้านบริการดูแลระยะยาว (long term care: LTC) สำ.หรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องปกติที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพราะเรามีทั้งจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากการที่ความยืนยาวของชีวิตที่ค่อยๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อายุยืนยาวขึ้น ความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุก็ลดลงตามวัยที่สูงขึ้น นี่คือสัจธรรม

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งหนึ่งในกระบวนการของการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวนั้นจะต้องมีการคัดกรองผู้สูงอายุตามความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันใน 10 กิจกรรม ตามแบบฟอร์มที่ประยุกต์จากดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel’s ADLs index) เพื่อระบุว่ามีภาวะพึ่งพิงในระดับใด สมควรจัดให้มีการดูแลช่วยเหลืออะไรบ้าง เราจะเห็นได้ว่า ความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุตามวิธีการนี้ เกิดจากฝ่ายผู้ให้บริการประเมินสภาวะของผู้สูงอายุตามเกณฑ์ (ทางวิทยาศาสตร์) ที่กำหนดขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น หากจะเรียกความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุเช่นนี้ว่า เป็นความต้องการตามบรรทัดฐาน (normative need) ก็คงไม่ผิดอะไร

ยังมีความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุที่ไม่ได้ใช้เกณฑ์อะไรเข้าไปวัด แต่เกิดจากการที่ผู้สูงอายุรับรู้ หรือรู้สึกว่าต้องการจริงๆ ซึ่งตามอนุกรมวิธานของความต้องการทางสังคม1 เราเรียกความต้องการเช่นนี้ว่า ความต้องการตามความรู้สึก (felt need) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะธรรมชาติของทุกคนที่เมื่ออายุมากขึ้นย่อมต้องการใครสักคนดูแลเอาใจใส่ หรือบางครั้งก็มีความรู้สึกที่ไม่มั่นคงปลอดภัยเมื่อต้องทำกิจกรรมใดๆ โดยลำพัง เพราะกลัวการลื่นล้มเนื่องจากสายตาพร่ามัวหรือไม่แข็งแรงเท่ากับเมื่อครั้งวัยหนุ่มสาว ยิ่งกลัวก็ยิ่งเกิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เคยมีประวัติลื่นล้มมาก่อนมีโอกาสเกิดซ้ำๆ ได้อีก ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุกลัวจนไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง จึงต้องการใครสักคนเป็นเพื่อนคอยดูแล สร้างความมั่นใจ ความอบอุ่นใจ ทั้งๆ ที่ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง

ผู้เขียนเคยนำเสนองานศึกษาความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุจากการใช้นิยามที่แตกต่างกันในการประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2561 เรื่องที่นำเสนอคือ ‘การศึกษาความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุไทยเมื่อวัดจากความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรพื้นฐานกับคำถามโดยตรง’ ซึ่งเป็นการศึกษาจากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2550 2554 2557 และ 2560 โดยนิยามความต้องการการดูแลในสองลักษณะ คือ 1) การทำกิจวัตรพื้นฐานสามด้าน คือ กินอาหาร ใส่เสื้อผ้า (แต่งตัว) อาบน้ำ/ล้างหน้า (รวมการใช้ห้องน้ำ) หากผู้สูงอายุทำไม่ได้ด้วยตนเองเลย หรือทำได้แต่ต้องมีคน/อุปกรณ์ช่วย แม้เพียงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง หมายถึงเป็นผู้ต้องการการดูแล และ 2) จากคำถามที่ถามว่า ต้องการผู้ดูแลปรนนิบัติการทำกิจวัตรประจำวันหรือไม่ หากตอบว่า ต้องการ หมายถึงเป็นผู้ที่ต้องการการดูแล

แผนภูมิ 1: ร้อยละความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุไทย จำแนกตามวิธีการประเมิน และปีที่สำรวจ

จากแผนภูมิ 1 แสดงให้เห็นว่า ในช่วง พ.ศ. 2550–2560 ความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุไทยมีความแตกต่างกันระหว่างการประเมินตามเกณฑ์ (จากการทำกิจวัตรพื้นฐาน) กับการประเมินตามความรู้สึก (คำถามโดยตรง) ร้อยละความต้องการฯ เมื่อประเมินตามเกณฑ์นั้นอยู่ที่ราวร้อยละ 3–5 ขณะที่ร้อยละความต้องการฯ เมื่อประเมินจากคำถามโดยตรงนั้นสูงถึงร้อยละ 8–15 ความแตกต่างที่พบนี้นับว่าค่อนข้างมากทีเดียว

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อแสดงความไม่สอดคล้องของการประเมิน กล่าวคือ ไม่ว่าจะใช้การประเมินแบบใด หากผลการประเมินจากวิธีหนึ่งบอกว่าไม่ต้องการการดูแล แต่ผลการประเมินจากอีกวิธีหนึ่งบอกว่าต้องการการดูแล ผลเช่นนี้เรียกว่ามีความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งพบว่า มีความไม่สอดคล้องของการประเมินความต้องการการดูแลในปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 9 และค่อยๆ ลดลงจนเหลือร้อยละ 3 ในปี 2560 (ดูแผนภูมิ 2)

แผนภูมิ 2: ความสอดคล้องของการประเมินความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุไทย จากความสามารถในการทำกิจวัตรพื้นฐานกับประเมินจากคำถามโดยตรง จำแนกตามปีที่สำรวจ

กล่าวโดยสรุป ความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่วิธีการประเมินความต้องการนี้สามารถทำได้ด้วยวิธีการที่ต่างกัน ซึ่งผลที่ได้ย่อมต่างกันไม่มากก็น้อย หากว่าเราสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ไม่ว่าจะประเมินด้วยวิธีใดแล้วให้ผลตรงกัน คงเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด


ที่มา

  1. Bradshaw J. (1972). Taxonomy of social need In: McLachlan G, editor. Problems and progress in medical care: essays on current research, 7th series. London: Oxford University Press; pages 71–82.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th